“บันไดพญานาค” วัดพระธาตุดอยสุเทพ

บันไดพญานาค วัดพระธาตุดอยสุเทพ เป็นสัญลักษณ์สำคัญแห่งหนึ่งของวัดพระธาตุดอยสุเทพ มีความงดงามทางด้านศิลปะที่ทรงคุณค่า และมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ นักท่องเที่ยวผู้มานมัสการพระบรมธาตุ มักจะต้องถ่ายภาพเป็นที่ระลึกที่ด้านของบันไดนาค ซึ่งมีทัศนียภาพงดงามตามแบบฉบับล้านนาอีกทั้งความเขียวชอุ่มของแมกไม้ที่รายรอบยิ่งสร้างความร่มเย็นให้ผู้ศรัทธาที่มาเยือนวัดพระธาตุดอยสุเทพอย่างยิ่ง
สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ 2100(ค.ศ. 1557) โดยมีพระมหาญานมงคลโพธิ์ เป็นประธานในการก่อสร้าง โดยสร้างพญานาคทั้งสองข้างโดยสร้างเป็นพญานาคเศียรเดียวด้วยปูนหมักโดยมีขั้นบันได 173 ขั้น ต่อมาเกิดน้ำเซาะและเกิดการเสียหายมาก
จึงได้มีการบูรณะใหม่ในปีพ.ศ. 2478 และบูรณะอีกครั้งก่อนปี พ.ศ 2500 โดยมีการเปลี่ยนเป็นพญานาค 7 เศียรและมีการต่อท่อน้ำให้พญานาคพ่นน้ำได้ ต่อมาได้ปลดออก และมีการเพิ่มขั้นบันไดเป็น 185 ขั้น มีการติดเกล็ดพญานาคด้วยเซรามิคสีเหลืองสลับสีเขียวแซมสีชมพูอย่างที่เห็นในปัจจุบัน ขั้นบันไดทั้งหมดในปัจจุบันนี้มี 306 ขั้น
ตามตำนาน พญานาคมีอยู่ก่อนสมัยพระพุทธเจ้าแล้ว ดังเช่น หลังจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมพิเศษแล้ว ได้เสด็จไปตามเมืองต่างๆ เพื่อแสดงธรรมเทศนา มีครั้งหนึ่งได้เสด็จออกจากร่มไม้อธุปปาลนิโครธ ไปยังร่มไม้จิกชื่อ “มุจลินท์” ทรงนั่งเสวยวิมุตติสุข อยู่ ๗ วัน คราวเดียวกันนั้นมีฝนตกพรำๆ ประกอบไปด้วยลมหนาวตลอด ๗ วัน ได้มีพญานาคชื่อ “มุจลินท์” เข้ามาวงด้วยขด ๗ รอบพร้อมกับแผ่พังพานปกพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อจะป้องกันฝนตกและลมมิให้ถูกพระวรกาย หลังจากฝนหายแล้ว คลายขนดออก แปลงเพศเป็นมานพมายืนเฝ้าที่เบื้องพระพักตร์ ด้วยความศรัทธาอย่างแรงกล้า
ในภาคเหนือของไทยมีตำนานเกี่ยวกับพญานาคอยู่เช่นกัน ดังในตำนานสิงหนวัติซึ่งเป็นตำนานเก่าแก่ของทางภาคเหนือ “เมื่อเจ้าเมืองสิงหนวัติอพยพคนมาจากทางเหนือ พญานาคแปลงกายมาช่วยชี้ที่ตั้งเมืองใหม่ และขอให้อยู่ในทศพิธราชธรรม พอตกกลางคืนก็ขึ้นมาสร้างคูเมืองเป็นเมืองนาคพันธุ์สิงหนวัติ ต่อมายกทัพปราบเมืองอื่นได้และรวมดินแดนเข้าด้วยกันจึงเปลี่ยนชื่อเป็น แคว้นโยนกนคร ต้นวงศ์ของพญามังรายผู้ก่อกำเนิดอาณาจักรล้านนานั่นเอง” ภาพ : บุญเสริม สาตราภัย

ร่วมแสดงความคิดเห็น