ตามรอยครูบาธรรมชัยไป “เมืองนิพพาน”

เมื่อเอ่ยชื่อของหลวงปู่ครูบาธรรมชัย คนรุ่นปัจจุบันน้อยคนนักจะรู้จัก แต่ว่าเมื่อถามคนในอดีตเมื่อ 20 – 30 ปีที่แล้วไม่มีใครไม่รู้จักเกจิชื่อดังแห่งล้านนาคนนี้ เพราะว่าท่านเป็นพระนักพัฒนา ได้สร้างสรรงานต่าง ๆ ในรูปถาวรวัตถุ ทั้งด้านพุทธจักรและอาณาจักรไว้มากมาย รวมถึงในด้านการเผยแพร่ธรรมะ อันเป็นคำสั่งสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พร้อมกับอบรมสั่งสอนบรรดาประชาชนผู้เลื่อมใสในตัวท่านให้ตั้งตนเป็นคนดีอยู่ในศีลธรรม หลวงปู่ครูบาธรรมชัย เกิดที่บ้านสันป่าสัก อ.เมือง จ.ลำพูน เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2457 บิดามารดาประกอบอาชีพทำนาและรับจ้าง ในช่วงที่ท่านเกิดมีถุงรกคลุมศีรษะออกมาคล้ายสวมหมวก ผู้เฒ่าผู้แก่ที่ทราบข่าวต่างพากันมาดูมารกน้อย และร่ำลือกันไปว่า เมื่อเติบใหญ่ทารกน้อยนี้จะเป็นที่พึ่งแก่คนทั้งหลาย เพราะเป็นผู้มีบุญญาธิการมาโปรดชาวบ้านต่างพากันขนาดนามทารกน้อยนี้ว่า “เด็กชายหมวก”
เมื่อเจริญวัยขึ้นมาเด็กชายได้เข้าศึกษาในชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ที่โรงเรียนบ้านสันป่าสัก ด้วยความที่เป็นคนขยันหมั่นเพียร อ่อนน้อมถ่อมตน จนได้รับเมตตายกย่องเป็นนักเรียนตัวอย่างและเป็นหัวหน้าชั้นทุกปี จนอายุได้ 14 ปี จึงได้ตัดสินใจบรรพชาเป็นสามเณรที่วัดสันป่าสัก โดยได้นามใหม่ว่า “กองแก้ว” มีครูบาคำมูล ธมฺมวงฺโส วัดบ้านตองเป็นพระอุปัชฌาย์ หลังจากที่เดินทางเข้าสู่ร่มกาเสาวพักตร์ สามเณรกองแก้วได้ฝึกฝนสมถะ วิปัสสนากรรมฐานตามควรแก่เวลาและโอกาสอย่างสม่ำเสมอ ในขณะเดียวกันท่านยังได้เข้าศึกษานักธรรมขั้นตรีที่สำนักวัดพระยืน เมื่ออายุได้ 19 ปี สอบนักธรรมตรีได้
ต่อมาได้ศึกษานักธรรมโทที่สำนักวัดมหาวัน และปีถัดมาท่านก็สอบนักธรรมโทได้อีก จนถึงวันศุกร์ที่ 23 มีนาคม 2476 ตรงกับเดือน 6 เหนือ ขึ้น 8 ค่ำ สามเณีกองแก้วได้รับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุโดยมีครูบาคำมูล ธมฺมวงฺโส เป็นพระอุปัชฌาย์ พระชัยยะเสนา วัดบ้านหลุกเป็นพระกรรมวาจา และพระคำปัน วัดทุ่งยาวเป็นพระอนุสาวนาจารย์ พร้อมพระสงฆ์ 50 รูป ณ วัดหนองหล่ม ต.ทุ่งยาว อ.เมือง จ.ลำพูน ได้รับฉายาว่า “ธมฺมชโย ภิกขุ” พระกองแก้ว รับหน้าที่เป็นครูสอนนักธรรมแก่สามเณรและสอนหนังสือแก่เด็กนักเรียนโรงเรียนสันป่าสักได้ 6 ปี จนทราบข่าวว่า ครูบาศรีวิชัย สิริวิชโย นักบุญแห่งล้านนาท่านได้มาสร้างวิหารอยู่ที่วัดจามเทวี พระกองแก้วจึงได้เดินทางไปกราบนมัสการมอบกายเป็นศิษย์ ขออยู่ศึกษาข้อวัตรปฏิบัติสมถะวิปัสสนากรรมฐานจากครูบาศรีวิชัย พระกองแก้วได้ศึกษาข้อวัตรปฏิบัติจากท่านครูบาศรีวิชัยที่วัดจามเทวีเป็นเวลา 1 ปี จากนั้นท่านจึงได้ออกเดินทางเพื่อไปปฏิบัติธรรมตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น วัดร้าง ถ้ำคูหา ป่าช้า และสถานที่ชุกชุมไปด้วยสัตว์ร้ายนานาชนิด
กระทั่งปี พ.ศ.2491 ท่านได้เดินทางไปปฏิบัติธรรมที่ถ้ำตับเตา อ.ไชยปราการ และได้อยู่บุกเบิกพัฒนาจนเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป จากนั้นได้มีศรัทธาญาติโยมบ้านทุ่งหลวงและบ้านหนองบัว อ.แม่แตง ได้พร้อมใจกันมานิมนต์ท่านให้มาพัฒนาสร้างวัดทุ่งหลวงและนิมนต์มาปฏิบัติธรรมจำพรรษาอยู่ที่วัดทุ่งหลวง ในระหว่างที่จำพรรษาอยู่ที่วัดทุ่งหลวง หลวงปู่ครูบาธรรมชัยได้เดินลัดข้ามทุ่งนามาปฏิบัติกรรมฐานที่บริเวณวัดร้างที่บ้านหนองบัว ซึ่งแต่เดิมเป็นวัดร้างชื่อ “วัดสามเศรษฐี” นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าวัดนี้น่าจะมีอายุราว 1,300 ปี หลวงปู่ได้บูรณะวัดร้างแห่งนี้เพื่อใช้สำหรับเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมและฝึกกรรมฐาน

โดยตั้งชื่อว่า “เมืองนิพพาน” อยู่บริเวณเนินเขามีทิวทัศน์ที่สวยงามมาก บรรยากาศเงียบสงบเหมาะแก่การท่องเที่ยวพักผ่อนและฝึกบำเพ็ญภาวนา มีพระสถูปเจดีย์ 8 เหลี่ยมสูง 9 ชั้นภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุล้อมรอบด้วยคูน้ำ แต่ละมีห้องสำหรับนั่งวิปัสสนาสมาธิ 51 ห้อง บริเวณห้องโถงชั้นล่างเป็นสถานเพื่อการสักการะและแสดงพระธรรมเทศนา มีภาพเขียนพระพุทธประวัติ ภาพเขียนปางชนะมาร ภาพปริศนาธรรม พระพุทธรูปต่าง ๆ รวมถึงรูปปั้นของพระเกจิชื่อดัง นอกจากนั้นยังมีตู้แสดงเครื่องอัฏฐบริขารของหลวงปู่ครูบาธรรมชัย

เมื่อใครที่เดินทางมาเยือนเมืองนิพพานจะพบว่า ภายในบริเวณกว่า 40 ไร่นั้น ร่มรื่นไปด้วยหมู่พรรณไม้ยืนต้น ทั้งไม้ดอกไม้ประดับ ทั้งยังมีไม้หายากและสมุนไพร สมดั่งเจตนารมย์ของหลวงปู่ที่ต้องการให้สถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมเพื่อจรรโลงให้ไว้เป็นศาสนา สมบัติทางพระพุทธศาสนาต่อไป ทว่าน่าเสียดายที่การก่อสร้างพระสถูปเจดีย์ยังไม่แล้วเสร็จ หลวงปู่ครูบาธรรมชัยท่านก็ได้ละสังขารด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2530 รวมอายุ 83 ปี 62 พรรษา ท่ามกลางความโศกเศร้าของสายานุศิษย์
ปัจจุบันคณะศิษย์ได้นำร่างของหลวงปู่ครูบาธรรมชัยมาตั้งบำเพ็ญกุศลที่วัดทุ่งหลวง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ศิษยานุศิษย์ของหลวงปู่ครูบาธรรมชัย สามารถเดินทางไปกราบร่างของหลวงปู่ได้ หรือจะเดินทางไปฝึกปฏิบัติกรรมฐานที่วัดเมืองนิพพาน ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากวัดทุ่งหลวงเพียงแค่เดินข้ามคันนาก็จะพบกับความร่มรื่นเมืองแห่งนิพพาน
บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น