“ป่าซาง” ไม่จางมนต์เสน่ห์

“ครวญคิดถึงถิ่นป่าซาง สวยเกินคำคนเขาอ้าง ป่าซางแดนนี้มีมนต์” ขอเกริ่นนำด้วยเนื้อเพลงมนต์รักป่าซาง จะเป็นเสียงร้องของครูเพลงในยุคสมัยใด ยังคงไพเราะ รวมถึงหลายๆบทเพลงทั้งป่าซางกลางใจ เดือนหงายที่ป่าซาง เป็นอีกมุมที่สะท้อนความมีเสน่ห์ของป่าซางอำเภอหนึ่งใน จ.ลำพูน ทางภาคเหนือ
เมื่อ 40-50 ปี การเดินทางสู่ภาคเหนือ มาเชียงใหม่ ต้องแวะจอดที่ป่าซาง ทำให้เกิดย่านการค้า ในเส้นทางสาย ป่าซาง ลำพูน เชียงใหม่ มีความคึกคัก ก่อนจะมลายหายไปสิ้นกับการเกิดขึ้นของ ถ.ซุปเปอร์ไฮเวย์ สายลำปาง-เชียงใหม่ ในขณะที่เส้นทางเดิมๆเป็นเพียงทางเลี่ยงรถติด เป็นเส้นทางท่องเที่ยว
ป่าซางเป็นชุมทาง แม่น้ำ 3 สาย ทั้ง แม่ปิง แม่ทา และแม่กวง ทำให้ผืนแผ่นดินอุดมสมบูรณ์ ราวๆ ปี พ.ศ.2317 พระเจ้ากรุงธนบุรี ยกทัพมาตีเมืองเชียงใหม่ และลำพูนคืนจากพม่า ครั้งนั้นพญาจ่าบ้านและพญากาวิละ มาตั้งรับทัพหลวงที่นี่เมื่อพม่าพ่ายศึก ถอยร่นทัพกลับไป เจ้าผู้ครองนครขณะนั้นโปรดให้อุปราชไปอพยพชาวบ้านจากสิบสองปันนา เมืองยอง หลายๆหัวเมือง ทำให้ป่าซางมากด้วยผู้คนต่างบ้าน ต่างเมือง โดยเฉพาะชาวยอง มาลงหลักปักฐานสืบสายสาแหรกจนถึงปัจจุบัน เป็นถิ่นฐานที่สาวงามสมคำร่ำลือ”โฉมเจ้าสะคราญ โอษฐ์ พริ้มดังหนึ่งคันศร สวยงาม สะอางพลิ้วอ่อน ดั่งนาง อัปสรลาวัลย์ “

ที่น่าทึ่งกว่านั้นคือสาวงามป่าซาง ไม่เคยมีปัญหา เกี่ยวพันในวิถีทาง ตกเขียว เช่นถิ่นอื่นๆในภาคเหนือ อาจจะด้วยรากฐานชีวิตของผู้คนในป่าซาง คือความมีศาสตร์ศิลป์ ที่สะท้อนผ่านงานผ้าทอ งามแกะสลัก ความเป็นพ่อบ้าน แม่เรือนสูง ขยันทำมาหากิน จะเห็นได้จากพัฒนาการคนหนุ่ม คนสาว ป่าซาง ส่วนใหญ่ จะสืบทอดหัตถกรรมครัวเรือน ค้าขายงานผ้า มากกว่า ไปหางาน ประกอบอาชีพในต่างถิ่น บางส่วนก็อยู่ในไร่ ในสวน ปลูกพืชผัก ลำไย พอมีรายได้หล่อเลี้ยงชีวิตอย่างปกติสุข
แม้จะมีความเป็นเมืองเก่าแก่ มีขุนเขา ที่ราบลุ่ม สายน้ำ กลายเป็นชุมชนที่มีความลงตัวเป็นเลิศ ด้านน้ำท่าบริบูรณ์ เหมาะกับการอยู่อาศัย ไม่ขาดแคลนทรัพยากร ต้นทุนชีวิต ทำให้มิติด้านการท่องเที่ยวของชุมชน ที่โดดเด่นด้วยศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี เป็นเพียงส่วนหนึ่งของสังคม

เนื่องจากผู้คนส่วนใหญ่จะอยู่ดี มีสุข ทำกินในภาคการเกษตร ยามว่างก็ถักทอผ้า เป็นผลิตภัณฑ์ของดีชุมชนป่าซาง มีหมู่บ้านหัตถกรรมผ้าทอที่เลื่องลือทั้งบ้านดอนหลวง ,หนองเงือก , ป่าบุก , ดอนน้อย อาจกล่าวได้ว่า ใน 9 ตำบล ได้แก่ ปากบ่อง,ม่วงน้อย ,ป่าซาง, แม่แรง , บ้านเรือน, นครเจดีย์ ,ท่าตุ้ม, น้ำดิบ และมะกอก กว่า 90 หมู่บ้าน ดำรงอยู่ด้วยการยึดโยงรากฐานวิถีชุมชน เช่น ครอบครัวทอผ้าในอดีต ก็ขยายสู่หัตถกรรมผ้า หลากรูปแบบตามความต้อง การของยุคสมัย ขายปลีก ขายส่ง พอมีฐานะความเป็นอยู่ที่สุขสบายพอควร
ความเจริญที่มาพร้อมกับพัฒนาถนนสาย 116 ส่งผลให้เกิดการพัฒนาพื้นที่ มีโรงงานรับซื้อลำไย,อาคารพาณิชย์ ,สถานีบริการน้ำมัน , ร้านสดวกซื้อ ,ตลาดสินค้าพื้นเมือง กิจการต่างๆ ตลอดรายทาง อาจไม่ใช่เพียงเพื่อตอบสนอง กลุ่มคนเดินทาง ที่แวะเวียนมาเที่ยว เทศกาล งานบุญประเพณีประจำท้องถิ่น อาทิ งานแต่งสีอวดลาย ฝ้ายดอนหลวง,งานฝ้ายงามบ้านหนองเงือก ,งานประเพณีสรงน้ำพระพุทธบาทตากผ้า เป็นต้น
ด้วยสถานที่ท่องเที่ยว ในเวียงป่าซาง เวียงเวฬุวัน เวียงต่างๆในป่าซาง เมืองโบราณ วัดวาอาราม อุทยานธรรมะ หอศิลป์ แหล่งศิลาแลง กลุ่มโบราณสถานวัดเกาะกลาง ซึ่งมีตำนานเล่าว่า เป็นสถานที่ประสูติของพระนางจามเทวี ปฐมกษัตรีย์ศรีหริภุญไชยนคร องค์ประกอบเหล่านี้ ต้องเป็นทัวร์เฉพาะกลุ่มที่เจาะจง ตรงมาชุมชนบุญหลวงแห่งล้านนา ป่าซางกันเลย กับคำขวัญที่ว่า” พระพุทธบาทงามละออ ผ้าทอหัตถกรรม งามล้ำประเพณี คุณภาพดีหอมกระเทียม ยอดเยี่ยมลำไย ถิ่นใหญ่ไทยอง แผ่นดินทองหริภุญไชย “คงเป็นคำจำกัดความที่ไม่ต้องโอ้อวดสรรพคุณ ในมนต์เสน่ห์เมืองนี้ ที่ไม่มีวันจืดจางจริงๆ

ร่วมแสดงความคิดเห็น