“น้ำปู๋” ของลำเมืองเหนือ วิธีทำน้ำปู ในเเบบของคนเมือง

เมื่อครั้งวัยเยาว์ ผู้เขียนได้ติดตามแม่ พอเข้าสู่ฤดูฝนชาวนาก็จะเร่งทำนาปีกัน ประมาณช่วง เดือน กรกฏคม – สิงหาคม พอต้นข้าวสูงขึ้นมาประมาณหัวเข่า ชาวบ้านก็จะออกไปหาปูนา ตามริมคันนาไม่ลงไปในนาข้าว เพราะจะเหยียบย่ำข้าวล้มตายได้ ปูนาจะชอบออกมาซ่อนตัวริมคันนาเพราะน้ำในนาข้าวเมื่อเจอแสงแดดน้ำจะอุ่นไม่สามารถอยู่ได้ จึงรอตอนเย็นปูนาถึงลงน้ำในนาได้ ซึ่งชาวบ้านก็จะอาศัยตอนสายๆ แดดแรงๆ เดินไปตามคันนาเพื่อหาปูนาจับใส่ถังน้ำ วันหนึ่งก็จับได้ประมาณ 1 ถัง (ปีบ) พอตกเย็นก็จะกลับเข้าบ้าน และนำปูไปล้างเอาขึ้โคลนออกให้หมด จากนั้นก็จะสับตระไคร้ลงไปผสม ตามด้วยพริกแห้ง และเกลือ ปริมาณแล้วแต่น้ำหนักมือและประสบการณ์ ต่อมาก็นำไปโม่ด้วยเครื่อง (สมัยโบราณจะใช้มองตำ หรือครกที่ใช้เท้าเหยียบ)
หลังจากนำปูพร้อมส่วนผสมไปโม่จนละเอียดดีแล้วก็นำมาคั้นโดยใช้ผ้าขาวบางบืบคันจนแห้งเหลือแต่กากปู (กากปูจะนำไปให้ปลากิน) จะได้ปริมาณน้ำปูประมาณครึ่งปีบ และปิดไว้ให้สนิทรอเวลาตีสี่ ก็จะแบกปีบน้ำปูไปยังสถานที่ห่างไกลจากบ้านเรือนประชาชนเพราะกลิ่นน้ำปูเวลาเคี่ยวด้วยไฟอ่อนจะมีกลิ่นแรงไปไกลนับกิโลเมตร เวลาเคี่ยวจะใช้ไฟอ่อนถึงปานกลาง ใช้เวลาเคี่ยวประมาณ 10 ชั่วโมง น้ำปูที่มีสีขุ่นในครั้งแรกพอเคียวจนแห้งจะได้น้ำปูออกมาสีดำ ได้ประมาณ 2-3 กิโลกรัม ปัจจุบันอยู่ กิโลกรัมละ 600 บาท ซึ่งน้ำปูที่มีคุณภาพและรสชาดอร่อยที่สุดอยูที่ จ.แพร่ จะไม่ผสมแป้ง หรือวัสดุอื่นเจือปนให้ได้ปริมาณมาก

ร่วมแสดงความคิดเห็น