กรมชลฯ ติดตามสถานการณ์น้ำทั่วประเทศ พร้อมเฝ้าระวังลุ่มน้ำเมืองเพชร อย่างใกล้ชิด

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ครั้งที่ 21/2561 ซึ่งมีผู้แทนจากกรมอุตุนิยมวิทยา กรมป้องกันและบรร เทาสาธารณภัย กรมทรัพยากรน้ำ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เข้าร่วมประชุมฯ พร้อมทั้งถ่ายทอดสดผ่านระบบVDO Conference ไปยังสำนักงานชลประทานทั่วประเทศ เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำจากพื้นที่ต่างๆ พร้อมวางแนวทางในการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนนี้

​สำหรับสภาพฝน จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา ในช่วงวันที่ 6-9 ส.ค. 61 ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณภาคเหนือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางภาคตะวันออก และภาคใต้ ขอให้ประชา ชนบริเวณดังกล่าว ระวังผลกระทบจากฝนตกหนักและฝนตกสะสม ที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากน้ำล้นตลิ่งและดินโคลนถล่มไว้ด้วย

​สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ และขนาดกลางทั่วประเทศ ปัจจุบัน(6ส.ค. 61)มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกัน 52,614 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 69 ของความจุเก็บกักรวมกัน โดยมีปริมาณน้ำใช้การได้ 28, 692 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 55 ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันสามารถรองรับน้ำได้อีก 23,406 ล้าน ลบ.ม.เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 14,547ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 58 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 7,851 ล้าน ลบ.ม. สามารถรองรับน้ำได้อีก 10,324 ล้าน ลบ.ม.​จากการติดตามสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ ที่มีปริมาณน้ำเกิน ร้อยละ 80 ที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเขื่อนแก่งกระจาน ในช่วงเวลาประมาณ 10.00น. ของวันนี้(6 ส.ค. 61) ปริมาณน้ำในเขื่อนแก่งกระจานเริ่มล้นอาคารระบายน้ำล้นแล้วประมาณ 6 ซม. ไหลลงลำน้ำเดิมประมาณ 10 ล้าน ลบ.ม. แนวโน้มเพิ่มขึ้นคาดว่า ปริมาณน้ำในเขื่อนแก่งกระจานจะไหลล้นอาคารระบายน้ำล้น (Spill Way)สูงสุดในวันที่ 10 ส.ค. 61 ระดับน้ำสูงประมาณ 0.50 – 0.60 เมตร ซึ่งปริมาณน้ำที่ระบายออกจากเขื่อนฯทั้งหมด จะส่งผลให้มีปริมาณน้ำผ่านท้ายเขื่อนแก่งกระจานสูงสุด 210 ลบ.ม./วินาที และจะไหลต่อมายังหน้าเขื่อนเพชร ส่งผลให้มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ 230 – 250 ลบ.ม./วินาที

​กรมชลประทานได้บริหารจัดการน้ำเขื่อนเพชร โดยหน่วงน้ำหน้าเขื่อนฯและตัดยอดปริมาณน้ำเข้าระบบชลประทานคลองส่งน้ำสายใหญ่ 4 สาย ทั้งฝั่งซ้าย – ฝั่งขวา รวม 55 ลบ.ม./วินาที และผันเข้าคลองระบาย D9 อัตรา 35 ลบ.ม./วินาทีให้ได้เต็มศักยภาพรวมประมาณ 90 ลบ.ม./วินาที พร้อมระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเพชร ในอัตรา 140-160 ลบ.ม./วินาที ปริมาณน้ำนี้จะไหลผ่าน อ.ท่ายาง อ.บ้านลาด และเมื่อไหลผ่านเขต ทม.เพชรบุรี อาจทำให้มีน้ำเอ่อท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำและพื้นที่ชุมชนบางแห่ง ประมาณ 20-30 ซม. ปัจจุบัน(6 ส.ค. 61)ปริมาณน้ำและระดับน้ำในแม่น้ำเพชรบุรี ตั้งแต่ท้ายเขื่อนแก่งกระจานจนถึงเขื่อนเพชร บริเวณ ต.สองพี่น้อง อ.แก่งกระจาน และ ต.กลัดหลวง อ.ท่ายาง ยังคงต่ำกว่าตลิ่ง แต่อาจมีปริมาณน้ำเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำ และสิ่งก่อสร้างที่อยู่ต่ำกว่าตลิ่งในบางแห่ง

ส่วนปริมาณน้ำและระดับน้ำในแม่น้ำเพชรบุรี ตั้งแต่ท้ายเขื่อนเพชรจนถึงปลายแม่น้ำเพชรบุรี บริเวณ ต.ยางหย่อง อ.ท่ายาง , ต.บ้านลาด อ.บ้านลาด และต.คลองกระแชง อ.เมืองเพชรบุรี ยังคงต่ำกว่าตลิ่ง ​​ส่วนการเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเพชรบุรี ที่อาจจะมีระดับน้ำสูงขึ้น

กรมชลประทาน ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำบริเวณ อ.เมือง และ อ.บ้านแหลม รวมทั้งสิ้น 30 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำในแม่น้ำเพชรบุรี จำนวน 44 เครื่อง ปัจจุบันติดตั้งเสร็จเรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ ยังได้เตรียมพร้อมยานพาหนะและเครื่องจักรกล เช่น รถขุดตัก จำนวน 7 คัน ประจำในพื้นที่เพื่อขุดเปิดทางน้ำพร้อมติดตั้งกาลักน้ำ 12 ชุด และเครื่องสูบน้ำ Hydro Flow3 เครื่องโดยจะทยอยติดตั้งจนครบ 20 เครื่อง เพื่อเร่งระบายน้ำในจุดที่มีการระบายน้ำได้ช้า ให้ลงสู่ทะเลให้เร็วที่สุดต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น