เจดีย์โบราณ 1,000 ปี ที่เมืองลำพูน

เป็นที่ทราบกันแล้วว่านครหริภุญไชยหรือเมืองลำพูนสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.1206 ตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำปิงและแม่น้ำกวง หลังจากที่สร้างเมืองเสร็จพระสุเทวฤาษีและพระสุกกทันตฤาษีจึงได้อัญเชิญพระนางจามเทวี พระธิดาแห่งกรุงละโว้ให้เสด็จขึ้นมาครองเมือง ดังนั้น ศิลปกรรมที่ยังปรากฏอยู่ตามวัดต่าง ๆ ในลำพูนจึงเป็นศิลปกรรมสมัยหริภุญชัยแทบทั้งสิ้น
เมื่อเดินทางมาเยือนเมืองลำพูนก็ต้องแวะชมความรุ่งเรืองของศิลปกรรมแบบหริภุญไชย สถานที่ที่นักท่องเที่ยวนิยมเดินทางมาชมมากที่สุดก็คือ วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร วัดนี้ถือเป็นวัดหลวงสำคัญของชาวลำพูน สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.1651 ในสมัยของพระเจ้า อาทิตยราช ปูชนียสถานสำคัญคู่เมืองคือ องค์พระบรมธาตุหริภุญชัย ซึ่งเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ องค์เดิมนั้นสูงเพียง 3 วามีโกษทองที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุสูง 3 ศอก ต่อมาเมื่อหริภุญไชยได้ตกเป็นเมืองขึ้นของเชียงใหม่ พระมหาเถระในลำพูนและขุนฟ้าได้ก่อพระเจดีย์รูปทรงกลมครอบองค์เดิม มีขนาดสูง 10 วา จากนั้นได้มีการบูรณะองค์พระธาตุอีก 2 ครั้งในสมัยพระเจ้าเมืองแก้วและในสมัยของพระเจ้ากาวิละโดยได้ยกฉัตรขึ้นทั้ง 4 มุม

ภายในวัดพระธาตุหริภุญชัย ยังมีเจดีย์โบราณซึ่งตั้งอยู่ในเขตพุทธาวาส ได้แก่ สุวรรณเจดีย์ เป็นเจดีย์ที่มีลักษณะการก่อสร้างแบบเดียวกับเจดีย์กู่กุดวัดจามเทวี องค์เจดีย์สร้างด้วยศิลาแลงผสมอิฐเป็นทรงสี่เหลี่ยมซ้อนกัน 5 ชั้น แต่ละชั้นประดับซุ้มจระนำด้านละ 3 ซุ้ม ภายในแต่ละซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปดินเผาประดับปูนปั้นมีร่องรอยของการลงรักปิดทองเจดีย์เชียงยัน อยู่ทางทิศเหนือขององค์พระธาตุหริภุญชัย ตามตำนานกล่าวว่าสร้างในสมัยพระเจ้าอาทิตยราช โดยศรัทธาของพ่อครัวแม่ครัว ลักษระทางสถาปัตยกรรมฐานล่างเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสซ้อนกันขึ้นไป 4 ชั้น ตัวเรือนมีซุ้มจระนำ 4 ด้านเหนือเรือนธาตุขึ้นไปเป็นฐานแปดเหลี่ยม องค์สถูปเป็นทรงระฆังแบบลังกา

สถาปัตยกรรมแบบหริภุญไชยที่พบในเมืองลำพูน นอกจากจะเป็นหลักฐานให้ทราบถึงความเก่าแก่ของเมืองแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงระบบบางอย่างในทางวัฒนธรรมของบ้านเมืองสมัยนั้น ๆ โดยเฉพาะในเรื่องศาสนาและระบบความเชื่อในทางเทคนิควิทยาและการเกี่ยวข้องในทางวัฒนธรรม สถาปัตยกรรมส่วนใหญ่สร้างขึ้นตามความเชื่อในคติพุทธศาสนา ซึ่งปัจจุบันยังหลงเหลือปรากฏให้เห็นอยู่ ได้แก่ เจดีย์กู่กุดวัดจามเทวี เป็นเจดีย์ทรงปราสาทมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสซ้อนลดหลั่นกันทั้งชั้น แต่ละชั้นมีซุ้มจระนำด้านละ 3 ซุ้มภายในประดิษฐานพระพุทธรูปยืน ทุกมุมจะประดับด้วยเจดีย์ขนาดเล็ก รูปแบบของเจดีย์กู่กุดน่าจะสร้างในสมัยรัชกาลของพระเจ้าสรรพสิทธิ์ (สววาธิสิทธิ) ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 17 – 18 เนื่องจากพบศิลาจารึก ลพ.2 ซึ่งศาสตราจารย์เซเดส์และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ พบฝังอยู่ในดินตรงเชิงพระธาตุเจดีย์กู่กุด หลักฐานนี้กล่าวถึงการปฏิสังขรณ์เจดีย์ซึ่งได้หักพังเนื่องจากเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ใกล้ ๆ กับเจดียกู่กุดจะมีเจดีย์ทรงปราสาทขนาดเล็กรูปแปดเหลี่ยม หรือรัตนเจดีย์ ซึ่งเป็นเจดีย์ก่อด้วยอิฐ เรือนธาตุแต่ละด้านมีซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปยืน รูปแบบของซุ้มจระนำกรอบซุ้มประกอบจากส่วนโค้ง 3 วง มีร่องรอยของแถวใบระกาซึ่งแต่ละใบเป็นรูปสามเหลี่ยมทรงสูง ในที่นี่อาจะเกี่ยวข้องกับรูปทรงฝักเพกาประดับซุ้มกรอบในศิลปะพุกาม ซึ่งมีชื่อเรียกซุ้มในลักษณะนี้ว่า “ซุ้มเคล็ก”

เจดีย์กู่ช้าง เป็นเจดีย์ก่ออิฐรูปทรงกระบอก จากการศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบของเจดีย์พบว่า น่าจะได้รับอิทธิพลมาจากเจดีย์บอ บอ คยีเมืองศรีเกษตรทางตอนใต้ของพม่า ซึ่งรูปทรงโดยสมบูรณ์ของเจดีย์กู่ช้างก็น่าจะมียอดทรงกรวยคว่ำแบบเดียวกับเจดีย์บอ บอ คยี
นอกจากนี้ยังปรากฏพระธาตุและเจดีย์ที่ได้มีการบูรณะในสมัยหลังหลังอีก เช่นเจดีย์วัดพระยืน สร้างบนยกพื้นเป้นชั้นลดหลั่น ลานทักษิกชั้นบนมีเจดีย์ขนาดเล็กประจำมุม แบบอย่างเช่นนี้มีอยู่ก่อนในศิลปะพุกาม เรือนธาตุเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยม จระนำยื่นออกทั้ง 4 ด้าน เหนือเรือนธาตุเป็นหลังคาลาดรองรับชุดฐานซ้อนต่อยอดทรงระฆัง บัลลังก์ ปลีและปล้องไฉน ตามศิลาจารึกวัดพระยืนกล่าวว่า พระสุมนเถรสร้างเสริมพระอัฏฐารส เมื่อ จ.ศ.732 (พ.ศ.1913) สำหรับเจดีย์วัดพระยืนองค์ปัจจุบัน เจ้าหลวงอินทยงยศ เจ้าผู้ครองนครลำพูน ได้ให้หนานปัญญาเมือง ชาวบ้านหนองเส้งซึ่งเป็นช่างประจำคุ้มหลวง เป็นผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสรางเจดีย์ขึ้นใหม่แทนองค์เดิม

เจดีย์วัดเกาะกลาง อำเภอป่าซาง เป็นเจดีย์ทรงปราสาทก่อด้วยอิฐทรงยังไม่สูงโปร่งส่วนฐานชำรุดมีขนาดเตี้ย ฝังอยู่ในรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสยกเก็จออกจากด้านทั้ง 4 เพื่อเป็นบานของจตุรมุข ส่วนกลางคือเรือนธาตุเป็นแท่งทึบทรงสี่เหลี่ยม ประดับเสาอิงทั้ง 4 และมีการประดับกาบบนและกาบล่างด้วยลายโปร่งซึ่งประกอบจากดอก ใบ ก้านเรียกว่า ลายเครือล้านนา เจดีย์องค์นี้สันนิษฐานว่าคงสร้างขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 21

พระธาตุหริภุญชัย เป็นเจดีย์ที่มีลักษณะฐานบัวลูกแก้วสองชั้นย่อเก็จ ต่อจากฐานบัวลูกแก้วเป็นฐานเขียงกลมสามชั้นรับฐานบัวลูกแก้วสามชั้น ตั้งรับองค์ระฆังกลม บัลลังก์ย่อเหลี่ยมเป็นเจดีย์ที่สืบทอดรูปแบบประเพณีมาในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 20 ต่อต้นพุทธศตวรรษที่ 21 ในสมัยของพระเจ้าติโลกราช จากการศึกษารูปแบบของเจดีย์พระธาตุหริภุญชัยทำให้เชื่อว่าพระองค์ทรงโปรดให้ก่อเจดีย์องค์ปัจจุบันครอบเจดีย์องค์เดิม ซึ่งสร้างในสมัยพระเจ้าอาทิตยราชในปลายพุทธศตวรรษที่ 17 องค์เดิมนั้นเป็นเจดีย์ทรงปราสาทสร้างเพื่อประดิษฐานพระบรมธาตุและได้มีการบูรณะสืบต่อกันเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

สถาปัตยกรรมของล้านนาที่พบเหลืออยู่ในลำพูนทุกวันนี้ส่วนใหญ่ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์มาแล้ว จากการสำรวจและบูรณะโบราณสถานต่าง ๆ นี้เอง ทำให้พบหลักฐานและตำนานของการก่อสร้างเจดีย์องค์ต่าง ๆ ของเมืองหริภุญไชยอันเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่จะสืบค้นถึงต้นกำเนิดได้โดยง่าย.

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น