แจงเงื่อนไขช่วยเกษตรกร รับเงินประสบภัยน้ำท่วม

กองงาน ปชส.กรมส่งเสริมการเกษตร รายงานว่า สถานการณ์พื้นที่การเกษตรประสบอุทกภัยล่าสุดมี 23 จังหวัด ที่ประกาศเป็นเขตให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ กรณีฉุกเฉิน แล้ว 10 จังหวัด เช่น น่าน ตาก แพร่ อุตรดิตถ์ ส่วนพื้นที่เกษตรประสบอุทกภัย แต่ยังไม่ประกาศเป็นเขตภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินมี 13 จังหวัดเช่น เชียงราย แม่ฮ่องสอน พะเยา ลำปาง ลำพูน เป็นต้น
โดยมีเกษตรกรได้รับผลกระทบ 101,032 ราย พื้นที่การเกษตรประสบภัย 654,325.25 ไร่ จำแนกเป็นข้าว 581,540.75 ไร่ พืชไร่ 64,517.25 ไร่ พืชสวนและอื่นๆ 8,267.25ไร่ โดยภาคเหนือ 11 จังหวัด ผล กระทบกว่า 5 หมื่นไร่ ข้าวได้รับความเสียหายกว่า 581,540.75 ไร่ พืชไร่เสียหายกว่า 64517.25 ไร่ พืชสวนและอื่น ๆ เสียหายกว่า 8,267.25 ไร่ ขณะนี้กำลังสำรวจความเสียหายอย่างต่อเนื่อง

ด้านว่าที่ ร.ต.สมสวย ปัญญาสิทธิ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่ามาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัตินั้น นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กำชับให้ยึดหลักปฏิบัติตามระเบียบ กระ ทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2556 โดยมีหลักเกณฑ์ช่วยเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกรมฯไว้ก่อนเกิดภัย ตามจำนวนพื้นที่จริง ที่ได้รับความเสียหาย รายละไม่เกิน 30 ไร่
ข้าว อัตราไร่ละ 1,113 บาท พืชไร่ อัตราไร่ละ 1,148 บาท พืชสวนและอื่น ๆ อัตรา ไร่ละ 1,690 บาท ซึ่งเมื่อเกิดภัยพิบัติ และ ผวจ.ประกาศเขตพื้นที่การให้ความช่วยเหลือฯ เกษตรกรต้องยื่นแบบความจำนง ขอรับการช่วยเหลือ (กษ 01) โดยให้ผู้นำท้องถิ่นรับรอง ก่อนจะมีการตรวจสอบทะเบียนเกษตรกร และพื้นที่เสียหายจริง เพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลือตามขั้นตอนต่อไป

ในขณะที่ นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า จากการที่ นายลักษณ์ วจนานวัช รมช. เกษตรฯ ลงพื้นที่ตรวจราชการ ได้มอบหมายให้ นายสำราญ สาราบรรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมคณะ ลงพื้นที่ติดตามการบริหารจัดการลำไยภาคเหนือใน จ.ลำพูน และเชียงใหม่ โดยทุกอย่างดำเนินการตามมาตรการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่มีปัญหาด้านราคา

ร่วมแสดงความคิดเห็น