ปลดล็อคโรงแรม-ที่พักเถื่อน เอื้อท่องเที่ยวล้อมคอกทุจริต

ผลจากการประชุมของ กระทรวงมหาดไทย(มท.) ร่วมกับอธิบดีหน่วยงานในสังกัด และผวจ.ทั่วประเทศ ล่าสุด มีวาระแก้ปัญหาโรงแรม หลังจากผู้ประกอบการ แห่ขายเกือบทุกเมืองท่องเที่ยว โดยเฉพาะที่ไม่ได้จดทะเบียนถูกต้องตาม พ.ร.บ.โรงแรม พ.ศ.2547 กลุ่มขนาดเล็กตาม พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ที่ไม่สามารถจะจดทะเบียนเป็นโรงแรมได้เพราะมีการออกกฎกระทรวง กำหนดลักษณะอาคารประเภทอื่น ที่ใช้ประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ. 2559 มีผลบังคับใช้ 5 ปี (ตั้งแต่ 19 สค.2559) กำหนดให้การดัดแปลงอาคาร เพื่อขอรับใบอนุญาตเปลี่ยนการใช้อาคารต้องดำเนินการภายใน 2 ปี(สิ้นสุด18 ส.ค.นี้) แต่ยังมีอาคารอีกมากที่ไม่สามารถยื่นขออนุญาตดัด แปลงได้ เนื่องจากติดขัดข้อกำหนดกฎหมายว่าด้วยการผังเมือง
น่าสนใจว่า นายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง (ยธ.)ได้นำเสนอการแก้ปัญหาอาจต้องมีคำสั่ง ตามมาตรา 44 ยกเว้นการบังคับกฎกระทรวงผังเมืองรวม และยกเว้นโทษตามกฎหมายว่าด้วยการผังเมือง และกฎหมายว่าด้วยโรงแรม ขยายระยะเวลาถึง 19 ส.ค.2564 ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดการบัง คับใช้กฎกระทรวงประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ.2559 อย่างไรก็ตาม มท.ขอให้ ผวจ.ทุกจังหวัด เร่งสำรวจโรงแรมในพื้นที่ ซึ่งยังไม่ดำเนินการจดทะเบียนให้ถูกต้องตาม พ.ร.บ.โรงแรม พ.ศ. 2547 โดยขอให้บูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงาน ทั้งของปกครอง-ท้องถิ่น -โยธา เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่
ด้าน ร.ต.ท.อาทิตย์ บุญญะโสภัต อธิบดีกรมการปกครอง (ปค.)กล่าวเพิ่มเติมว่าปัญหาโรงแรมที่ไม่ได้รับอนุญาตนั้น ยธ.,ปค.และ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (กสถ.) ได้หารือกับรองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) เพื่อแก้ไขกฎกระทรวง รวมทั้งยกเว้นการบังคับใช้กฎฯผังเมืองรวม ตลอดจนยกเว้นโทษตามกฎหมายว่าด้วยการผังเมืองและกฎหมายว่าด้วยโรงแรม
ทั้งนี้ต้องรอให้การสำรวจจำนวนโรงแรมที่ยังไม่รับอนุญาต ได้ตัวเลขที่ชัดเจน จะได้แก้ไขปัญหาครอบ คลุมทุกกลุ่มทุกพื้นที่ซึ่งเดือดร้อน ได้รับผลกระทบจากกฎกติกาใหม่ อาทิ การปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ. การอำนวยความสะดวกฯพ.ศ. 2558 ที่ใช้ดุลยพินิจเกี่ยวข้องกับ โรงแรมและสถานบริการ เป็นต้น จนต้องปิดกิจการ ประกาศขาย
ยอมรับว่า มีกรณีที่กลุ่มผู้ประกอบการ ทั้งโรงแรม เกสต์เฮ้าส์ ร้องเรียน กล่าวโทษ ขอให้กรมฯพิจารณาแก้ไข ผ่อนผัน ในเรื่องที่ขัดต่อกฎใหม่ ซึ่งได้เน้นย้ำเจ้าหน้าที่ว่าต้องโปร่งใส ไม่ใช้อำนาจหน้าที่ไปแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ แต่ในกรณีทำธุรกิจโรงแรม ที่พัก เกสต์เฮ้าท์ โฮสเทล บูติคโฮเต็ล ที่มีเงื่อนงำ ต้องพิสูจน์ทราบว่าเข้าข่ายนอมินีหรือไม่ ก็ต้องตรวจสอบต่อไป
นอกจากนี้ มท.ได้กำชับให้กำกับดูแลการทำงานของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และหน่วยงานทุกกรมที่มาบูรณาการร่วมกัน แก้ปัญหานี้ต้องมีระบบตรวจสอบ อีกเรื่องสำคัญคือกระบวนการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดิน เนื่องจากมีการนำที่ดินหวงห้าม ไปพัฒนาก่อสร้าง เป็นโรงแรม รีสอร์ท ที่พักต่างๆ โดยอ้างความถูกต้องในการเดินสำรวจ รังวัดออกโฉนด เอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ ทำให้เกิดการโต้แย้งกันระหว่างหน่วยงาน
ที่ผ่านมามีการออกโฉนดที่ดินโดยคลาดเคลื่อน หรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งอาจจะเกิดจากการทุจริต และรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เช่น ออกโฉนดที่ดินทับกับที่ดินของบุคคลอื่น ที่ปาไม้ ปาสงวนหรืออุทยานหรือทับสถานที่ราชการหรือ ที่สาธารณประโยชน์ เป็นต้น ก็ต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวน เพิกถอนโฉนดที่ดิน ลงโทษ ทั้งทางวินัยและอาญา เพิกถอนโฉนดที่ดิน ขอให้ ผวจ. ให้ความสำคัญเรื่องนี้ และแจ้งให้คณะกรรมการหมู่บ้านหรือชุมชนเทศบาลทราบด้วย
ข้อมูลสำรวจจำนวนโรงแรมที่พักทุกประเภท ของหน่วยงานด้านสถิติฯ พบว่าโรงแรมและเกสต์เฮ้าท์ในภาคเหนือมี 1,875 แห่ง 61,483 ห้องพัก โดยเชียงใหม่ มี 571 แห่ง 24,669 ห้องพัก ส่วนที่อยู่นอกระบบยังมีอีกมาก และไม่ยอมร่วมมือตอบแบบสอบถาม

ร่วมแสดงความคิดเห็น