ขบวนแห่ศพครูบาเจ้าศรีวิชัย

หากเอ่ยชื่อของครูบาเจ้าศรีวิชัย เชื่อว่าไม่มีใครไม่รู้จักท่าน เนื่องด้วยท่านเป็นพระที่สร้างคุณูปการณ์มากมายไว้ในใต้ร่มเงาพระพุทธศาสนาและแผ่นดินล้านนา ครูบาศรีวิชัยถือได้ว่าเป็นแบบอย่างของพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบที่เกจิรุ่นหลังเดินตามรอยพระศาสนา ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ.2420 ณ วันอังคารขึ้น 11 ค่ำปีขาล ตรงกับวันที่ 11 มิถุนายน 2420 เวลาพลบค่ำพระอาทิตย์คล้อยลงต่ำ ทันใดนั้นท้องฟ้าที่ใสสว่างกลับวิปริตมืดคลื้ม พายุพัดกระหน่ำพาเอาสายฝนเทลงมา เสียงฟ้าร้องคำราม อสุนีฟาดเปรี้ยงลงมาจนเกิดแผ่นดินไหว ทารกน้อยผู้หนึ่งได้ถือกำเนิดมาในกระท่อมเล็ก ๆ ในชนบทกันดารของหมู่บ้านปาง อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ทารกผู้นี้ได้รับการตั้งชื่อว่า อินตาเฟือน หรือ อ้ายฟ้าร้อง ตามนิมิตแห่งการเกิด
บิดาของครูบาศรีวิชัยชื่อว่า นายควาย เป็นหลานของหมื่นผาบหมอคล้องช้างของเจ้าหลวงดาราดิเรกฤทธิ์ไพโรจน์ เจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์ที่ 7 ที่มาคล้องช้างที่บ้านปางส่วนมารดาชื่อ นางอุสา เป็นลูกของพ่อหนานไจยา อยู่แขวงเมืองลี้ นายควายได้ไปสู่ขอนางอุสามาอยู่กินเป็นสามีภรรยา จนเกิดบุตรชายหญิงด้วยกัน 5 คน คือ นายอินทร์ไหว,นางอวน,นายอินตาเฟือน(ครูบาศรีวิชัย),นางแว่นและนายทา เมื่อเยาว์วัยท่านเป็นเด็กเลี้ยงง่ายและอยู่ในโอวาทคำสั่นสอนของบิดามารดาช่วยประกอบสัมมาอาชีวะ ปกติท่านชอบเลี้ยงวัวเลี้ยงควายและรักความสงบตามธรรมชาติป่าเขา เป็นบรรยากาศที่ช่างเหมาะสมกับอุปนิสัยที่จะปลูกฝังโพธิญาณของพระโพธิสัตว์เจ้าโดยแท้

ครั้นเมื่อท่านอายุได้ 18 ปี เกิดความคิดวิตกขึ้นในใจว่า ชาตินี้เกิดมามีฐานะลำบากยากจน ต้องทรมาณร่างกายด้วยการทำมาหากินเพื่อเลี้ยงชีพทั้งบิดามารดาและตนเอง ทั้งนี้เพราะบุพกรรมแต่ในอดีตที่มิได้ให้ทานรักษาศีลภาวนา การได้บวชบำเพ็ญภาวนาในพระพุทธศาสนาน่าจะเป็นผลบุญต่อไปในภายภาคหน้า ทั้งยังถือเป็นการตอบแทนพระคุณบิดามารดา ดังนั้นท่านจึงได้ขอลาบิดามารดาไปอยู่วัดบ้านปาง ศึกษาเล่าเรียนและบวชเป็นสามเณรกับพระอาจารย์ขัติยะ หรือ ครูบาแข้งแขะ เพราะท่านเดินขากระแผลก เมื่ออายุได้ 21 ปีจึงได้อุปสมบทที่วัดบ้านโฮ่งหลวง จังหวัดลำพูน โดยมีครูบาสม สมฺโณ เป็นพระอุปัชฌาย์ ท่านได้รับฉายาว่า “สิริวิชโย ภิกขุ” แต่ชาวบ้านจะเรียกท่านว่า “พระศรีวิชัย”

พระศรีวิชัยได้ศึกษาไสยศาสตร์เวทมนต์คาถาจากครูแข้งแขะ โดยได้ยึดมั่นว่าเป็นของดีของวิเศษที่จะนำความสุขความเจริญมาให้ ท่านยังได้สักหมึกดำที่ขาทั้งสองข้างตามความเชื่อของลูกผู้ชายชาวล้านนาว่าจะช่วยให้อยู่ยงคงกระพัน ต่อมาครูบาสม สมฺโณ ได้แนะนำให้พระศรีวิชัยไปนมัสการครูบาอุปละที่วัดดอยแต อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน ครูบาอุปละได้เมตตาถ่ายทอดครองวัตรปฏิบัติวิชชาอาคมให้พระศรีวิชัยสมควรแก่ภูมิธรรมเป็นเวลา 1 พรรษา จากนั้นจึงได้กราบลาครูอุปละไปศึกษาต่อกับครูบาวัดดอยคำและกลับมาศึกษาต่อกับครูบาสม สมฺโณที่วัดบ้านโฮ่งหลวง การได้ศึกษากับพระอาจารย์ผู้เปี่ยมด้วยภูมิรู้และวัตรปฏิบัติ ทำให้ท่านเกิดความเข้าใจในพุทธศาสนาที่ถูกต้อง มีความมุ่งมั่นปฏิบัติในด้านกัมมัฏฐาน โดยละเลิกความสนใจทางด้านไสยศาสตร์

ด้วยเล็งเห็นว่ามิใช่หนทางแห่งความหลุดพ้นพระศรีวิชัยกลับมาจำพรรษาที่วัดบ้านปางอีกครั้งและปลีกตัวเองไปอยู่ในเขตอรัญญาวาส บำเพ็ญสมาธิภาวนาด้วยความสงบ ฉันอาหารมื้อเดียว ละเว้นจากการฉันเนื้อสัตว์และเว้นจากของเสพติดเช่น หมาก พลู บุหรี่ เมี่ยง บางครั้งท่านไม่ฉันข้าวนานถึง 5 เดือน ฉันแต่ผักผลไม้ ทำให้ชาวบ้านตลอดจนชาวเขาหลายเผ่าที่อยู่ในแถบนั้นพากันเคารพเลื่อมใสศรัทธาในตัวท่าน

พระศรีวิชัย ได้ชื่อว่าเป็นพระนักพัฒนาโดยแท้ ท่านเป็นผู้นำพัฒนาวัดบ้านปางเป็นแห่งแรก ก่อสร้างปฏิสังขรณ์กุฏิ วิหาร โบสถ์ และให้ชื่ออารามใหม่นี้ว่า “วัดจอมศะหรีทรายมูลบุญเรือง” แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังคงเรียกว่า “วัดบ้านปาง” นอกจากนั้นท่านยังได้ปลูกสร้างปฏิสังขรณ์วัดวาอารามและถาวรวัตถุทางศาสนาอีกหลายสิบวัดในพื้นที่ภาคเหนือ เช่น วัดพระธาตุหริภุญชัยลำพูน, วัดเชียงยืน, วัดพระพุทธบาทตากผ้า, วัดจามเทวี, วัดพระสิงห์, วัดสวนดอก, วัดศรีโสดา,วัดพระแก้วดอนเต้าลำปาง เป็นต้น

ผลงานด้านการพัฒนาของท่านเป็นที่รู้จักและยังคงกล่าวขวัญถึงยุคปัจจุบันก็คือ ถนนขึ้นวัดพระธาตุดอยสุเทพ ที่สมัยนั้นถือได้ว่าเป็นการร่วมแรงร่วมใจของผู้คนจากทั่วภาคเหนือที่พร้อมใจกันมาสร้างถนนก็ว่าได้ ในสมัยก่อนการจะเดินทางขึ้นไปนมัสการพระธาตุดอยสุเทพต้องเดินเท้าขึ้นไปด้วยความลำบาก ใช้เวลาไม่ต่ำ 4 – 5 ชั่วโมง และการที่จะสร้างถนนขึ้นไปเป็นเรื่องที่ยากเกินจะเป็นไปได้ เพราะต้องใช้ทั้งแรงงานมากมาย เวลาและเงินตรามหาศาล ทั้งสมัยนั้นยังไม่มีเครื่องจักรที่ทันสมัย รัฐบาลในสมัยนั้นซึ่งมีพลเรือตรีหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ทราบเรื่องจากหลวงศรีประกาศ (ฉันท์ วิชยาภัย) จึงได้ส่งนายช่างขึ้นมาทำการสำรวจเส้นทาง ระยะทางทั้งหมด 11.530 กิโลเมตรความมีชื่อเสียง ความสำเร็จผลในด้านการเป็นพระนักพัฒนา ดูเหมือนว่าการบำเพ็ญบารมีธรรมในชีวิตของครูบาศรีวิชัยจะก้าวไปพร้อมกันกับอุปสรรค์แสนเข็ญ ด้วยคณะสงฆ์ผู้ใหญ่ในล้านนาไม่พอใจในตัวท่าน จนถึงขนาดมีการกล่าวหาเอาผิดท่านถึง 3 ครั้ง โดยกล่าวหาว่าท่านทำตัวเป็น “ผีบุญ” อวดอิทธิฤทธิ์ ส้องสุมกำลังผู้คน คิดขบถต่อบ้านเมือง และนำท่านไปจำไว้ที่ลำพูนและวัดศรีดอนไชย เชียงใหม่ จากนั้นจึงได้ส่งตัวท่านไปไต่สวนที่กรุงเทพ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ตั้งกรรมการชำระคดีครูบาศรีวิชัย ผลปรากฏว่าท่านเป็นผู้บริสุทธิ์ไม่มีความผิด

วันที่ 22 มีนาคม 2481 ขณะที่อายุได้ 60 ปีเศษ ครูบาศรีวิชัยได้ถึงแก่กาลมรณภาพที่วัดบ้านปาง อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน จนเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2489 มีพิธีพระราชทานเพลิงศพที่วัดจามเทวี ตามแบบประเพณีล้านนาไทย นับเป็นขบวนแห่ศพที่ยิ่งใหญ่ นำหน้าด้วยมโหฬีปี่กลอง ตลอดสองฟากฝั่งถนนที่ขบวนศพเคลื่อนผ่านจะมีศรัทธาประชาชนให้ความสนใจ ต่างพากันออกมากราบไหว้เป็นครั้งสุดท้าย โดยขบวนศพของครูบาเจ้าศรีวิชัยได้เคลื่อนออกจากวัดบ้านปาง อำเภอลี้ มาตามถนนสายลำพูน – ลี้ ผ่านบริเวณตัวเมืองลำพูน ก่อนที่จะไปตั้งพระราชทานเพลิงที่วัดจามเทวี จังหวัดลำพูน

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น