ฟ้อนรับเสด็จ ร.7 เยือนเชียงใหม่

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงบันทึกถึงประเพณีการฟ้อนรำรับแขกบ้านแขกเมืองในพระราชนิพนธ์เรื่อง “สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงกับสนมเอก” ถึงการฟ้อนรำต้อนรับอาคันตุกะผู้มาเยือนไว้ดังนี้ “…พิเคราะห์ดูอาจจะมีมาแต่สมัยเมื่อถือกันเป็นประเพณีว่าผู้ดีทุกคน ทั้งที่เป็นผู้ชายและเป็นผู้หญิง ต้องหัดฟ้อนรำเป็นหลักสูตรอย่างหนึ่งในการศึกษา และมีพิธีการบางอย่างซึ่งเจ้านายชายหญิง นับแต่เจ้าผู้ครองเมืองต้องออกฟ้อนรำในที่ประชุมชนให้เป็นสิริ…”
กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ยังกล่าวถึงพิธีฟ้อนรำเมื่อครั้งที่ยังดำรงตำแหน่ง เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ในรัชกาลที่ 5 เมื่อเสด็จขึ้นไปตรวจราชการในมณฑลพายัพครั้งแรกไว้ว่า “…ในมณฑลพายัพเขายังถือประเพณีฟ้อนรำอย่างโบราณ เมื่อข้าพเจ้าไปถึงเมืองลำปาง เขาจัดรับเหมือนอย่างรับเจ้าผู้ครองนครแรกเข้าเมือง คือตั้งพลับพลาแรมรับห่างเมืองสัก 100 เส้น ถึงวันจะเข้าเมือง เวลาเช้าเจ้านายผู้ชายทั้งผู้ใหญ่ผู้น้อยแต่งเต็มยศ ขี่ช้างออกจากเมืองมารับกระบวนที่จะแห่รับเข้าเมือง พวกเราก็แต่งเต็มยศคอยรับอยู่”
เมื่อขบวนแห่มาถึงใกล้ที่ตั้งพลับพลา เจ้านายฝ่ายเหนือก็จะลงจากคอช้างแยกเป็น 2 แถว มีคนถือกลดคันยาวกั้นทุกคน จากนั้นจะพากันเดินตามคนเชิญพานดอกไม้ เครื่องสักการะ พอมาถึงบริเวณพลับพลา เจ้านายฝ่ายเหนือทั้งหลายก็จะพากันฟ้อนรำเป็นคู่ ๆ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ยังบันทึกไว้อีกว่า “…ผู้ที่รู้ประเพณีเขากระซิบบอกข้าพเจ้าว่า ข้าพเจ้าควรจะฟ้อนรำออกไปรับจึงจะถูกธรรมเนียม แต่ขัดข้องด้วยข้าพเจ้าไม่เคยรำ นึกขวยใจไม่รู้จะทำอย่างไร ขณะนั้นพระยาทรงสุรเดช (อั้น บุนนาค) ซึ่งเป็นข้าหลวงใหญ่มณฑลพายัพ อยู่ในเวลานั้นรับอาสาฟ้อนรำออกไปรับแทนตัวข้าพเจ้า ก็เป็นแล้วกันไป”
เมื่อขบวนเสด็จของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เดินทางมาถึงเมืองลำพูน ก็ได้มีการจัพิธีรับเข้าเมืองอย่างใหญ่โต ราวกับจัดรับพระเวสสันดรกลับคืนเข้าเมือง มีการตั้งราชวัตรฉัตรธง รวมถึงมีมหรสพรับตามรายทาง มีการจัดเด็กผู้หญิง บุตรธิดาของเจ้านายฝ่ายเหนือมายืนเรียงฟ้อนเป็นระยะ แต่เมื่อเวลาถึงเมืองเชียงใหม่ซึ่งขณะนั้นเจ้าอินทวิชยานนท์ เพิ่งถึงแก่พิราลัย จึงได้จัดแต่กระบวนแห่มารับไม่ได้มีการฟ้อนรำ หลังจากนั้นมาก็ไม่มีการฟ้อนรำรับผู้ใดอีก
จนเมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 7 เสด็จเลียบมณฑลพายัพ พระราชราชาเจ้าดารารัศมี จึงได้ชักชวนเจ้านายในมณฑล ทั้งชายหญิงให้ฟ้อนรำรับเสด็จ ซึ่งกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงบันทึกไว้อีกว่า “…เมื่อวันสมโภชเมืองเชียงใหม่ วันนั้นมีกระบวนต่าง ๆ ของพวกชาวเชียงใหม่ทุกชาติ ทุกภาษา แห่นำหน้าแล้วถึงกระบวนบายศรี มีปี่พาทย์นำหน้า พวกเจ้านายผู้ชายเดินตามบายศรีที่สำหรับสมโภชสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีเจ้านครเชียงใหม่ เจ้านครน่านและเจ้านครลำพูนเป็นหัวหน้า ต่อมาถึงเจ้านายชั้นรองรวมกันกว่า 30 คน แต่ละตัวแต่งตัวนุ่งผ้าปักลาย ใส่เสื้อเยียรบับ คาดสำรดประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เดินเป็นคู่ ๆ อยู่ข้างหลังบายศรี พอเข้าในบริเวณพลับพลาก็พร้อมกันยกมือขึ้นกราบถวายบังคม แล้วต่างฟ้อนตรงเข้าไปเฝ้า พวกเจ้านายผู้หญิงก็เดินตามเป็นคู่ ๆ และฟ้อนเข้าไปเฝ้าอย่างเดียวกัน พวกคนดูทั้งไทยและฝรั่งขึ้นไปจากกรุงเทพและชาวเมืองนั้นพากันออกปากว่า สง่างามอย่างแปลก ดูน่าชมเป็นอย่างยิ่ง”
การฟ้อนรำอย่างใหญ่โตตามประเพณีโบราณในมณฑลพายัพ ซึ่งจัดได้อย่างสมพระเกียรติและถือว่าเป็นครั้งสุดท้าย ก็คือเมื่อครั้งที่มีการสมโภชครั้งนั้น แสดงให้เห็นว่าการฟ้อนรำนั้นถือเป็นประเพณีของไทยมาแต่โบราณกาลที่ถูกถ่ายทอดมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย ต่อเมื่อได้มีการนำหลักสูตรสาธารณศึกษาเข้ามา การฟ้อนรำจึงได้เลิกไปด้วยสาเหตุใดไม่ทราบ ส่วนในสมัยรัตนโกสินทร์ ก็ยังมีการฝึกหัดฟ้อนรำกันอยู่แต่เฉพาะในวิชาบางส่วนเท่านั้น ในล้านนา การฟ้อนรำมักจะพบเห็นได้ตามงานบุญและงานต้อนรับแขกคนสำคัญอยู่เสมอ แม้จะไม่ยิ่งใหญ่เหมือนเมื่อครั้งในอดีต แต่การฟ้อนรำก็ถือได้ว่าเป็นผลพวงที่มาจากการถ่ายทอดของบรรพบุรุษที่ชาวล้านนายังคงอนุรักษ์รักษาวัฒนธรรมประเพณีนี้เอาไว้อย่างเหนียวแน่น
บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น