ร.9 ทรงเสด็จนมัสการพระธาตุหริภุญชัยเมืองลำพูน

จังหวัดลำพูนเป็นเมืองเล็ก ๆ ที่อยู่ไม่ไกลจากเชียงใหม่ เมืองแห่งนี้มีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจและเป็นเมืองเก่าแก่เมืองหนึ่งในอาณาจักรล้านนา เมืองลำพูน หรือ เมืองหริภุญชัย สร้างขึ้นเมืองปี พ.ศ.1439 ถือได้ว่านครหริภุญชัยเป็นเมืองที่ตั้งขึ้นก่อนเมืองอื่นในอาณาจักรล้านนา ตามตำนานกล่าวว่า มีฤาษีสององค์คือวาสุเทพฤาษีและสุกันตฤาษีซึ่งเป็นเพื่อนสนิทกัน วันหนึ่งฤาษีทั้งสององค์ได้เอาไม้เท้าขีดพื้นดินเป็นรูปหอยวงรีแล้วเนรมิตรให้เป็นเมืองขึ้นตั้งชื่อว่า “นครหริภุญชัย”
หลังจากนั้นฤาษีทั้งสองจึงได้ไปอัญเชิญ พระนางจามเทวี ธิดาของพระเจ้ากรุงละโว้จากเมืองลพบุรีขึ้นมาครองเมืองลำพูน พระนางจามเทวีได้เสด็จขึ้นมายังนครหริภุญชัยโดยทางเรือขึ้นมาตามลำน้ำปิงใช้เวลากว่า 4 เดือน เมื่อพระองค์เสด็จมาถึงยังเมืองหริภุญไชย ชาวเมืองได้จัดงานเฉลิมฉลองต้อนรับเป็นเวลาหลายวัน พระนางจามเทวี ทรงเป็นปฐมกษัตริย์ที่ครองนครหริภุญชัย พระองค์ทรงปกครองบ้านเมืองให้มีความเจริญรุ่งเรืองทั้งด้านการค้า ศาสนาศิลปวัฒนธรรม โดยเฉพาะทางด้านการบูรณะและสร้างวัดนั้นพระนางจามเทวีได้กระทำอย่างต่อเนื่อง เพราะพระองค์ทรงมีความเลื่อมใสในบวรพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า
วัดหนึ่งที่ถือได้ว่าเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป และผู้คนมักจะนิยมเดินทางมากราบไหว้อยู่เสมอก็คือ “วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร” ถึงแม้ว่าวัดนี้จะไม่ได้สร้างในสมัยของพระนางจามเทวี แต่ก็เป็นผลพวงของพระองค์ที่ได้ปูพื้นฐานของพระศาสนาในนครหริภุญชัยจนสืบต่อมาถึงกษัตริย์ในรุ่นหลัง ๆ พระธาตุหริภุญชัย เป็นศูนย์กลางพุทธศาสนาที่ใหญ่แห่งหนึ่งในอาณาจักรล้านนาไทย สร้างขึ้นในสมัยของพระเจ้าอาทิตยราช (ราชวงศ์รามัญ) ซึ่งครองเมืองหริภุญชัยราว พ.ศ.1590 เพื่อให้เป็นหลักฐานแห่งความรุ่งเรืองทางพุทธศาสนา พระเจ้าอาทิตยราชทรงเลื่อมใสศรัทธาในพุทธศาสนา ตอนแรกได้สร้างเป็นมณฑปขึ้นเพื่อประดิษฐานพระบรมธาตุสูง 3 วา มีซุ้มทั้ง 4 ด้าน ครอบโกศทองคำสูง 3 ศอก บรรจุพระธาตุไว้ภายใน เมื่อมาถึงสมัยพระเจ้าติโลกราช เจ้าเมืองเชียงใหม่ โปรดให้เสริมพระบรมธาตุสูงขึ้นอีกเป็น 23 วา เอาทองจังโกฏก์ (ทองแดงปนนาคทำเป็นแผ่น) หุ้มตลอดทั่วทั้งองค์ตั้งแต่ฐานถึงยอด สิ้นทองจังโกฏก์ 15,000 แผ่น
พระมหาธาตุองค์นี้เป็นจอมเจดีย์ใหญ่องค์หนึ่งในจำนวน 8 องค์ของประเทศไทยที่มีอายุล่วงเกินกว่าหนึ่งพันปี และเป็นที่เคารพสักการะของเจ้าฟ้ามหากษัตริย์ทุกยุคทุกพระองค์รวมถึงประชาชนทั่วไป ในวโรกาสคล้ายวันพระราชสมภพ 5 ธันวาคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ รัชกาลที่ 9 พระองค์ได้เคยเสด็จพระราชดำเนินทรงนมัสการพระบรมธาตุหริภุญชัย ถึง 4 ครั้ง โดยเริ่มครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ.2501 เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จากกรุงเทพมหานครโดยทางรถยนต์ตามถนนพหลโยธินผ่านอำเภอลี้ ได้ทรงแวะเยี่ยมราษฏรตลอดทางที่ขบวนเสด็จผ่านจนมาถึงวัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร เพื่อประกอบพิธีสมโภชพระบรมธาตุ
ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 21มกราคม พ.ศ.2505 เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 และพระราชอาคันตุกะพระเจ้าเฟเดอริค พระราชินีอินกริด แห่งประเทศเดนมาร์ก เพื่อทรงนมัสการพระบรมธาตุหริภุญชัย จังหวัดลำพูน
ครั้งที่ 3 เสด็จเมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2505 เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าหญิงอุบลรัตนราชกัญญาและสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ เพื่อทรงนมัสการพระบรมธาตุหริภุญชัย
ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2507 เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระราชาธิบดีโบดวงและพระราชินีฟาบิโอลา แห่งประเทศเบลเยี่ยม เพื่อทรงนมัสการพระบรมธาตุหริภุญชัย จังหวัดลำพูน ซึ่งถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ท่านได้เสด็จเพื่อทรงนมัสการพระบรมธาตุหริภุญชัยถึง 4 ครั้งด้วยกันปัจจุบันวัดพระบรมธาตุหริภุญชัย เป็นพระอารามหลวงสำคัญชั้นเอกของเมืองลำพูน ทุกวันจะมีนักท่องเที่ยวนิยมเดินทางมาเที่ยวชมศิลปกรรมและความสวยงามของวัดพระธาตุหริภุญชัย ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ด้วยรูปลักษณะทางศิลปกรรมที่งดงาม โดยเฉพาะองค์พระธาตุซึ่งเป็นเจดีย์ทรงระฆังคว่ำจึงทำให้องค์พระธาตุกลายเป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าทางด้านศิลปกรรมของล้านนา
บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น