พะเยาเตรียมผลักดันเส้นทางสายโลจิสติกส์ เชียงของ-เชียงคำ-เชียงม่วน

ภาคเอกชนจังหวัดพะเยาร่วมถกผู้ว่าฯ กำหนดทิศทางการพัฒนาจังหวัด อันเป็นผลต่อเนื่องมาจาก 2 วาระใหญ่ เปิดจุดผ่านแดนบ้านฮวก และ โครงการรถไฟรางคู่ เด่นชัย – เชียงราย – เชียงของ ขณะเดียวกันเตรียมผลักดันเส้นทางโลจิสติกส์สายล้านนาตะวันออก เชียงของ เทิง เชียงคำ จุน ปง เชียงม่วน สอง แพร่ อุตรดิษต์ พิษณุโลก เป็นเส้นทางเพื่อการขนส่ง
นายคงศักดิ์ ธรานิศร ประธานหอการค้าจังหวัดพะเยา เปิดเผยว่า ขณะนี้จังหวัดพะเยา อยู่ในห้วงเวลาที่สำคัญ ในการที่จะต้องผลักดันต่อยอดการพัฒนาเศรษฐกิจของพื้นที่ เพื่อให้มีความเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น หลังจากที่การเคลื่อนไหวในส่วนของภาครัฐ เริ่มส่งสัญญาณในทางบวก โดยเฉพาะการที่มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีการอนุมัติเรื่องสำคัญถึงสองเรื่องในคราวเดียวกัน ได้แก่ การยกระดับจุดผ่อนปรนชั่วคราวบ้านฮวก ให้เป็นจุดผ่านแดนถาวร และ กรณีของการสร้างรถไฟทางคู่ เด่นชัย – เชียงราย – เชียงของ ซึ่งก็เป็นเส้นทางที่ผ่านตัวจังหวัดพะเยาด้วยเช่นกัน
ล่าสุดนี้ ในส่วนของภาคเอกชน โดยหอการค้าจังหวัดพะเยา ที่ปรึกษาหอการค้าจังหวัดพะเยา สมาคมพะเยา YEC จังหวัดพะเยา บริษัทประชารัฐพะเยา ชมรมธนาคาร สมาพันธ์ sme จังหวัดพะเยา ได้เข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา เพื่อรับฟังแนวทางและยุทธศาสตร์ของทางภาครัฐ ด้วยการหาจุดร่วม เพื่อทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดไปพร้อมๆกัน

“ในเวลานี้ เป็นห้วงเวลาประวัติศาสตร์ ที่จังหวัดพะเยาจะมียุทธศาสตร์ใหม่ ๆ ที่จะทำให้จังหวัดพะเยาเปลี่ยนไปจากเดิมอีกขั้นหนึ่ง นับจากปี 2520 อำเภอพะเยา ได้เปลี่ยนเป็นจังหวัดพะเยา ในปี 2542 เดิมพะเยามีวิทยาเขตสารสนเทศพะเยา มหาวิทยาลัยนเรศวร ในปี 2553 ได้เปลี่ยนเป็น “มหาวิทยาลัยพะเยา (University of Phayao)” และปีนี้ ปี 2561 จุดผ่อนปรนชั่วคราวบ้านฮวก ได้ยกระดับเป็นจุดผ่านแดนถาวร หรือด่านสากล ซึ่งก็จะเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของจังหวัดพะเยาเลยทีเดียว”นางคงศักดิ์ กล่าว
ประธานหอการค้าจังหวัดพะเยา กล่าวด้วยว่า จุดผ่านแดนถาวรบ้านฮวก ซึ่งเป็นพื้นที่ตรงข้ามกับแขวงไชยบุรี สปป.ลาว ทางภาครัฐและเอกชนของจังหวัดพะเยา มีความเห็นพ้วงกันว่า นั่นเป็นโอกาสของจังหวัดพะเยา ในการเชื่อมสู่พื้นที่ภายนอก หรือหมายถึงประเทศเพื่อนบ้าน โดยในช่องทางเดียวกันนี้ มีระยะทางที่ไม่ต่างกันมาก การเดินทางสามารถไปถึงเมืองต่างๆของ สปป.ลาวได้อย่างสะดวก โดยเฉพาะเมืองมรดกโลกหลวงพระบาง รวมถึงเส้นทางที่จะผ่านไปยัง ชายแดนเดียนเบียนฟู ชายแดนระหว่าง สปป.ลาว กับ เวียดนาม นอกจากนี้เส้นทางดังกล่าว ก็จะสามารถผ่านออกไปยังแผ่นดินจีน ทางมณฑลยูนาน ของจีนตอนใต้ ซึ่งเส้นทางจะไปเชื่อมกัน กับถนนสาย R3-A ที่แยกนาเตย ซึ่งเริ่มต้นมาจากอำเภอเชียงของ ผ่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 ผ่านแขวงบ่อแก้ว แขวงหลวงน้ำทา และชายแดนบ่อเต็น ชายแดนระหว่างลาว กับ จีน
“จากการหารือร่วมกัน ได้มีการพูดถึงการผลักดันเส้นทางโลจิสติกส์สายล้านนาตะวันออกเชียงของ เทิง เชียงคำ จุน ปง เชียงม่วน สอง แพร่ อุตรดิษต์ พิษณุโลก เพื่อให้เป็นเส้นทางเพื่อขนส่ง สายใหม่ และทำให้เป็นเส้นทางอีกเส้นหนึ่งที่มีความสำคัญ ในการขนส่งสินค้า ทั้งขาเข้า และขาออก จากการเชื่อมโยงเส้นทางกับประเทศเพื่อนบ้าน ในส่วนของถนนสายเอเชียเดิม ก็จะเป็นเส้นทางเพื่อการเดินทางและการท่องเที่ยว” ประธานหอการคัาจังหวัดพะเยา กล่าว และว่า

เรื่องสนามบินจังหวัดพะเยา ที่พอจะมีความเป็นไปได้ ด้วยการลงทุนที่ไม่มาก แต่คุ้มค่าการลงทุน ก็น่าจะเป็นสนามบินเชียงคำ โดยใช้เป็นเครื่องบินขนาดเล็ก ไม่เกิน 78 ที่นั่ง แบบใบพัด หรือจะเป็นแบบเครื่องเจท ก็ต้องมีการขยายรันเวย์ อีก 500 เมตร เป็น 2,000 เมตร ก็ยังคงต้องทำการศึกษาความเป็นไปได้ต่อไป และอีกความเป็นไปได้ คือ สายการบินเอกชนที่จะเข้ามาร่วมลงทุน ซึ่งก็จะใช้เวลาน้อยกว่าที่ควรจะเป็น จากการสรุปแผนยุทธศาสตร์ร่วมกัน จึงกำหนดให้มีการตั้งคณะกรรมการร่วมรัฐเอกชน เป็นคณะทำงานโลจิสติกส์สายล้านนาตะวันออก เพื่อทำการวางแผน ผลักดัน และติดตาม ก่อนจะเข้าสู่การวางแผนด้านงบประมาณของภาครัฐต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น