เที่ยววัดเก่าและสะพานขาวที่บ้านทาปลาดุก

พื้นที่ตำบลทาปลาดุกอำเภอแม่ทาในอดีตเคยเป็นแคว้นการปกครองขึ้นอยู่กับเมืองลำพูนเมื่อครั้งที่มีการปฏิรูปการปกครองแผ่นดินในหัวเมืองประเทศราช พ.ศ.2441 ต่อมาปี พ.ศ.2458 ได้มีการตั้งแขวงแม่ทา แคว้นทาปลาดุกจึงได้ขึ้นอยู่กับแขวงแม่ทา ปี พ.ศ.2485 ได้ตั้งเป็นกิ่งอำเภอแม่ทาและเปลี่ยนเป็นตำบลทาปลาดุกแยกออกมาจากอำเภอเมืองลำพูนการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจที่สำคัญของอำเภอนี้คือการตัดเส้นทางรถไฟหลังการขุดเจาะอุโมงค์ที่ถ้ำขุนตานแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2461 ที่เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งจากความต้องการไม้สักของบริษัททำไม้อังกฤษ (บริษัทบอมเบย์เบอร์ม่า) นอกจากนี้ยังเป็นเส้นทางลำเลียงไม้สัก ข้าวและถ่านหุงต้มในเขตตำบลทาปลาดุกลงไปยังตลาดภาคกลางได้สะดวก

ต่อมาปี พ.ศ.2512 มีการตัดถนนซุปเปอร์ไฮเวย์จากเชียงใหม่ไปลำปางผ่านอำเภอแม่ทา ก็เป็นการขยายระบบเศรษฐกิจติดต่อกับพื้นที่ภายนอกมากยิ่งขึ้น โดยได้มีการเริ่มประกอบอาชีพปลูกข้าวโพดฝักอ่อนส่งโรงงานที่จังหวัดลำปางและได้ขยายพื้นที่ปลูกจนเป็นรายได้ที่สำคัญของอำเภอแม่ทาในปัจจุบัน

ชาวบ้านในตำบลทาปลาดุกส่วนใหญ่จะตั้งถิ่นฐานอยู่ในสองฟากที่ราบลุ่มแม่น้ำทากับลุ่มแม่น้ำสาขาคือ ห้วยแม่ป่าข่า ห้วยแม่ยอนหวาย ห้วยสองท่าและห้วยทรายขาว เป็นต้นโดยมีเทือกเขาขุนตาน (เทือกผีปันน้ำตะวันตก) ทอดตัวยาวจากเหนือลงใต้เป็นเสมือนกำแพงขนาดมหึมาขวางกั้นอยู่ พื้นที่ส่วนใหญ่ของตำบลทาปลาดุกเป็นป่าเบญจพรรณที่สมบูรณ์ผืนหนึ่งในภาคเหนือบางส่วนอยู่ในเขตของอุทยานแห่งชาติดอยขุนตาน บางส่วนเป็นป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ทาและป่าชุมชนที่ชาวบ้านกันไว้ใช้ประโยชน์ ที่เหลือเป็นที่ทำกินและพื้นที่อาศัยของชาวบ้านพื้นที่ในเขตตำบลทาปลาดุกซึ่งส่วนใหญ่เป็นป่าเขา ทำให้เกิดแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติมากมายนอกจากนั้นยังมีแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชาวบ้านที่น่าศึกษาอีกด้วย เมื่อนักท่องเที่ยวเดินทางมายังอำเภอแม่ทาแหล่งท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อของที่นี่เห็นจะหนีไม่พ้น อุทยานแห่งชาติดอยขุนตาน ซึ่งเมื่อก่อนถ้าไม่เดินทางโดยรถไฟก็จะไม่ได้อรรถรสของการท่องเที่ยว ปัจจุบันนี้สามารถนำรถขึ้นได้ทั้งสองทางจากลำพูนและลำปาง ถ้านำรถขึ้นจากเขตลำพูนจะต้องเข้าที่ตำบลทาปลาดุกได้ทางเดียวเท่านั้น

ที่อุทยานแห่งชาติดอยขุนตานนอกจากจะมีสถานทท่องเที่ยวทางธรรมชาติและจุดชมวิวที่สวยงามแล้ว ที่นี่ยังมีอุโมงค์รถไฟที่ยาวที่สุดในประเทศไทย ก่อสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยนายช่างชาวเยอรมันซึ่งใช้เวลาในการก่อสร้างนานถึง 11 ปี ก่อนจะถึงถ้ำขุนตานยังมีสะพานขาวบ้านทาชมพู ซึ่งเป็นสะพานประวัติศาสตร์สร้างเมื่อปี พ.ศ.2462 เพื่อใช้เป็นเส้นทางเดินรถไฟจากลำปางมายังเชียงใหม่

มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับสะพานแห่งนี้ว่า สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ทหารฝ่ายพันธมิตรต้องการจะทิ้งระเบิดทำลายเส้นทางเดินรถไฟของทหารญี่ปุ่นและหนึ่งในเป้าทั้งหมดมีสะพานขาวบ้านทาชมพูรวมอยู่ด้วย ด้วยเหตุนี้ชาวบ้านใกล้เคียงจึงได้ช่วยกันทาสีสะพานให้เป็นสีดำเพื่ออำพรางตาจากทหารฝ่ายพันธมิตรจนสะพานแห่งนี้สามารถรอดพ้นจากการทิ้งระเบิดทำลายลงได้ นอกจากนี้ยังมีสะพานรัษฏาภิเศกข้ามแม่น้ำวังจังหวัดลำปางก็รอดพ้นจากการทิ้งระเบิดเช่นกันนอกจากนี้ในตำบลทาปลาดุกยังมีวัดสำคัญเก่าแก่ที่สุดวัดหนึ่งชื่อวัด “กู่แก้วสุขาวดี” แต่เดิมวัดนี้เคยเป็นวัดร้างอยู่ในป่าดิบ เหลือแต่ซากปรักหักพังของกำแพง อุโบสถเจดีย์ยอดด้วน ชาวบ้านจึงพากันเรียกว่า “กูดกู่” ปี พ.ศ.2474 กรมศิลปากรมาทำการสำรวจตรวจสอบจากลวดลายดอกประดับอุโบสถและซากอิฐเจดีย์ พบว่าวัดนี้สร้างขึ้นเมื่อราว 300-400 ปี

ต่อมาครูบาเสนาได้เข้ามาบูรณะปฏิสังขรณ์ร่วมกับชาวบ้านแผ้วถางบริเวณที่ตั้งของกุดกู่และได้รับความช่วยเหลือจากคนเลี้ยงช้างของเจ้าหลวงเมืองลำพูน จากนั้นครูบาเสนาจึงได้ขออนุญาตเจ้าหลวงเพื่อชักลากไม้มาสร้างวัด มีการเฉลิมฉลองเมื่อปี พ.ศ.2461 และในสมัยของครูบาปัญญาได้มาสร้างพระเจดีย์ครอบองค์เดิมที่ยอดด้วนให้เป็นเจดีย์เหมือนทั่ว ๆ ไปและเรียกชื่อวัดเสียใหม่ว่า “วัดทากู่แก้วสุขาวดี” ปัจจุบันเหลือเพียงชื่อ “วัดทากู่” สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการจะเข้าไปสัมผัสความสวยงามของธรรมชาติและวิถีชีวิตของชาวบ้านทาปลาดุก สามารถเดินทางเข้าไปโดยใช้ทางหลวงสายซุปเปอร์ไฮเวย์เชียงใหม่-ลำปาง เลี้ยวซ้ายเข้าสู่บ้านทาปลาดุกระยะทางประมาณ 12 กิโลเมตร หรือติดต่อสอบถาม
ได้ที่ สำนักงานเทศบาลตำบลทาปลาดุก โทร 0-5350-7034.

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น