ตามรอย “หลวงปู่หล้า” แห่งวัดป่าตึง

ชื่อเสียงของหลวงปู่หล้า เป็นที่รู้จักของคนทั่วไปก็เนื่องด้วยท่านเป็นพระที่ประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในหลักศีลธรรมอันงดงาม หลวงปู่หล้าท่านได้รับสมญานามจากศรัทธาญาติโยมว่ามีญาณวิเศษที่สามารถล่วงรู้เหตุการณ์ข้างหน้าได้ จนชาวบ้านทั่วไปเรียกท่านว่า “หลวงปู่หล้าตาทิพย์”หลวงปู่หล้า (พระครูจันทสมานคุณ) ท่านเกิดในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5 ซึ่งอยู่ในช่วงผลัดเปลี่ยนเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่สมัยของเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 7 (พ.ศ.2426-2439) กับเจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 8 (พ.ศ.2442-2452) หลวงปู่หล้าเกิดเมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น 7 ค่ำเดือน 11 ตรงกับวันที่ 22 กันยายน 2441 ที่บ้านปง ตำบลออนใต้ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ โยมพ่อชื่อ นายเงิน โยมแม่ชื่อ นางแก้ว นามสกุล บุญมาคำ เหตุที่มีนามสกุลนี้ หลวงปู่หล้า

เล่าว่า “เพราะพ่ออุ้ย(ปู่) ชื่อบุญมา แม่อุ้ย(ย่า) ชื่อคำ เมื่อมีการตั้งนามสกุล กำนันจึงตั้งให้เป็น บุญมาคำ ” หลวงปู่หล้าเป็นบุตรคนสุดท้องของครอบครัวจากจำนวนพี่น้อง 4 คน เมื่ออายุได้ 1 ขวบ ต้องกำพร้าพ่อ โยมแม่จึงได้เลี้ยงดูลูกทั้งหมดเพียงลำพัง หลวงปู่หล้าเล่าให้ฟังว่า “การเลี้ยงลูกสมัยก่อน ต้องช่วยกันทำงาน ช่วยเลี้ยงวัว หากใครทำผิดก็จะถูกเฆี่ยน ทำพลาดก็ถูกเอ็ด”เมื่อหลวงปู่หล้าอายุได้ 8 ขวบ โยมแม่ก็นำไปฝากกับครูบาปินตา เจ้าอาวาสวัดป่าตึงให้เป็นเด็กวัด หลวงปู่หล้าจึงได้มีโอกาสเรียนหนังสือเป็นครั้งแรกกับครูบาอินตา ซึ่งสมัยนั้นจะเรียนหนังสือพื้นเมือง จนอายุได้ 11 ขวบก็ได้บวชเป็นสามเณรในช่วงเข้ารุกขมูล เข้ากรรมอยู่ในป่า การเข้ากรรม หรือ อยู่กรรม เรียกว่า ประเพณีเข้าโสสานกรรมซึ่งเป็นประเพณีที่สำคัญอย่างหนึ่งของพระพุทธศาสนาที่ถือพระสงฆ์จะต้องถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ซึ่งมักจะกระทำกันในบริเวณป่าช้าที่อยู่นอกวัด พระสงฆ์และผู้ที่เข้าบำเพ็ญโสสานกรรมจะต้องถือปฏิบัติเคร่งครัดเพื่อต้องการบรรเทากิเลสตัณหา ขณะที่บวชเป็นสามเณรอยู่นั้น หลวงปู่หล้าไม่ได้เรียนแต่เพียงหนังสือพื้นเมืองเท่านั้น แต่ยังได้เรียนหนังสือไทยไปด้วย โดยเรียนกับพระอุ่นซึ่งเคยไปจำพรรษาที่วัดอู่ทรายคำในเมืองเชียงใหม่ และเรียนหนังสือไทยที่โรงเรียนประจำมณฑลพายัพ ปัจจุบันคือโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย แต่ครูบาปินตาไม่สนับสนุนให้พระเณรเรียนหนังสือไทย ในที่สุดพระอุ่นจึงต้องเลิกสอน หลวงปู่หล้าศึกษาเล่าเรียนทั้งอักขรวิธีและธรรมปฏิบัติกับครูบาปินตาเรื่อยมาจนกระทั่งอายุได้ 18 ปี จึงเดินทางเข้าไปจำพรรษาอยู่ในเมืองเชียงใหม่ เพื่อเรียนนักธรรมที่วัดเชตุพน

หลวงปู่หล้าเรียนนักธรรมที่วัดเชตุพนเพียง 1 ปียังไม่ทันสำเร็จก็ต้องเดินทางกลับวัดป่าตึง เพื่อปรนนิบัติครูบาปินตาที่ชราภาพ หลวงปู่หล้าอยู่ปรนนิบัติครูบาปินตาจนกระทั่งล่วงเข้าปี พ.ศ.2467 ครูบาปินตาก็มรณภาพด้วยวัย 74 ปีซึ่งขณะนั้นหลวงปู่หล้าอายุ 27 ปีเท่านั้น หลวงปู่หล้ารับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดป่าตึงต่อจากครูบาปินตา เมื่อปี พ.ศ.2467 และได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลออนใต้เมื่อปี พ.ศ.2476
ปี พ.ศ.2477 เมื่อครูบาศรีวิชัย ได้สร้างถนนขึ้นสู่ดอยสุเทพ โดยเริ่มสร้างตั้งแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน 2477 จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2478 รวมเป็นเวลา 5 เดือนกับ 22 วัน ในครั้งนั้นหลวงปู่หล้าได้เดินทางไปร่วมสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพด้วย หลวงปู่หล้าเล่าถึงความยากลำบากในการสร้างถนนไว้ในหนังสือ ประวัติวัดป่าตึงว่า “การสร้างถนนมีการแบ่งงานกันตามกำลังของคน ผู้คนที่ไปร่วมเป็นชาวบ้านจากวัดป่าตึงทำได้ 5 วาใช้เวลา 14 วันส่วนพวกที่มาจากเมืองพานทำได้ 60 วา”จนเมื่อปี 2504 หลวงปู่หล้าได้รับการแต่งตั้งสมณศักดิ์เป็น พระครูจันทสมานคุณ ซึ่งขณะนั้นท่านอายุ 63 ปี มีคนพากันยกย่องหลวงปู่หล้าว่าท่านสามารถรู้เห็นเหตุการณ์ล่วงหน้าได้ มีเรื่องเล่าว่าวันหนึ่งฝนตั้งเค้าจะตกหนัก หลวงปู่บอกให้พระเณรรีบออกจากกุฏิ เพราะกุฏิเก่าและทรุดโทรมมากและมีต้นลานขนาดใหญ่อยู่ข้างกุฏิ ปรากฏว่าวันนั้นฝนตกหนักกิ่งต้นลานก็หักโค่นลงมาทับกุฏิพัง พระเณรที่อยู่ในวัดทุกคนปลอดภัยและพากันสรรเสริญว่าท่านมีตาทิพย์ นอกจากนั้นยังมีเรื่องเล่าอีกว่า เช้าวันหนึ่งเวลาประมาณตี 5 หลวงปู่หล้าให้พระเณรรีบทำความสะอาดวิหารเพราะจะมีแขกมาหาที่วัด ครั้นพอถึงเวลา 6 โมงเช้า พระศรีธรรมนิเทศ เจ้าอาวาสวัดสันป่าข่อยนำญาติโยมมาหา ด้วยเหตุนี้ชาวบ้านจึงพากันเรียกท่านว่า “หลวงปู่หล้าตาทิพย์”

หลวงปู่หล้าเจริญอายุมาถึง 97 ปีก็ถึงแก่มรณภาพเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2536 ยังความเศร้าสลดใจมาสู่พระสงฆ์ สามเณร ศรัทธาญาติโยมทั่วไป และต่างก็มาเคารพศพตั้งแต่วันที่ท่านมรณภาพ จวบจนปัจจุบันนี้ศพของหลวงปู่หล้าถูกบรรจุไว้ในโลงแก้วที่ประดับประดาด้วยดอกไม้ ตั้งอยู่บนกุฏิไม้สักที่งดงามในวัดป่าตึง หลวงปู่หล้าเป็นพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ท่านถือปฏิบัติพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด แม้แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้โปรดฯ เกล้าพระราชทานน้ำสรง ซึ่งยังความปราบปลื้มปิติยินดีมาสู่ศิษยานุศิษย์

แม้ว่าหลวงปู่หล้า จะมรณภาพจากไปแล้ว ก็เป็นเพียงการจากไปแต่สรีระร่างกายเท่านั้น ส่วนคุณงามความดีที่ท่านได้สร้างเอาไว้หาได้ดับไป ด้วยคุณงามความดีที่หลวงปู่หล้าได้บำเพ็ญมาก็ดี คุณงามความดีที่ศิษยานุศิษย์ทั้งหลายได้บำเพ็ญมาก็ดีและคณะศรัทธาญาติโยมบำเพ็ญมาก็ดี ขอจงเป็นพลวะปัจจัยให้ดวงวิญญาณของหลวงปู่ได้ประสบสุขในสัมปรายภพนั้นด้วย.

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น