เกษตรกรขานรับนโยบายจัดสรรที่ดินให้กับเกษตรกร จูงใจคนรุ่นใหม่หันมาทำเกษตรมากขึ้น

ประเทศไทยมีเนื้อที่ทั้งหมด 320.7 ล้านไร่ มีการนำที่ดินไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆแบ่งเป็นพื้นที่ป่า 1,072,410 ไร่ พื้นที่ทางการเกษตร 149,271,848 ไร่ พื้นที่นอกการเกษตร 64,209,430 ไร่  (อิทธิพล ศรีเสาวลักษณ์, 2556) ถึงแม้ว่าประเทศไทยนั้น  จะมีที่ดินจำนวนมากแต่ในขณะเดียวกันจะเห็นได้ว่าปัญหาในเรื่องที่ดินทำกินของเกษตรกรยังคงเป็นปัญหาใหญ่ เช่น มีการใช้พื้นที่ทางการเกษตรเพื่อสร้างเป็นสถานประกอบกิจการทั้งในเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรมหรือนำไปสนองนโยบายภาครัฐ นอกจากนี้ยังมีการใช้ที่ดินผิดวัตถุประสงค์และไม่ได้นำที่ดินที่ได้รับการจัดสรรไปใช้ในการเกษตร
มีการจัดสรรที่ดินให้กับผู้ที่ไม่ใช่เกษตรกรนำไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่น อีกทั้งยังเกิดการรุกล้ำพื้นที่ป่า หรือแม้แต่การครอบครองที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์จะมีความยุ่งยาก เกษตรกรไม่มีคุณสมบัติเพียงพอตามที่กำหนดให้รับการจัดสรรที่ดิน เป็นต้น ซึ่งเป็นปัญหาที่สะสมมานาน และเพิ่มความรุนแรงมากขึ้นเป็นลำดับ ควบคู่ไปกับปัญหาหนี้สินเกษตรกร  เพราะที่ดินเป็นทั้งปัจจัยการผลิต เป็นที่รวมของความเป็นครอบครัวและชุมชน เป็นแหล่งทุนที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น เนื่องด้วยเป็นทรัพยากรที่มีจำกัด อีกทั้งความต้องการในการใช้ที่ดินที่เพิ่มมากขึ้น
รัฐบาลปัจจุบันจึงพยายามหาแนวทางแก้ไขปัญหาในเรื่องที่ดินด้วยวิธีการต่างๆ แต่ก็ยังไม่บรรลุเป้าหมาย เพราะเป็นการแก้ปัญหาระยะสั้น ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงทรัพยากรที่ดิน ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ เนื่องจากมีเกษตรกรยากจนอีกเป็นจำนวนมากไม่มีที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยรัฐบาลมีนโยบายการจัดสรรที่ดินทำกินให้ประชาชนสามารถอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ของรัฐได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย รวมถึงช่วยให้ชุมชนสามารถบริหารจัดการที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีการพัฒนาและส่งเสริมอาชีพเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน ที่สำคัญช่วยลดความขัดแย้งระหว่างรัฐและประชาชนเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรที่ดินได้อีกด้วย(www.thainews.prd.go.th,2561)
ดังนั้นศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร (แม่โจ้โพลล์) จึงได้สำรวจความคิดเห็นของเกษตรกรไทยทั่วประเทศ  ในหัวข้อ “มุมมองของเกษตรกรไทยต่อนโยบายการจัดสรรที่ดินของ ส.ป.ก.” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทราบถึงสถานการณ์การจัดสรรที่ดินตามนโยบายของรัฐบาลให้กับเกษตรกรในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ จำนวน 705 ราย ระหว่างวันที่  25 กรกฎาคม – 7 สิงหาคม 2561 สรุปผลได้ดังนี้
จากการสอบถามกลุ่มตัวอย่างถึงการรับรู้ข่าวสารเกี่ยวกับนโยบายการจัดสรรที่ดินให้กับเกษตรกร ของ ส.ป.ก พบว่า ร้อยละ 79.51 มีการรับรู้ข่าวนโยบาย โดยทราบข่าวจาก สื่อสารมวลชนมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 50.57 รองลงมาทราบจากเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ร้อยละ 41.12 และสุดท้ายทราบจาก คนรู้จัก/คนรอบข้าง ร้อยละ 12.61  ในขณะที่อีกร้อยละ 20.49 ไม่ทราบข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายการจัดสรรที่ดินของ ส.ป.ก. เนื่องจากเห็นว่าข่าวสารดังกล่าวไม่สำคัญและไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาที่ดินในระยะยาว
 เมื่อสอบถามถึงความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายที่มีการจัดสรรที่ดินให้กับเกษตรกรของส.ป.ก. พบว่า ร้อยละ 84.38 เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า เป็นการช่วยเหลือเกษตรกรไทยให้มีสิทธิ์ในที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง ป้องกันการรุกล้ำพื้นที่ป่าสงวนและเพิ่มพื้นที่การเกษตร อีกร้อยละ 10.51 รู้สึกเฉยๆต่อการนโยบายการจัดสรรที่ดินดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า การจัดสรรที่ดินให้เกษตรกร อาจขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่ในแต่ละพื้นที่ และคิดว่านโยบายนี้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่ดินนี้ได้ในระยะยาวและที่เหลืออีกร้อยละ 5.11 ไม่เห็นด้วย เนื่องจากเกษตรกรไม่มีทุนในการทำการเกษตร
เมื่อสอบถามถึงความสามารถในการแก้ไขปัญหาที่ดินทางการเกษตรของการจัดสรรที่ดินของ ส.ป.ก. พบว่า ร้อยละ 64.72  บอกว่า สามารถแก้ไขปัญหาได้ โดยให้เหตุผลว่าสามารถลดต้นทุนเรื่องค่าเช่าที่ดินทำกินของเกษตรกร ป้องกันการรุกล้ำพื้นที่ป่าได้ อีกทั้งยังสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้เนื่องจากเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 27.70 ยังไม่แน่ใจในนโยบายนี้ โดยให้เหตุผลว่า ยังไม่เคยเห็นเกษตรกรตัวอย่างที่ได้รับการจัดสรรที่ดินแล้วนำที่ดินไปใช้ให้เกิดประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ
รวมถึงการที่จะได้รับที่ดินนั้น มีเงื่อนไขในการครอบครองสิทธิ์ที่ยุ่งยาก และอีกร้อยละ 7.58 เห็นว่าการจัดสรรที่ดินของ ส.ป.ก. ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ เนื่องจากเกษตรกรได้รับการจัดสรรที่ดิน ไม่ทั่วถึงและเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ยั่งยืน  เมื่อสอบถามถึงปัญหาและอุปสรรค ที่ทำให้นโยบายการจัดสรรที่ดินของ ส.ป.ก. ไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้  พบว่าปัญหาแรก เป็นปัญหาที่เกิดจากการซื้อขายที่ดินแบบผิดกฎหมาย บางส่วนตกไปอยู่กับนายทุนที่ดินรายใหญ่ ทำให้ที่ดินนั้นไม่ได้นำมาจัดให้เกษตรกรที่ไม่มีที่ดินทำกิน(ร้อยละ 50.64)
รองลงมาเป็นปัญหาที่เกิดจากเกษตรกรไม่มีคุณสมบัติตามที่ ส.ป.ก. กำหนดเพื่อขอรับการจัดสรรที่ดินของ ส.ป.ก.จังหวัด (ร้อยละ 44.52) และเป็นปัญหาที่เกิดจากเกษตรกรผู้ได้รับการจัดสรรที่ดินใช้ที่ดินไม่ตรงกับวัตถุประสงค์การใช้ที่ดินของ ส.ป.ก.(ร้อยละ 39.55)  เมื่อสอบถามถึงความเห็นที่ว่านโยบายการจัดสรรที่ดินของ ส.ป.ก.จะสามารถช่วยดึงดูดให้คนรุ่นใหม่หันมาทำการเกษตรได้หรือไม่นั้น พบว่า ร้อยละ  55.25 มีความเห็นว่าสามารถดึงดูดความสนใจได้ ส่วนร้อยละ 33.24 ไม่แน่ใจ และร้อยละ 11.52 ให้ความเห็นว่า ไม่ดึงดูดความสนใจ
ถึงแม้ผลจากการสำรวจ พบว่าเกษตรกรส่วนใหญ่จะรับรู้ข่าวสารและเห็นด้วยกับการจัดสรรที่ดินให้เกษตรกรตามนโยบายของรัฐบาล แต่ก็เห็นได้ว่าปัญหาที่ดินเป็นปัญหาที่รัฐบาลพยายามแก้ไขมาตลอด แต่เป็นการแก้ไขปัญหาระยะสั้น และการที่เกษตรกรไม่รับรู้ข่าวสารเกี่ยวกับนโยบายก็จะทำให้มีการจัดสรรที่ดินไม่ทั่วถึง เนื่องจากไม่ทราบเงื่อนไขหรือคุณสมบัติตามที่ ส.ป.ก.ต้องการ ยังมีเกษตรกรที่ยากจนที่ยังไม่มีที่ดินทำกิน ไม่สามารถเลี้ยงชีพตัวเองได้ นอกจากนี้ยังมีความผิดพลาดโดยการจัดสรรที่ดินส.ป.ก. จะคัดเลือกเกษตรกรที่จะได้รับแจกที่ดินด้วยความรีบร้อน ทำให้มีเกษตรกรมากกว่า 10% แห่ขอคืนที่ดินของส.ป.ก. ที่ได้รับจัดสรรไป เนื่องจากไม่สามารถใช้ที่ดินได้ตรงวัตถุประสงค์
ดังนั้นคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัด (คปจ.) ต้องดำเนินการคัดเลือกเกษตรกรที่จะได้สิทธิเป็นเจ้าของที่ดินของ ส.ป.ก. ใหม่  เกิดเป็นความเหลื่อมล้ำระหว่างเกษตรกรและนายทุนที่ดินรายใหญ่ เป็นต้น จากปัญหาดังกล่าวทำให้เกษตรกรมีความเชื่อมั่นและคาดหวังว่าการจัดสรรที่ดินให้ในแต่ละพื้นที่จะเป็นการแก้ปัญหาที่ดินเพื่อเพิ่มมูลค่าที่ดินให้กับเกษตรกรและช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งภายในและนอกประเทศให้ดีขึ้น อีกทั้งยังได้เห็นความสำคัญของเกษตรกรและแก้ไขปัญหาให้ตรงจุดต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น