ขัวเหล็กเชียงใหม่

คนต่างถิ่นทั้งชาวไทยและต่างประเทศที่เดินทางมาเยือนเมืองเชียงใหม่ คงไม่มีใครไม่รู้จักชื่อของสะพานนวรัฐ เพราะถือว่าเป็นสะพานสำคัญในการข้ามแม่น้ำปิงระหว่างฝั่งตะวันออกไปฝั่งตะวันตก หากแหล่งท่องเที่ยวในเชียงใหม่ที่ขึ้นชื่อนอกจากวัดพระธาตุดอยสุเทพ วัดพระสิงห์ ไนท์บาร์ซ่าและประตูท่าแพแล้ว ชื่อของสะพานนวรัฐก็รวมอยู่ในสิ่งที่นักท่องเที่ยวรู้จักในฐานะของสะพานข้ามแม่น้ำปิงที่ใช้เป็นสถานที่จัดงานมหกรรมไม้ดอกไม้ประดับอันเลื่องชื่อระบือไกล
สะพานนวรัฐ ที่เห็นและเป็นอยู่ในปัจจุบันเป็นเจอเนอเรชั่นที่ 3 หรือพูดให้เข้าใจง่าย ๆ ว่าสร้างขึ้นมาถึง 3 ยุคแล้ว สะพานนวรัฐอันแรกนั้น สร้างขึ้นมาในสมัยที่เมืองเชียงใหม่ยังใช้การคมนาคมทางน้ำ โดยอาศัยเรือหางแมงป่องบรรทุกสินค้าและคนโดยสารติดต่อธุรกิจและการค้าขายกับหัวเมืองทางภาคกลางรวมถึงกรุงเทพมหานคร เมื่อยังไม่มีถนนหนทางติดต่อระหว่างเมืองใหญ่ ๆ และยังไม่ได้สร้างทางรถไฟขึ้นมาถึงภาคเหนือ เพราะเรือหางแมงป่องนี้สามารถบรรทุกสินค้าได้มากกว่าการขนส่งทางบกซึ่งอาศัยวัวต่าง ม้าต่างบรรทุกของสะพานอันแรกสร้างขึ้นด้วยไม้สักล้วน (ประมาณปี พ.ศ.2440 – 2450) เป็นสะพานแบบคานยื่น วิศวกรชาวอิตาเลียนชื่อ เคานต์ โรเบอร์ตี้ เป็นผู้ออกแบบและก่อสร้าง สร้างบนตอม่อไม้สัก 6 ตอม่อด้วยกัน โครงส่วนบนสร้างด้วยไม้สักล้วนทำเป็นรูปโค้งครึ่งวงกลมมีอยู่ 5 ช่วง เคานต์ โรเบอร์ตี้ ผู้นี้ยังเป็นผู้สร้างสะพานข้ามแม่น้ำวังที่จังหวัดลำปางก่อนที่จะสร้างสะพานรัชฎาภิเษกขึ้นมาอีกด้วย

สะพานนวรัฐอันแรกนี้ไม่ใช่สะพานข้ามแม่น้ำปิงแห่งแรกของเชียงใหม่ สะพานที่ใช้สำหรับข้ามแม่น้ำปิงอันแรกของเชียงใหม่ คือสะพานข้ามแม่น้ำปิงหน้าวัดเกตุการาม หรือ “ขัวเก่า” สร้างโดย ดร.มาเรียน เอ็ม.ชีค มิชชั่นนารีชาวอเมริกันที่เข้ามาเผยแพร่คริสตศาสนาในสมัยของ ดร.แมคกิลวารี มิชชั่นนารีชาวอเมริกันคนแรกที่มาเชียงใหม่เมื่อกว่า 100 ปีมาแล้ว
ป้าซิวเฮียง โจลานันท์ เกิดเมื่อปี พ.ศ.2459 ซึ่งบ้านของท่านอยู่ร้านวิศาลบรรณาคาร ให้สัมภาษณ์ไว้ในหนังสือ “เชียงใหม่สะป๊ะเรื่องตะวา” ของ พ.ต.ท.อนุ เนินหาด เมื่อปี พ.ศ.2542 ว่า “..ทันเห็นขัวเก่าตั้งแต่เด็กแล้ว สะพานนี้เป็นสะพานไม้สักขนาดใหญ่กว้างพอ ๆ กับสะพานนวรัฐ เสาก็เป็นเสาไม้สัก (น่าจะหมายถึงสะพานนวรัฐที่ 1 ซึ่งคาดว่าสร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ.2459 ก่อนที่ท่านเกิด)

สะพานนวรัฐแห่งที่ 1 ซึ่งสร้างด้วยไม้สักนี้ถูกไฟไหม้เสียหายบางส่วน ต่อมาในฤดูน้ำหลากถูกซุงไม้สักจำนวนมากกระแทกพังเสียหาย ประกอบกับในช่วงเวลานั้นได้มีการสร้างทางรถไฟขึ้นมาถึงเชียงใหม่ ทางราชการจึงได้รื้อออกแล้วสร้างเป็นสะพานนวรัฐแห่งที่ 2 ขึ้นมา สะพานนวรัฐแห่งที่ 2 นี้ใช้ชื่อว่า “สะพานนวรัฐ” เพื่อเป็นเกียรติแก่เจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่สมัยนั้น สะพานแห่งนี้เป็นสะพานโครงเหล็ก สร้างบนตอม่อคอนกรีตเสริมเหล็ก ส่วนบนเป็นโครงเหล็กล้วนมี 5 ช่วง สร้างโดย มาควิส กัมเบียโซ่ วิศวกรชาวอิตาเลียน โดยโครงเหล็กทั้งหมดส่งมาจากบริษัทคลิฟแลนด์ ประเทศอังกฤษ ในยุคที่สร้างสะพานนวรัฐแห่งที่ 2 หรือ “ขัวเหล็ก” ได้มีการสร้างทางรถไฟมาถึงเชียงใหม่แล้ว สะพานแห่งนี้รับใช้ชาวเชียงใหม่ได้หลายสิบปี เมื่อชียงใหม่มีความเจริญขึ้น ยวดยานพาหนะก็มีจำนวนมากขึ้นด้วย สะพานซึ่งสร้างมานานเริ่มมีความคับแคบไม่เหมาะสมกับสภาพการจราจรในสมัยนั้น ทางการจึงได้รื้อ “ขัวเหล็ก” ออกแล้วสร้างสะพานนวรัฐแห่งที่ 3 ขึ้นซึ่งเป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กที่ใช้กันในปัจจุบัน

สะพานนวรัฐ แม้ว่าจะผ่านวันเวลามายาวนานกว่า 100 ปี แต่ด้วยคุณค่าของสะพานที่ใช้เป็นทางสัญจรของชาวเชียงใหม่ระหว่างฝั่งตะวันออกไปฝั่งตะวันตกของเมือง อีกทั้งยังเป็นสะพานประวัติศาสตร์ที่อยู่คู่เมืองเชียงใหม่ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ชื่อของ “สะพานนวรัฐ” จึงอยู่ในความทรงจำของคนทุกวัยในแต่ละยุคสมัย

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น