ติงเลื่อนเลือกตั้งท้องถิ่น อปท.อยู่พลางๆเกียร์ว่าง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ระบุว่ากฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่น 6 ฉบับประกอบด้วยพ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2545 พ.ร.บ.อบต.      พ.ศ. 2537 พ.ร.บ.อบจ. พ.ศ. 2540 พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ. 2496 พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการ กทม.        พ.ศ. 2528 และ พ.ร.บ.บริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2542 พิจารณาปรับแก้เสร็จแล้ว 5 ฉบับเหลือเพียงพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการ กทม.ที่ล่าช้า แต่ทั้ง 5 ฉบับจะชงเข้าที่ประชุมครม.ให้ทันในเดือน ส.ค.นี้
ด้านนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น(สถ.) กล่าวว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นจะมีขึ้นเมื่อกกต.ประกาศหลังจากกฎหมายทั้ง 6 ฉบับ ประกาศในราชกิจจาฯ หาก 5 พรบ.เข้า สนช.  ประมาณสิงหาคม ซึ่งมี 3 วาระ จะเข้าห้วงเดือนพย.พอดี หลังจากนั้นกราบบังคมทูล เพื่อทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยลงพระปรมาภิไธย ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา  เมื่อถึงขั้นตอนนั้นจึงจะเริ่มคุยกันว่าจะเลือกตั้งเมื่อไหร่ โดย กกต.ประกาศชัดว่า ก่อนเลือกตั้งใหญ่ 3 เดือน จะไม่จัดการเลือกตั้งใด ๆ ถ้ามีเลือกตั้งระดับชาติ กพ.62 ก็ต้องให้พ้นจากนั้น 2-3 เดือนก่อน และหากจะเป็นเดือนพย. 2561 ซึ่งเร็วกว่าเลือกตั้งใหญ่เป็นไปได้ยาก เพราะกฎหมายไม่เสร็จ อย่างไรก็ตามสถ.เตรียมจัดตั้งกองการเลือกตั้งขึ้นซึ่งกำลังคนนั้น นำมาจากสำนักกฎหมาย เนื่องจากทั้ง 7,852อปท. จะมีการเลือกตั้งนายกเทศบาล อบต.,เทศบาล, สมาชิกสภา ฯลฯ ซึ่งจะเกิดขึ้นตลอดทั้งปีจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น สมาชิกเสียชีวิต ลาออก หรือถูกปลด ต้องมีส่วนงานดูแลการเลือกตั้ง เพราะหากทำผิดพลาดจะส่งผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้-ส่วนเสีย
รวมถึงการจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นอำเภอ ทำหน้าที่ผู้ช่วยนายอำเภอ 5 ด้านหลัก หน่วยงานกำกับดูแล ด้านการเงินและการบัญชีให้นายอำเภอ-สิ่งแวดล้อม-สาธารณสุข-กฎหมาย-พัฒนาคุณภาพชีวิต ตั้งเป้าเสร็จปีงบ62 นี้ซึ่งนำเสนอเรื่องให้คณะอนุกรรมการสามัญ (อ.ก.พ.) ก.มหาดไทย เห็นชอบในหลักการและอนุมัติแล้ว เป็นสิ่งที่จำเป็น เนื่องจากมีอปท. 7,852 แห่ง 7,255 ตำบล และ878 อำเภอ ดังนั้นการให้นายอำเภอ 1 คน ไปกำกับดูแลคนเดียวเป็นไปไม่ได้ ต้องมีคนเข้าไปช่วย
ในขณะที่คณะกรรมการชมรมอปท.เชียงใหม่ ยอมรับว่า ระหว่างผู้บริหารอปท.รักษาการพลางๆนั้น ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีอปทใด ขยับทำงานที่มีแผนลงทุน ประกอบกับข้าราชการประจำระดับปลัด และหัวหน้างาน หรือผอ.มีการปรับโยกย้ายด้วย การจะเดินเครื่องแผนอะไรมาก ก็จะถูกกล่าวหาว่าตุนเสบียงจากงบประมาณ เพราะแต่ละพื้นที่ มีกลุ่มขั้วการเมืองแตกต่างกัน บางพื้นที่รุนแรงจ้องจับผืดตลอดก็ทำให้กดดัน ต้องเกียร์ว่างกัน ดังนั้นหากไม่เลือกตั้งตามแผน เกรงว่า ท้องถิ่น ประชาชนจะเสียประโยชน์ในด้านการพัฒนาต่างๆ

ร่วมแสดงความคิดเห็น