ออกกฎจัดโซนนิ่งปลูกข้าว คุมชาวนา ไทยแชมป์โลกค้าข้าวมาถึงจุดนี้ได้ไง

เห็นข้อมูลตัวเลขการส่งออกข้าวของไทยช่วงไตรมาสแรกปีนี้ ไทยยังครองแชมป์โลกขายข้าว 2,777,559 ตัน มูลค่า 44,099 ล้านบาท ส่งไปที่เบนิน กลุ่มประเทศแถบแอฟริกาตะวันตก 515,759 ตัน ไปจีน 232,835 ตัน ฟิลิปปินส์ 185,719 ตัน แอฟริกาใต้ 171,191 ตัน อินโดนีเซีย 169,099 ตัน ตลอดระยะเวลากว่า 10-20 ปีข้าวไทยส่งออกแชมป์โลก แต่ทำไมชาวนายังยากจนพ่อค้ารวยทุกฤดู เหตุผลบางมุมคือต้นทุนที่ชาวนายังต้องแบกรับเฉลี่ยต่อไร่ 5-6 พันบาท ขายได้7-8 พันบาท จึงไม่ต้องแปลกใจว่าช่วงเปิดเทอม เปิดฤดูกาลเพาะปลูก ชาวนาจะต้องวิ่งกู้ธกส.บางพื้นที่เอาเครื่องสูบน้ำไปจำนำก็มี ราคาข้าวล่าสุดวันนี้ ข้าวหอมมะลิ ข้าวเปลือกความชื้น 15% ราคา 15,000-17,700 บาท/ตัน เพิ่มขึ้น 3,900-4,100 บาท/ตัน ข้าวเปลือกปทุมธานี 1 ราคา 10,000-11,500 บาท/ตัน เพิ่ม 1,100-1,800 บาท/ตัน เพิ่ม 2,000-3,400 บาท/ตัน ข้าวเปลือกเจ้า 5 % ราคา 7,800–7,900 บาท/ตันเพิ่มขึ้น 100-200 บาท/ตัน เกือบทุกรายการราคาดี แต่หนี้ชาวนาก็ยังไม่ลด
ล่าสุดกับความพยายามนำเสนอร่าง พ.ร.บ.ข้าวฉบับที่ พ.ศ…. หรือฉบับสนช.สาระสำคัญของร่าง เช่นมาตรา 6 ให้มีคณะกรรมการข้าว (คกข.) ให้อำนาจจัดโซนนิ่งข้าว จัดทำแผนพัฒนาข้าวและชาวนาให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ ยกระดับ หน่วยงานที่ดูแล เช่นกรมการข้าวเป็นสำนักงานข้าว ที่สำคัญคือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว จนถึงโรงสีข้าวต้องขึ้นทะเบียนกับสำนักงาน คกข.กำหนดให้มีการผลิตข้าวตามพันธุ์ข้าวที่มีความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ ไม่ใช่ชาวนาคิดจะปลูกข้าวอะไรก็ได้ตามใจฉัน ต่อไปไม่ได้แล้ว เพราะจะมีบทกำหนดโทษ เช่น ห้ามมิให้ผู้ใดจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวซึ่งไม่ได้รับการรับรองตามพรบ.นี้ ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ, ห้ามมิให้ผู้ใดจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวเสื่อมคุณภาพ หรือเมล็ดพันธุ์ข้าวปลอมปน ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เป็นต้น
อย่างไรก็ตามมีข้อโต้แย้งจากฝ่ายนักวิชาการและเครือข่ายชาวนา ตลอดจนหลายๆภาคส่วน ระบุว่า ประเด็นเรื่องข้าวนั้นไม่ใช่มีกรมการข้าวดูแล แต่ยังมีกรมการค้าภายใน ทำหน้าที่กำกับการซื้อขายข้าวตาม พ.ร.บ.การค้าข้าว พ.ศ. 2498 ทางออกคือ ไม่ต้องยกร่างกฎหมายใหม่ แต่ควรเพิ่มความเข้มข้นในการบังคับใช้กฎหมายเดิมให้ประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการ ต้องจัดวางคณะทำงานที่หลากหลาย
นำผู้รู้ มีความสามารถจริงเข้ามากำกับดูแล วางนโยบาย และเปิดทางให้ตัวแทนชาวนาเข้าร่วม ไม่ใช่จัดวางใครก็ได้เข้าไปเป็นปากเสียงแทนแล้วอ้างว่าคือ ตัวแทนชาวนาส่วนใหญ่ทั้งประเทศ ที่ผ่านๆมา บทบาทตัวแทนชาวนาแต่ละพื้นที่ ทำหน้าที่อย่างทุ่มเท นำเสนอปัญหาเข้าไปแต่ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เกิดขึ้นตามที่ร้องขอ
สุดท้ายก็วนมาในกรอบ จัดระเบียบการปลูกข้าวที่เหมาะสม แต่ละพื้นที่ มีการขึ้นทะเบียนชาวนา ทำนา มีสารพัดแผนงาน ยุทธศาสตร์เข้ามาจัดการเรื่องข้าว ยังไม่ยอมรับความจริงว่า การปลูกข้าว ไม่ใช่หนทางที่เกษตรกร ชาวนา จะหลุดพ้นจากวังวนความยากจนได้ เช่นเดียวกับกาเพาะปลูกพืช ผลผลิตต่างๆ ตราบใดที่กลไกตลาด และราคา ยังอยู่ในกลุ่มทุน ผู้ค้า ล้งใหญ่ๆไม่กี่รายในประเทศนี้

ร่วมแสดงความคิดเห็น