หัตถศิลป์ช่างเงินวัวลาย สืบสานสล่าล้านนาในวัด

หลังจากเชียงใหม่ ตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่ากว่า 200 ปี เมืองที่เคยมีชีวิต กลับร้างลาผู้คนที่หนีหลบซ่อนตามป่าเขา กว่าพระยากาวิละจะมากอบกู้ฟื้นคืนเมือง โดยมีการกวาดต้อนไพร่ฟ้าจากอาณาบริวารใกล้ๆมาร่วมสร้างบ้าน สร้างเมืองเป็นธรรมเนียมปฎิบัติมานาน กับวิธีคิดของชนชั้นอำนาจที่พวกช่างมีฝีมือ มักจะอยู่ในภายในกำแพงเมือง ส่วนไพร่ต้องอยู่นอกเมือง
ครั้งนั้นกลุ่มช่างเงินที่อพยพมาจากรัฐฉาน มาตั้งชุมชนใกล้ๆกลุ่มไทเขิน พร้อมเรียกชุมชนใหม่ว่า วัวลายหรืองัวลาย ไม่ห่างจากประตูเมืองเชียงใหม่ ปัจจุบันคือย่านวัวลาย นครเชียงใหม่ แรกๆการประดิษฐ์เครื่องเงิน มักจะเป็นเครื่องราชบรรณาการ สิ่งของประดับที่เจ้านายสมัยนั้นต้องการ ต่อมาเมื่อกลุ่มชนชั้นสูง หันไปอภิรมณ์กับเครื่องทอง บรรดาเครื่องเงินกลายเป็นของประดับทั่วๆไปสำหรับสามัญชนทั่วนคร กลุ่มสล่าหลวงที่เคยรับใช้ชนชั้นปกครอง หันมาถ่ายทอดภูมิปัญญา จากรุ่นสู่รุ่น จนเกิดสล่าเมือง สล่าตังป๋าย หรือช่างเงินฝึกหัด เวลาผ่านพ้นไป ฝีมือช่างสู่ช่าง สล่าสู่สล่า ทำให้ย่านวัวลาย กลายเป็นย่านงานหัตถศิลป์เครื่องเงินที่ลื่อเลื่องทั่วปฐพี
จากเดิมที่เคยใช้วัตถุดิบ ประเภทเงินรูปีอินเดีย ซึ่งมีเนื้อเงินราวๆ 92.5 % กับเงินราง เงินหมันจากสิบสองปันนา ที่มาพร้อมกลุ่มพ่อค้าแดนไกล เมื่อความต้องการของตลาดเพิ่มขึ้น จากความเป็นเมืองท่องเที่ยว ก็มีการนำแร่เงิน วัตถุดิบสำเร็จรูปมาใช้ในการรังสรรค์งาน ผู้ค้าเครื่องเงิน ย่านวัวลาย นครเชียงใหม่เล่าให้ฟังว่า เครื่องเงินแต่ละชิ้น เมื่อ 80-90 ปีก่อนโน้น ไม่มีร้านรวง จำหน่าย จะทำกันในบ้านแต่ละบ้าน และผู้คนจะรับรู้กันว่า บ้านไหน ฝีมือดี ถนัดลาย หรือขึ้นชื่อในด้านใดทั้งสร้อย กำไล คุ้มหู แหวน สลุง พาน ถาด เซี่ยนหมาก ซึ่งในอดีตจะมีรูปแบบให้เลือกไม่มาก แตกต่างจากสมัยนี้ ที่ทำได้ทุกความต้องการ แม้กระทั่งการสร้างวิหาร อุโบสถ ประตู หน้าต่าง เป็นเงินผสม เงินแท้ ตามความต้องการของตลาดและลูกค้า
จึงไม่แปลกที่ วัดดังๆในย่านวัวลาย ทั้งวัดหมื่นสาร วัดศรีสุพรรณ จะมีเอกลักษณ์ ที่โดดเด่นกับงานประติ มากรรม การก่อสร้างจากเงิน เป็นวิหาร อุโบสถ พระพุทธรูป สิ่งเคารพบูชาต่างๆ รวมถึง การเปิดอบรม ถ่ายทอดภูมิปัญญาการทำเครื่องเงิน ทั้งการขึ้นรูปภาชนะเครื่องเงิน การสลักดุนโลหะเงิน การทำเครื่องประดับจากเงิน และงานหัตถกรรมเครื่องเงิน เป็นมิติทางเจตคติ ที่น่านิยมยกย่องชื่นชม กับการที่วัด ให้ความสำคัญต่อการคงรักษา เอกลักษณ์ วัฒนธรรมที่เรียกว่า ภูมิปัญญาท้องถิ่น ผ่านช่างเงินหรือ สล่าเงิน ไม่ให้เลือนหายไปกับกาลเวลา
แม้ลวดลายบางส่วน มักจะสะท้อนผ่านงานหัตถศิลป์ เพื่อบ่งบอกยุคสมัย แต่รูปรอยลายลีลาในแบบเดิมๆที่งดงาม ทรงคุณค่ายิ่ง ก็ยังมีการสืบทอดผ่านชิ้นงาน โดยคนรุ่นใหม่ๆ เครื่องเงิน ในฐานะบรรณาการ อันล้ำค่า ยังทรงคุณค่าในวิถีหัตถกรรม หัตถศิลป์ล้านนา แม้ว่า ราคา อาจลดน้อยถอยลงไปกับความนิยมเมื่อเทียบกับทองคำ แต่เงินก็ยังคือเงินที่งอกงามในใจผู้คนเสมอ

ร่วมแสดงความคิดเห็น