ศาลาธนารักษ์เชียงใหม่ พิพิธภัณฑ์ “เงินล้านนาและเครื่องราชฯ”

พิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงเงินตราของล้านนาในเชียงใหม่มีอยู่ไม่กี่แห่ง หากไม่นับพิพิธภัณฑ์เงินตราของธนาคารแห่งประเทศไทยบนถนนโชตนาแล้ว ที่พิพิธภัณฑ์เงินล้านนาของศาลาธนารักษ์ก็เป็นหนึ่งในพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงเกี่ยวกับเงินล้านนาสมัยต่าง ๆ ได้อย่างน่าสนใจทีเดียว ศาลาธนารักษ์นอกจากจะเป็นสถานที่ให้บริการแลกเปลี่ยนและจัดจำหน่ายเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกแล้ว ที่นี่ยังเป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงเงินตราและเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่หาชมได้ยากอีกด้วย ภายในอาคารศาลาธนารักษ์ได้แบ่งส่วนของการจัดแสดงเป็น 2 ชั้น ชั้นล่างจัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียนตามวาระต่าง ๆ เมื่อเดินขึ้นไปชั้นบนบริเวณระเบียงก่อนเข้าสู่ห้องจัดแสดงมีภาพเจ้านายฝ่ายเหนือในอดีต และนิทรรศการกีฬาซีเกมส์ ที่เชียงใหม่เป็นเจ้าภาพเมื่อปี พ.ศ.2538
ในส่วนของห้องแสดงได้แบ่งออกเป็น 4 ส่วนคือ ห้องแสดงเครื่องราชอิสริยยศ ประกอบด้วยหมวดเครื่องสิริมงคลและหมวดเครื่องอุปโภค เครื่องราชอิสริยยศนี้แต่เดิมพระมหากษัตริย์จพระราชทานให้แก่ผู้ที่กระทำความดีความชอบให้กับแผ่นดิน เพื่อเป็นเครื่องแสดงเกียรติยศหรือใช้ประกอบเกียรติยศของผู้ที่ได้รับพระราชทาน การพระราชทานเครื่องราชอิสริยยศเป็นประเพณีที่มีมาเก่าแก่แต่โบราณ ยังไม่มีหลักฐานปรากฏที่แน่ชัดว่าเริ่มขึ้นในสมัยใด แต่เท่าที่มีหลักฐานยืนยันพบว่ามีการพระราชทานมาตั้งแต่เริ่มสถาปนากรุงศรีอยุธยา ถัดมาคือส่วนที่ 2 จัดแสดงเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฏ นอกจากนี้ยังมีเหรียญราชอิสริยาภรณ์แบบต่าง ๆ เช่น เหรียญบำเหน็จกล้าหาญ ,เหรียญบำเหน็จความชอบ ,เหรียญบำเหน็จในพระองค์และเหรียญที่ระลึกจัดแสดงไว้ด้วย
สำหรับความเป็นมาของการจัดทำเครื่องราชอิสริยาภรณ์ แต่เดิมนั้นเมื่อตั้งแต่ครั้งสมัยอยุธยาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ เมื่อผู้ใดทำความดีความชอบให้กับแผ่นดินก็จะได้รับการบำเหน็จรางวัลจากพระมหากษัตริย์คือการพระราชทานเครื่องราชอิสริยยศ ซึ่งประกอบด้วยเครื่องใช้หลายประเภท จัดทำด้วยวัสดุที่มีค่า เช่น เงิน ทองคำ แกะสลักเป็นลวดลายต่าง ๆ อย่างสวยงามอันเป็นเครื่องแสดงฐานะ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างตราประจำตำแหน่งพระราชทานแด่พระบรมวงศานุวงศ์และเสนาบดี เช่นตราประจำตำแหน่งสมุหกลาโหม ตราประจำตำแหน่งสมุหนายกควบคู่กับการพระราชเครื่องยศ ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย ต่อมาปี พ.ศ.2412 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ตราพระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยได้มีการกำหนดชื่อ ชั้นและสายสะพายรวมทั้งมีการปรับปรุงและสร้างชนิดของดวงตราและดาราเพิ่มขึ้น
ถัดจากห้องจัดแสดงเครื่องราชอิสริยาภรณ์เป็นส่วนที่ 3 คือ ห้องจัดแสดงวิวัฒนาการเงินตราไทยเมื่อสมัยแรกเริ่มมีการค้าขายกับอาณาจักรต่าง ๆ ซึ่งเงินตราที่ใช้ในแต่ละสมัยก็มีความแตกต่างกัน เงินตราสมัยก่อนบางทีรูปทรงเป็นเหรียญกลมก้อน บางชนิดเป็นเหรียญกลมแบน เช่น เงินตราที่ใช้ในสมัยอาณาจักรฟูนันจะเป็นเหรียญกลมแบนมีลวดลายทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ส่วนใหญ่เป็นรูปพระอาทิตย์และพระศรีวัตสะ อันเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความเชื่อและทัศนคติทางศาสนาพราหมณ์ สันนิษฐานว่าเป็นเหรียญที่นำเข้ามาโดยการติดต่อค้าขายกับพ่อค้าชาวอินเดีย
ส่วนที่ 4 ซึ่งเป็นส่วนสุดท้าย จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับอาณาจักรล้านนาในอดีต โดยเน้นเฉพาะเงินตราที่เป็นเอกลักษณ์ของล้านนา รวมทั้งจัดแสดงเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกเนื่องในวโรกาสสำคัญ เกี่ยวกับชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ นอกจากนั้นยังมีเงินตราสมัยต่างๆ เช่นอาณาจักรศรีวิชัยเป็นเงินดอกจันทน์และเงินอีกชนิดหนึ่งมีอักษรสันสกฤต “น” ประทับบนตัวเงินเรียกว่า “เงินนโม” ซึ่งเป็นเงินตราสมัยศรีวิชัยที่หาดูได้ยากก็มีให้ชมที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ในส่วนของเงินล้านนาก็ได้จัดแสดงไว้เช่นกัน โดยมีการนำเงินตราของล้านนาเมื่อครั้งที่ยังมีการติดต่อค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เงินแท่งของจีน ตลอดถึงการพัฒนาประดิษฐ์เงินตราขึ้นใช้เอง เช่น เงินเจียง เงินท็อก เงินใบไม้และเงินปากหมู เป็นต้น
บริเวณชั้นล่างของศาลาธนารักษ์ยังเป็นที่จำหน่ายเหรียญกษาปณ์และเหรียญที่ระลึกในโอกาสต่าง ๆ สามารถซื้อหาได้ที่นี่ นอกจากจะจัดจำหน่ายเหรียญที่ระลึกแล้วยังรับแลกคืนเหรียญกษาปณ์รุ่นเก่าทุกชนิดอีกด้วย ศาลาธนารักษ์จังหวัดเชียงใหม่ ถือเป็นพิพิธภัณฑ์เงินตราที่ครบวงจรแห่งแรกของเมืองเชียงใหม่ เปิดให้เข้าชมทุกวันจันทร์ถึงวันเสาร์ ตั้งแต่เวลา 9.00 น.ถึง 15.30 น. สำหรับสถานศึกษาที่ต้องการจะเข้าชมเป็นหมู่คณะสามารถทำหนังสือขออนุญาตได้ที่ศาลาธนารักษ์เชียงใหม่ เลขที่ 52 ถนนราชดำเนิน ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ หรือโทรศัพท์สอบถามได้ที่ 0-5322-4237-8 http://www.treasury.go.th
บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น