แพทย์เตือน!! ระวังโรคพยาธิในกระบือ แนะวิธีปฏิบัติตนเพื่อป้องกันโรค

วันที่ 22 สิงหาคม 2561 นพ.สุเมธ องค์วรรณดี ผอ.สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 เชียงใหม่ กล่าวว่า จากเหตุการณ์ ที่มีกระบือป่วยตายในบางพื้นที่ของภาคเหนือตอนบน ด้วยอาการซึม ขาอ่อน ไม่มีแรง เดินขาปัด ผอม การสอบสวนโรคในครั้งนี้ พบว่า กระบือที่ตายถูกเลี้ยงโดยปล่อยให้หากินตามธรรมชาติ ปล่อยให้กินหญ้ารอบหนองน้ำ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีน้ำขังเกือบตลอดปี ซึ่งสภาพแวดล้อมดังกล่าวเหมาะสม อย่างยิ่งต่อการขยายพันธุ์ของพยาธิใบไม้ตับ และพยาธิใบไม้กระเพาะ (พยาธิเม็ดทับทิม)
โดยพยาธิเหล่านี้ เมื่อฟักออกเป็นตัวจะไปอาศัยอยู่ในหอยทากน้ำจืดและหอยคัน กลายเป็นตัวอ่อนระยะติดต่อ จากนั้นพยาธิจะออกจากหอยไปเกาะอยู่ตามหญ้าหรือพืชน้ำ เมื่อกระบือไปกินจึงทำให้พยาธิเข้าสู่ร่างกาย ส่งผลให้กระบือเจ็บป่วยและตายในที่สุด นอกจากนี้ตัวอ่อนระยะติดต่อที่ออกจากหอย สามารถไชเข้าไปอยู่ตามเกล็ด หรือเข้าไปอยู่ในตัวปลาน้ำจืด หากคนกินปลาดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ ก็จะติดพยาธิใบ ไม้ตับได้ ดังนั้น สคร.1 ชม.จึงขอแนะนำประชาชน ให้ระวังและตระหนักถึงการกินอาหารที่มีความเสี่ยงต่อการติดโรคพยาธิใบไม้ตับ และโรคที่เกิดจากการกินเนื้อสัตว์สุกๆดิบๆ ดังนี้
1.หากพบสัตว์ตายหรือป่วยผิดปกติ ขอให้รีบแจ้งปศุสัตว์ในพื้นที่หรือ จนท.ที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการวินิจฉัย รักษาหรือกำจัดอย่างถูกต้อง
2.หลีกเลี่ยงการสัมผัส หรือชำแหละซากสัตว์ที่สงสัยว่าเป็นโรค หากจำเป็นต้องสัมผัสให้สวมถุงมือยางแว่นตา และหน้ากากอนามัยทุกครั้ง
3. หลีกเลี่ยงนำสัตว์หรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ที่สงสัยว่าป่วยตายมากิน แจกจ่าย ขาย หรือนำไปให้สัตว์อื่นกิน
4. ไม่นำเนื้อสัตว์ที่ตายโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือตายผิดปกติ ไปประกอบอาหาร เพราะเสี่ยงต่อการติดโรค เช่น โรคพยาธิ โรคพิษสุนัขบ้า โรคบรูเซลโลสิส โรคไข้หูดับ โรคแอนแทรกซ์ ฯลฯ5. หลีกเลี่ยงการปรุงและรับประทานอาหารแบบสุกๆ ดิบๆ จากเนื้อ กระบือ โค เช่น ลาบ ส้า หลู้ และวิธีที่จะทำให้อาหาร “สุก” นั้น ต้องใช้ความร้อนเท่านั้น จึงจะสามารถฆ่าพยาธิและเชื้อโรคได้
6. ผู้ที่ชอบรับประทานพืชน้ำ เช่น ผักบุ้ง ผักกระเฉด สายบัว ผักแว่น หรือผักที่ขึ้นตามแหล่งน้ำธรรมชาติ ควรล้างให้สะอาดทีละใบ ขัดถูทุกซอกทุกมุม ผ่านน้ำไหล และแช่ในน้ำด่างทับทิมเพื่อความปลอดภัยควรนำผักไปลวกในน้ำร้อนหรือต้มให้สุก เพื่อกำจัดไข่และตัวอ่อนของพยาธิที่เกาะตามพืชน้ำ
7. ถ่ายอุจจาระลงในส้วม ไม่ควรถ่ายลงในน้ำ ห้วย หนอง คลอง บึง หรือที่ชื้นแฉะ หากจำเป็นให้ขุดหลุมฝังกลบ หรือใช้ส้วมมือถือ แล้วฝังในดิน หลังถ่ายอุจจาระล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจล
8. หากเคยกินหรือรับประทานอาหารดิบ ควรไปตรวจอุจจาระหาไข่พยาธิตามสถานบริการสาธารณสุข หากมีพยาธิให้รักษาด้วยยา และเลิกกินอาหารดิบหรือสุกๆ ดิบๆ
9. หลีกเลี่ยงการซื้อหรือบริโภคเนื้อสัตว์ ที่ไม่ทราบแหล่งที่มา หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
ที่มา : สำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค และ รายงานการสอบสวนโรคฯ

ร่วมแสดงความคิดเห็น