อาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ในอดีต กับวันล่มสลายของ”ล้านนา”

การถือกำเนิดขึ้นของอาณาจักรล้านนา ในบันทึกประวัติศาสตร์ บ่งบอกไว้หลายตำรา แต่ที่น่าเชื่อถือเชิงประจักษ์จากหลักฐานทางโบราณคดีคือ พญามังราย ผู้สืบเชื้อสายลาวจักราช ลำดับที่ 25 แห่งราชวงศ์ลาว กษัตริย์นครเงินยาง ได้แผ่ขยายอาณาจักรจากลุ่มน้ำกก ลงมาตามที่ราบลุ่มแม่น้ำปิง หากเมืองใด มีผู้ปกครองเข้มแข็ง ก็ทรงใช้วิธีผูกมิตรไมตรีเป็นเมืองพี่เมืองน้อง ดังเช่นเมืองพะเยาของพญางำเมือง การ รวบรวมหัวเมืองน้อยใหญ่เป็นโยนกนคร ใช้เวลาไม่น้อย และได้กลายเป็นฐานที่มั่นคงให้พระองค์รุกสู่หริภุญไชยนคร ซึ่งเป็นแคว้นที่มีความเรืองรอง เสมือนตัวแทนขุมทองของกรุงสุโขทัย

เมื่อพระองค์ผนวกหริภุญไชย เข้ากับโยนกนครได้สำเร็จ กลายเป็นปฐมบทแห่งอาณาจักรล้านนาอันยิ่งใหญ่ ตำนานพื้นเมือง บอกเล่าความอัศจรรย์ของการผูกสัมพันธไมตรี ระหว่างพญางำเมือง พ่อขุนราม คำแหง และ พญามังราย จนกลายเป็น มิตรสหายร่วมน้ำสาบาน
” แม้นว่าใจมิภักดิ์ ผิดสัจจาธิษฐานแห่งน้ำใจที่อ้างต่อฟ้า เบื้องหน้าขอให้ ผู้นั้นมีอันเป็นไป” ซึ่งกาลเวลาแลบันทึกประวัติศาสตร์ ได้พิสูจน์คำอธิษฐานนี้แล้ว 3 กษัตริย์ร่วมสถาปนา นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่เป็นศูนย์กลาง บริหารจัดการในทุกๆด้าน มีการตรากฎหมายที่เรียกว่า มังรายศาสตร์ เพื่อปกครองอาณา จักร ให้เป็นแบบแผนเดียวกัน

ต้องยอมรับในพระปรีชาญาณ”พญามังราย”ปฐมกษัตริย์ล้านนา ที่ทรงเลือกเชียงใหม่เป็นที่ตั้ง ด้วยศักยภาพเมือง สามารถควบคุมเส้นทางคมนาคม ได้ทุกด่านการค้า ไม่ว่าจะเลือกไปแคว้นโยนก พร้อมเมืองบริวาร หรือ จากแคว้นหริภุญไชยสู่สุโขทัย เป็นเครือข่ายเส้นทางการค้า ที่มาพร้อมกับการเปิดสังคมในการผูกสัมพันธไมตรี
พระองค์ไม่ทรงเน้นการรุกราน ควบคุมแต่มุ่งสู่การบริหารดั่งบันทึกว่า “คนทั้งหลายอยู่เมืองใด ก็หากเป็นข้าเป็นน้อยแก่ท้าวพระยาเมืองนั้น” ด้วยแนวคิดที่รับอิทธิพลความเชื่อ ความศรัทธาในพระพุทธศาสนา ลัทธิลังกาวงศ์ ในยุคนั้นเป็นต้นแบบให้ กษัตริย์ในลำดับต่อๆมารับเป็นองค์อุปถัมภ์ ยอยกพระศาสนา เป็นศูนย์รวมแห่งจิตใจที่งดงาม เบ่งบานทั่วอาณาจักร

ประวัติศาสตร์ว่าไว้ ยุคทองของศาสนจักรในแผ่นดินล้านนา บังเกิดในรัชสมัยพญากือนา กษัตริย์องค์ที่ 6 และพญาแก้วหรือพระเมืองแก้ว กษัตริย์องค์ที่ 11 เป็นช่วงที่มีวัดต่างๆเกิดขึ้นมากมาย แต่การสังคายพระไตรปิฏกขึ้นเป็นครั้งที่ 8 ของโลก ที่วัดมหาโพธาราม (วัดเจ็ดยอด เชียงใหม่) มีขึ้นในรัชสมัยพระเจ้าติโลกราช
ความเป็นราชาธิราช ผู้เกรียงไกร เป็นพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์ลำดับที่ 9 เพราะอาณาจักรล้านนา ขยายกว้างใหญ่ไพศาล ด้าน ต.ตกขยายไปจนถึงรัฐฉาน มีเมืองสีป้อ ยองห้วย และอีกหลายๆเมือง นอกจากนั้นด้านเหนือ ได้แผ่ขยายไปถึงเชียงรุ้ง เมืองยอง เป็นต้น

รัชสมัยพระองค์ทรงมีการศึกสงคราม ขนาบ เหนือใต้ ออก ตก ทุกทิศ ทั้งอโยธยาที่ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถปกครอง สู้รบกันยาวนานร่วม 24-25 ปี ติดพันมาถึงรัชสมัยพระเมืองแก้ว ปลายๆรัชกาล ราว พ.ศ.2068 และกองทัพเชียงใหม่ ยังทำสงครามกับเชียงตุงจนพ่ายแพ้เสียไพร่พลมาก พร้อมเผชิญวิกฤติน้ำท่วมเมือง เป็นห้วงเวลาสุขของเมืองที่สั่งสมมานานเริ่มโบยบิน

หลังจากพระเมืองแก้ว สิ้นพระชนม์ บรรดาขุนนาง ฮีกเหิมมีอำนาจ ครอบงำราชสำนัก ล้านนาสิ้นคนดี ถึงขั้นแต่งตั้ง ถอดถอนกษัตริย์ได้ เช่นการเชื้อเชิญพระไชยเชษฐาธิราช แห่งราชวงศ์มังราย กษัตริย์ล้านช้าง มาครองเชียงใหม่ ด้วยข้ออ้างครั้งพระนางจิรประภาเทวี เป็นกษัตริย์ องค์ที่ 15 (พศ.2088-89 ) ไทใหญ่บุกเมือง ชาวบ้านต้องป้องกันตัวเอง เอาชีวิตให้รอด
ต่อมากองทัพอยุธยา บุกเมือง กองทัพเชียงใหม่ถูกลอยแพจากหัวเมืองบริวาร และแล้วรัชสมัย พระนางวิสุทธิเทวี ก็ถือเป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายของอาณาจักรล้านนา เพราะนับแต่นั้นมา กลายเป็นยุคพม่าครองเชียงใหม่ นานกว่า 216 ปี ( พศ.2121-2317 ) จริงๆ แล้ว พม่า วางแผนเข้ามายึดครองตั้งแต่ปี พ.ศ.2107 ด้วยซ้ำไป มีการ แต่งตั้งพระนางวิสุทธิเทวี เป็นกษัตริย์ และเมื่อพระนางสิ้นพระชนม์ พระเจ้าบุเรงนอง ให้ นรธาเมงสอ พระราชโอรส อันเกิดจากพระ นางราชเทวี แห่งหงสาวดีมาปกครองเชียงใหม่
การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ จะเห็นทะลุปัจจุบัน ส่องถึงอนาคตไม่ให้เกิดความผิดพลาด บทเรียนต่างๆ มีเพียงมนุษยชาติเท่านั้น ที่กำหนดและสร้างขึ้น

ร่วมแสดงความคิดเห็น