สลากย้อมเมืองลำพูน หนึ่งเดียวในโลก

เป็นการทำบุญประจำปี ก่อนออกพรรษาคนล้านนามักจะจัดงานทานสลากภัตร ที่ลำพูนก็จะเริ่มที่วัดพระธาตุหริภุญชัย อ.เมือง จ.ลำพูน ผู้ที่ทานสลาก ก็ขึ้นอยู่ตามความเหมาะสมว่าจะทานอย่างไรถ้าเป็นสลากธรรมดา ก็เป็นสลากที่ทำง่ายๆ เหมือนสังฆทานสมัยก่อนเรียกว่า กวยขี้ปุ๋ม เรียกตามลักษณะของก๋วยที่อ้วนกลมๆ สลากโชค คือ สลากที่มีของดีมีค่า มียอดปัจจัยมาก อาจตกแต่งอย่างสวยงามใครจะถวายทานก็ได้ จะทำทุกครั้งก็ได้ ไม่กำหนดว่าเป็นผู้ชายหรือผู้หญิงที่จะเป็นเจ้าภาพหรืออาจเป็นคณะศรัทธารวมกันหรือกลุ่มต่างๆ มาร่วมกันเป็นเจ้าภาพการทานสลากก็แล้วแต่เจตนาว่าจะทานไปให้ใคร ซึ่งก็มีทานหาคนตายทานเพื่อตัวเองเอาไว้ใช้ภายหน้า ซึ่งสลากทั้งสองประเภทที่กล่าวมาแล้วสามารถทำได้แล้วเจตนาเจ้าหน้า สลากย้อมซึ่งเป็นสลากหนึ่งที่นำมาถวายทานในกิจกรรมงานสลากภัตร แต่ได้วางจุดมุ่งหมายที่ชัดเจน ให้ไว้สำหรับ ผู้หญิงเป็นเจ้าภาพได้เท่านั้น กุศโลบายที่สำคัญ คือ จะจัดทำได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้นเพราะความยิ่งใหญ่ก็คือ สลากต้องสวยงาม อลังการ ใช้จตุปัจจัยในการเตรียมงานมาก ใครจะทำต้องมีความมุมานะอย่างสูง
ส่วนของใช้ที่ใส่เข้าไปในสลากย้อมก็คือเครื่องใช้ของผู้หญิงทั้งหมด เช่น แว่น หวี แป้งทาหน้า เครื่องสำอาง สร้อยแหวน เงินทอง ของเหล่านี้เมื่อพระรับทานไปแล้ว เจ้าของก็จะขอบูชาคืน ส่วนของอีกประเภทหนึ่งก็คือ การทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา คือเครื่องใช้ของสงฆ์ ที่ใช้ในประจำทุกวัน
คำว่า “สลากย้อม” ก็คือการเรียกชื่อตามสิ่งของก็คือสลากของผู้หญิงนี้จะต้องตกแต่งสีสันให้สวยงาม คือย้อมสีตรงปลายเรียวไม้ไผ่อย่างสวยงามหลากหลายสี ของใช้ที่นำมาแขวนก็จะต้องแต่งหย้องประดับย้อมสี เพื่อให้สมกับการทานครั้งยิ่งใหญ่ของผู้หญิง
ในสมัยโบราณจะทำได้ครั้งเดียวเท่านั้น มีเหตุผลดังต่อไปนี้คือ เปรียบเสมือนกับการบวชของผู้ชายที่ได้เพียงครั้งเดียว เพราะการทานสลากย้อมต้องบอกบุญกับญาติมิตร มีการเตรียมงานอย่างใหญ่หลวง เชิญชวนคนมาทำบุญรับอานิสงค์ด้วย ซึ่งการบวชผู้ชายก็เหมือนกันทำได้ยิ่งใหญ่เพียงครั้งเดียว สลากย้อมก็นำคติความเชื่อนี้มาเป็นต้นแบบ เชื่อว่าได้บุญครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิต เพื่อเอาไว้ส่งเสริมบารมีในชาติภพหน้าเพราะเป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่ใช้การเตรียมงานร่วมเดือน
ลักษณะพิเศษของสลากย้อมคือจะต้องนำประวัติของผู้หญิงที่เป็นเจ้าภาพมาแต่งเป็นครรโลงเล่าตั้งแต่เกิด จนถึงปัจจุบันเพื่อให้คนที่มาเที่ยวได้รับรู้ถึงประวัติของผู้ทานสลากย้อม ก็เปรียบเสมือนการเรียกขวัญ (ฮ้องขวัญ) พระนาคตามประเพณีล้านนาที่นำประวัติมาเล่าเป็นทำนองเทศน์ล้านนาเพื่อให้รู้ว่ากำลังจะทำความดีสละทุกอย่างเข้าร่มพระพุทธศาสนา
สลากย้อมต้องมีการแห่ การแห่คือการบอกบุญ บอกฟ้าดิน บอกเทวดา บอกสังคม บอกทุกอย่างว่าการทำความดีครั้งนี้ ยิ่งใหญ่มาก ผู้คนที่พบเห็นจะสรรเสริญร่วมอนุโมทนาได้บุญกุศลร่วมกัน

ร่วมแสดงความคิดเห็น