ส่องที่ออกกำลังกาย ฟรี! ฟรี! ฟรี! วิวดี อากาศก็ดีเวอร์

เดี๋ยวนี้ใครๆ ก็รักสุขภาพ หันมาออกกำลังกายกัน ไม่ว่าจะวิ่ง เดิน ปั่นจักรยานและอีกหลากหลายกิจกรรม อีกทั้งการออกกำลังกายในห้องฟิตเนท ที่มีอุปกรณ์พร้อมและมีเทรนเนอร์คอยดูแลอย่างดี แต่ก็ต้องเสียค่าบริการเยอะอยู่ ประชาชนส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะมาออกกำลังกาย ตามสวนสาธารณะ กันเพราะฟรี ไม่เสียเงิน เสียแต่เหงื่อ
ตามมากันที่นี่ “อุทยานหลวงราชพฤกษ์” ในยามเย็นบริเวณด้านหน้า ตั้งแต่ทางเข้า จะเปลี่ยนเป็นสถานที่ออกกำลังกาย ฟรี ไม่เสียเงิน ผู้คนหลากหลายทุกเพศทุกวัย บ้างก็ชวนกันมาเป็นครอบครัวสุดหรรษา ในอุทยานหลวงราชพฤกษ์ จึงเป็นสถานที่ออกกำลังกายปอดใหญ่ๆ ของคนเชียงใหม่เลยทีเดียว ทั้ง เดิน วิ่ง ตีแบตหรือปั่นจักรยาน พร้อมสูดอากาศสดชื่นยามเย็น ที่ห้อมล้อมไปด้วยต้นไม้ที่เขียวขจี ใช้เวลาเย็นหลังจากเลิกงาน เลิกเรียน มาผ่อนคลายด้วยการออกกำลังกายกัน
ซึ่งปัจจุบัน ทางอุทยานหลวงราชพฤกษ์ ยังได้ปรับพื้นที่ส่วนหนึ่งของลานจอดรถด้านหน้า เป็นลานออกกำลังกาย มีเครื่องออกกำลังกาย และทางเดิน สำหรับเด็กๆ ซึ่งโซนนี้จะไม่มีรถวิ่งเข้ามา จึงมีประชาชนในพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียง เข้ามาใช้สถานที่ออกกำลังกายกัน
อุทยานหลวงราชพฤกษ์ มีความเป็นมา เนื่องในมหามงคลสมัยที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติ ครบ 60 ปี ในปี พ.ศ.2549 และทรงเจริญพระชนมายุ 80 พรรษา ในวันที่ 5 ธ.ค.2550 และครม.มีมติ เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.2546 เห็นชอบให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดงานมหกรรมพืชสวนโลก 2549 ณ ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ ต.แม่เหียะ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ (พื้นที่ 468 ไร่ 3 งาน 10 ตารางวา) โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 พ.ย.2549 ถึงวันที่ 31 ม.ค. 2550 รวม 92 วันภายใต้ชื่อ “มหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2549” ซึ่งเป็นงานที่ประเทศไทย ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก
จากความสำเร็จของการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก เฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2549 ที่ได้รับการตอบรับทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศเป็นอย่างดี ครม.จึงมีมติ เมื่อวันที่ 3 มิ.ย.2551 ให้สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) เข้ามาบริหารจัดการและใช้ประโยชน์พื้นที่สวนเฉลิมพระเกียรติฯ ราช พฤกษ์ 2549 เพื่อให้เกิดความคล่องตัว ในการบริหารจัดการและปฏิบัติงานด้านต่างๆ มีภารกิจหลักในการพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้พืชสวน และเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางการเกษตร และวัฒนธรรมของ จ. เชียงใหม่ และประเทศไทย โดยได้รับการถ่ายโอนกิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ และงบประมาณของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มาเป็นของสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) เมื่อวันที่ 15 ก.ย.2552 และมีการส่งมอบสวนเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2549 ในวันที่ 10 ธ.ค.2552
สำหรับการตั้งชื่ออุทยานหลวงราชพฤกษ์นั้น ม.จ.ภีศเดช รัชนี องค์ประธานมูลนิธิโครงการหลวง ได้มีลายพระหัตถ์ที่ ล. 01/358 ลงวันที่ 12 ต.ค.2552 ขอพระราชทานชื่อสวน ซึ่งเป็นสถานที่จัดงานมห กรรมพืชสวนโลก เฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2549 ณ ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ อ.เมืองจ. เชียงใหม่ ว่า “สวนหลวงราชพฤกษ์” ต่อมาท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ รองราชเลขาธิการ ปฏิบัติราชการแทนราชเลขาธิการ ได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อสวนดังกล่าวว่า “อุทยานหลวงราชพฤกษ์” ตั้งแต่วันที่ 23 ม.ค.2553 และได้รับพระราชทานชื่อภาษาอังกฤษว่า “Royal Park Rajapruek” ตามหนังสือสำนักราชเลขาธิการที่ รล. 003.4/55045 ลงวันที่ 22 มี.ค.2553
ชื่ออุทยานหลวงราชพฤกษ์ หมายถึง สวนของพระมหากษัตริย์ ต้นราชพฤกษ์ หรือ ต้นคูน(ลมแล้ง ภาษาพื้นเมืองภาคเหนือ) นั้น ได้รับการยกให้เป็น ดอกไม้ประจำชาติไทย และด้วยชื่ออันเป็นมงคลยิ่ง(ราช พฤกษ์ : ต้นไม้ของพระราชา) ประจวบเหมาะกับงานพืชสวนโลก “เฉลิมพระเกียติ” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้จัดในสถานที่นี้ ชื่อดอกราชพฤกษ์จึงถูกใช้เป็นชื่อของอุทยานหลวงแห่งนี้นั่นเอง
ในส่วนของอุทยานราชพฤษ์นั้น เปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา 8.00 น. -18.00 น. หลังจากนั้น ก็เตรียมชวนกันมาออกกำลังกายยามเย็นกัน ตามมาดู แล้วจะรู้ว่า สถานที่ออกกำลังกายฟรี วิวดีดี มีอยู่ที่ไหน

ร่วมแสดงความคิดเห็น