คนไทยกว่าครึ่ง ไม่มั่นใจในความปลอดภัยในการบริโภคผักและผลไม้ไทย

ผักและผลไม้จัดเป็นอาหารในหมู่ ที่ 2 ที่จำเป็นต่อร่างกาย โดยในแต่ละวันควรรับประทานผักและผลไม้อย่างน้อย 400 กรัม ซึ่งการรับประทานผักและผลไม้จะมีประโยชน์ในการป้องกันโรค และป้องกันการเสื่อมของเซลล์ต่างๆ ในร่างกาย ประเทศไทยจัดเป็นประเทศ ที่อุดมสมบูรณ์ ที่สามารถผลิตผักและผลไม้ได้หลากหลายชนิด ซึ่งบางชนิดสามารถส่งออกไปไปขายต่างประเทศได้อีกด้วย อย่างไรก็ตามการผลิตที่เน้นปริมาณมากๆ ทำให้ผู้ผลิตบางรายใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายในการผลิต เช่น ยาฆ่าแมลง ยากำจัดวัชพืช และสารเร่งการเจริญเติบโต เป็นต้น ส่งผลกระทบให้เกิดการตกค้างสารพิษในผักและผลไม้ ซึ่งจากข้อมูลเครือข่ายเตือนภัยสารกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) ได้แถลงผลการตรวจสอบสารพิษตกค้างในผัก-ผลไม้ ครั้งที่ 1 ประจำปี 2560 ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยครั้งนี้มีการตรวจสอบเพิ่มเติมไปถึงสารกำจัดวัชพืชหรือยาฆ่าหญ้า พบตกค้างในผักและผลไม้ในระดับสูงถึงร้อยละ 55 ซึ่งการเก็บตัวอย่างผักและผลไม้ครั้งนี้สุ่มจากทั่วประเทศจำนวน 150 ตัวอย่างเมื่อเดือนสิงหาคม 2560 ครอบคลุมผักยอดนิยม 5 ชนิด ได้แก่ ถั่วฝักยาว คะน้า พริกแดง กะเพรา และกะหล่ำปลี ผักพื้นบ้านยอดฮิต 4 ชนิด ได้แก่ ใบบัวบก ชะอม ตำลึง และสายบัว และผลไม้ 6 ชนิด ได้แก่ องุ่น แก้วมังกร มะละกอ กล้วย มะพร้าว สับปะรด ครอบคลุมตลาดจำนวน 9 ตลาดในจังหวัดเชียงใหม่ ขอนแก่น ปทุมธานี ราชบุรี และสงขลา (ที่มา: https://thaipublica.org/2017/11/thai-pan-24-11-2560)
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร (แม่โจ้โพลล์) จึงได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,229 ราย ระหว่างวันที่ 12 – 27 สิงหาคม 2561 ในหัวข้อ คนไทย ต่อความเชื่อมั่นในการบริโภคผักและผลไม้” มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับพฤติกรรมการเลือกซื้อผักและผลไม้ของคนไทย และข้อเสนอแนะต่อการส่งเสริมการบริโภคและผลไม้ที่ปลอดภัย ผลการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับปัจจัยที่มีผลต่อการเลือกซื้อผักและผลไม้ พบว่า อันดับ 1
เลือกซื้อจากชนิดผักและผลไม้ที่ต้องการบริโภค (ร้อยละ 62.57) อันดับ 2 เลือกจากราคา (ร้อยละ 60.05) อันดับ 3 เลือกจากคุณภาพ (ร้อยละ 55.00) อันดับ 4 เลือกจากความสะดวกในการซื้อ (ร้อยละ 40.28) และอันดับ 5 คือ เลือกจากแหล่งขาย (ร้อยละ 29.29)เมื่อสอบถามถึงความมั่นใจในความปลอดภัยในการบริโภคผักและผลไม้ในประเทศไทย พบว่าส่วนใหญ่ ร้อยละ 57.12 ไม่มีความมั่นใจในความปลอดภัย โดยให้เหตุผลว่า ปัจจุบันผู้ผลิตมีการใช้สารเคมีในการผลิตผักและผลไม้สูง ทำให้เกิดสารพิษตกค้าง อันดับ 2 ขาดการควบคุมมาตรฐานการผลิตผักและผลไม้และไม่ทราบข้อมูลการผลิตของผู้ผลิต และอันดับ 3 มีข่าวสารการตรวจพบสารพิษตกค้างในผักและผลไม้ในปริมาณสูง ในขณะที่ร้อยละ 42.88 มีความมั่นใจในความปลอดภัย โดยให้เหตุผลว่า เลือกซื้อจากแหล่งที่น่าเชื่อถือและมีการรับรองคุณภาพจากหน่วยงาน สำหรับความมั่นใจต่อแหล่งจำหน่ายผักและผลไม้ในประเทศไทย ณ ปัจจุบัน พบว่า อันดับ 1 คือ ห้างสรรพสินค้า (ร้อยละ 47.44) อันดับ 2 คือ ตลาดสด (ร้อยละ 44.38) อันดับ 3 คือ ตลาดนัดสินค้าเกษตรอินทรีย์ (ร้อยละ 39.22) อันดับ 4 คือ ซุปเปอร์มาร์เก็ต (ร้อยละ 37.59) อันดับ 5 คือ รถเร่หรือร้านทั่วไป (ร้อยละ 4.64) และอื่นๆ คือ ซื้อจากแหล่งผู้ผลิตโดยตรงที่น่าเชื่อถือ
(ร้อยละ 3.34)
ในส่วนของความคิดเห็นเกี่ยวกับชนิดผักและผลไม้ที่คิดว่ามีสารพิษตกค้างสูง ในผัก พบว่า อันดับ 1 คือ กะหล่ำปลี (ร้อยละ 29.09) อันดับ 2 ได้แก่ คะน้า (ร้อยละ 29.01) อันดับ 3 ได้แก่ ผักกาดขาว (ร้อยละ 9.36) อันดับ 4 ได้แก่ ถั่วฝักยาว (ร้อยละ 8.94) อันดับ 5 ได้แก่ แตงกวา (ร้อยละ 5.40) สำหรับผลไม้ที่คิดว่า อันดับ 1 ได้แก่ องุ่น (ร้อยละ 25.80) อันดับ 2 ได้แก่ แตงโม (ร้อยละ 18.98) อันดับ 3 ได้แก่ ส้ม (ร้อยละ 14.58) อันดับ 4 ได้แก่ แอปเปิ้ล (ร้อยละ 7.85) อันดับ 5 ได้แก่ สตรอเบอรี่ (ร้อยละ 6.13)สำหรับข้อเสนอแนะต่อการส่งเสริมการบริโภคผักและผลไม้ พบว่า อันดับ 1 ควรส่งเสริมการปลูกผักปลอดสารพิษและมีการตรวจสอบคุณภาพจากหน่วยงานภาครัฐ (ร้อยละ 30.28) อันดับ 2 ควรล้างและทำความสะอาดผักอย่างถูกวิธีเพื่อลดสารพิษตกค้าง (ร้อยละ 27.02) อันดับ 3 รณรงค์และส่งเสริมให้มีการปลูกผักทานเองในครัวเรือน (ร้อยละ 25.71) อันดับ 4 เข้มงวดการนำเข้าและจำหน่าย รวมถึงการใช้สารเคมีของผู้ผลิต (ร้อยละ 13.73) อันดับ 5 คือ ยกมาตรฐานร้านค้าหรือแหล่งจำหน่ายผักและผลไม้ปลอดภัยให้มากขึ้น (ร้อยละ 3.27)
จากผลการสำรวจที่ทำให้พบว่ากลุ่มตัวอย่างเกินครึ่งไม่มั่นใจต่อความปลอดภัยในการบริโภคผักและผลไม้ในประเทศไทย นั่นสอดคล้องกับการตรวจสอบของหลายหน่วยงานที่ให้ข้อมูลว่าพบสารพิษตกค้างสูงในผักและผลไม้ ยกตัวอย่างเช่น ถั่วฝักยาว คะน้า ใบบัวบก กะเพรา พริกแดง องุ่น แก้วมังกร เพราะพบการตกค้างเกินมาตรฐานตั้งแต่ 7-9 ตัวอย่างจาก 10 ตัวอย่าง ไม่เว้นแม้แต่ผักและผลไม้ที่ขายในห้างสรรพสินค้าหรือซุปเปอร์มาร์เก็ต (ที่มา: https://thaipublica.org/2017/11/thai-pan-24-11-2560/)
ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าวิตกเป็นอย่างยิ่ง สิ่งที่ผู้บริโภคสามารถทำได้เพียงแค่การทำความสะอาดผักและผลไม้ก่อนนำไปรับประทานเพื่อความปลอดภัยเท่านั้น ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ แต่อย่างไรก็ตามการหยุดการนำเข้าสารพิษทางการเกษตรที่เป็นอันตรายหรือส่งเสริมการผลิตผักและผลไม้ให้ปลอดภัยน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด เพื่อประโยชน์สำหรับทุกฝ่าย

ร่วมแสดงความคิดเห็น