“รถม้าลำปาง” เอกลักษณ์หนึ่งเดียวของเขลางค์นคร

เขลางค์นคร หรือ จังหวัดลำปางเป็นเมืองเก่าแก่เมืองหนึ่งของประเทศไทย ประชากรโดยทั่วไปมีการทำมาหากิน ตลอดทั้งความเป็นอยู่และสภาพทางสังคม วัฒนธรรม ประเพณีและสิ่งแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ภายภาพที่คล้ายคลึงกันกับ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ซึ่งประกอบด้วย เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน พะเยา แม่ฮ่องสอน แต่มีอยู่อาชีพหนึ่งของจังหวัดลำปางที่มีความโดดเด่นแตกต่างไปจากอาชีพโดยทั่วไปนั่นก็คือ อาชีพขับรถม้ารับจ้าง ซึ่งเป็นอาชีพที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ได้สืบทอดกันมาเป็นเวลากว่า 80 ปีแล้วหากเมื่อลองนึกถึงเอกลักษณ์ของเมืองลำปาง นอกจาก “ถ้วยตราไก่” ที่มีต้นกำเนิดในแผ่นดินลำปางแล้ว “รถม้า” ก็น่าจะเป็นเอกลักษณ์หนึ่งซึ่งหาดูที่ไหนไม่ได้ นอกจากเมืองลำปางอีกเช่นกัน มีคำกล่าวทีเล่นทีจริงว่า เมื่อไปจังหวัดลำปางแล้วไม่ได้มานมัสการพระแก้วมรกตดอนเต้าที่วัดพระธาตุลำปางหลวง และไม่ได้นั่งรถม้าชมเมือง ก็เหมือนกับว่า ไปไม่ถึงจังหวัดลำปาง ก็คิดว่าเป็นจริงดั่งคำที่กล่าวว่ากันว่ารถม้าเริ่มเข้ามาในประเทศไทยเป็นครั้งแรกในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โดยชาวอังกฤษและอินเดียวที่เดินทางเข้ามาติดต่อราชการกับราชสำนัก ต่อมารถม้าจึงกลายเป็นพาหนะคู่บ้านคู่เมืองของไทยไปด้วย

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการสั่งรถม้าเข้ามาในประเทศมากที่สุด โดยใช้เป็นราชพาหนะสำคัญ สมัยนั้นถึงขนาดมีการตั้งกรมขึ้นดูแลเฉพาะเรียกว่า กรมอัศวราช รถม้าที่นำเข้าจากยุโรปสมัยนั้นเป็นลักษณะรถม้าแบบ 2 ตอนชนิดประทุนพับได้ รูปร่างหน้าตาน่าจะคล้ายกับรถมอเตอร์คาร์ ซึ่งกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์นำมาถวายพระราชบิดาเป็นคันแรก เมื่อปี พ.ศ.2447 ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้สั่งซื้อรถมอเตอร์คาร์เข้ามาพระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์ เพื่อใช้ประโยชน์ในราชการ ทำให้ความความนิยมรถยนต์เพิ่มมากขึ้น ความสำคัญของรถม้าจึงค่อยๆลดบทบาทลงไป เจ้าของรถม้าหลายรายได้ขายรถม้าของตนไปตามหัวเมืองรอบๆพระนคร รถม้าจึงกลายเป็นพาหนะของประชาชนที่อาศัยตามหัวเมือง รถม้าบางส่วนจึงถูกส่งขึ้นมายัง
จังหวัดลำปาง

รถม้าเริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญในจังหวัดลำปางครั้งแรกเมื่อประมาณปี พ.ศ.2450 เมื่อเจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิต ซึ่งเป็นเจ้าผู้ครองนครเมืองลำปางในสมัยนั้น ได้นำรถม้ามาจากกรุงเทพฯ มาใช้เป็นพระราชพาหนะ ต่อมาในปี พ.ศ.2458 เมื่อมีการสร้างทางรถไฟสายกรุงเทพฯ – เชียงใหม่ได้แล้วเสร็จถึงจังหวัดลำปาง กอปรกับในขณะนั้นบรรดาขุนนางและเชื้อพระวงศ์ต่างๆในกรุงเทพฯได้เปลี่ยนยานพาหนะจากรถม้ามาเป็นรถยนต์ตามยุคสมัยแห่งการพัฒนา คหบดีของจังหวัดลำปางในสมัยนั้นได้ถือโอกาสซื้อรถม้าดังกล่าวมาใช้ถึง 185 คัน ในราคาถูกผ่านทางรถไฟซึ่งง่ายและสะดวกในการขนส่งมายังจังหวัดลำปางจนกระทั่งถึงปี พ.ศ.2491 หรือประมาณ 67 ปีที่ผ่านมา ผู้เกี่ยวข้องและประกอบอาชีพขับรถม้าในจังหวัดลำปางได้มีการรวมตัวกับพยายามดำเนินการก่อตั้งเป็นรูปแบบของสมาคมและสามารถจดทะเบียนเป็นสมาคมได้สำเร็จในปี พ.ศ.2492 โดยตั้งชื่อว่า “สมาคมกรรมกรล้อเลื่อนจังหวัดลำปาง” มีขุนอุทานคดีเป็นนายกสมาคมคนแรก ต่อมาเจ้าบุญส่ง ณ ลำปาง ได้เข้ามาบริหารแทนขุนอุทานคดี ซึ่งท่านได้เป็นนายกสมาคมรถม้าคนที่ 2 และได้มีการเปลี่ยนชื่อจากสมาคมกรรมกรล้อเลื่อนจังหวัดลำปาง ให้เหมาะสมกับรูปลักษณ์แห่งความเป็นจริงว่า “สมาคมรถม้าจังหวัดลำปาง” มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า The Horse Carriage In Lampang Province

รถม้าลำปางมีความเจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว ในปี พ.ศ.2501 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้มอบเงินให้แก่เจ้าบุญส่ง ณ ลำปาง และได้ขอรับรถม้าเข้าไว้ในอุปถัมภ์ให้รัฐบาลช่วยเหลือสมาคมรถม้า นอกจากนั้นในวันที่ 20 เมษายน 2507 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาจังหวัดลำปาง ทางสมาคมรถม้าได้ทำการน้อมถวายรถม้าแบบสองล้อ พร้อมด้วยม้าเทียบรถชื่อ บัลลังก์เพชร แด่สมเด็จพระบรมโอรสสาธิราชฯ ตามสถิติของกรมตำรวจ เมื่อปี พ.ศ.2507 พบว่ามีรถม้าวิ่งอยู่ในจังหวัดลำปางจำนวน 185 คัน ซึ่งถือว่ามีมากที่สุด และจากการสำรวจในสมัยของนายเรือง เขื่อนแก้ว นายกสมาคมรถม้าเมื่อปี พ.ศ.2536 พบว่า รถม้าเหลืออยู่ในจังหวัดลำปางเพียงแค่ 70 คันเท่านั้น
ชาวลำปางถือว่ารถม้าเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดลำปางโดยตรง ขณะนี้รถม้าที่วิ่งรับผู้โดยสารอย่างสม่ำเสมอและถือเป็นอาชีพหลักหาเลี้ยงครอบครัวมีประมาณ 50-60 คันเท่านั้น

ผู้ประกอบอาชีพขับรถม้าส่วนมากเป็นชาวลำปางโดยกำเนิดและสืบทอดอาชีพนี้มาจากบรรพบุรุษ รายได้จากการประกอบอาชีพนี้ไม่แน่นอนและไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ ต้องอาศัยประกอบอาชีพอื่นเสริม นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นที่มีผลกระทบต่อการประกอบอาชีพขับรถม้าของจังหวัดลำปางอีกหลายด้าน เช่น การนำเทคโนโลยียานยนต์และการขนส่งอื่นที่ทันสมัยเข้ามาใช้ ด้านการยอมรับทางสังคม ด้านสุขอนามัย ด้านต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการประกอบอาชีพ ด้านความปลอดภัยของผู้ใช้บริการ ด้านความนิยมของคนในท้องถิ่นที่ลดน้อยลงไป นอกจากนี้ผู้ประกอบอาชีพรถม้าในจังหวัดลำปางหลายคนได้ถูกนายทุนจากเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรีว่าจ้างและชักจูงให้นำรถม้าไปวิ่งรับจ้างในพื้นที่ด้วย

รถม้า ลำปางได้พลิกบทบาทจากราชพาหนะชั้นสูงมาสู่วงจรของการท่องเที่ยว ในฐานะของพาหนะสำคัญคู่เมืองลำปางในการต้อนรับคนต่างถิ่น และพบอีกว่าสารถีคนขับม้าในลำปางนับวันจะลดจำนวนลง เนื่องจากปัจจุบันพบว่าปัญหาที่สร้างผลกระทบต่อสารถีคนขับรถม้า ซึ่งพอจะสรุปได้ดังนี้
ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจของประเทศชาติมีผลกระทบต่อการท่องเที่ยว ทำให้มีผู้ใช้บริการน้อยลง ซึ่งปกติรายได้หลักของผู้ประกอบอาชีพขับรถม้ารับจ้างจะมาจากนักท่องเที่ยวเกือบทั้งหมด

ปัญหาทางด้านสุขอนามัยและสิ่งแวดล้อม ในการเลี้ยงดูม้ามักจะนำมาเลี้ยงไว้ใต้ถุนบ้านของตนเอง เพราะเป็นการประหยัดไม่ต้องสร้างโรงม้า และม้าเป็นสัตว์ที่มีการถ่ายมูลออกมาทุกระยะ ทำให้เกิดการหมักหมม เหม็นกลิ่นอุจจาระและปัสสาวะของม้าไปทั่วบ้าน และมีผลกระทบต่อเพื่อนบ้านจนเป็นเหตุบาดหมางกันกับเพื่อนบ้านถึงกับมีการร้องเรียนกันก็มี

นอกจากนั้นเมื่อนำรถม้าไปวิ่ง ม้าจะถ่ายมูลออกมาตลอดถึงแม้จะทำถุงรองรับแล้วก็ตามแต่ก็ไม่สามารถป้องกันได้ทั้งหมด ก่อให้เกิดกลิ่นเหม็นสกปรกบนท้องถนน ปัญหาด้านสังคมและวัฒนธรรม สังคมของคนในจังหวัดลำปางมักมองว่า อาชีพขับรถม้าเป็นอาชีพที่ด้อยไม่มีเกียรติศักดิ์ศรี ทำให้ไม่มีใครอยากจะประกอบอาชีพนี้ต่อไปและพยายามหาอาชีพอื่นมาทดแทนหากมีโอกาส นอกจากนี้บางคนติดสุรา บางคนใช้กริยามารยาท ไม่สุภาพและเหมาะสม บางคนชอบโก่งราคากับผู้ใช้บริการ ทำให้ผู้ใช้บริการหรือนักท่องเที่ยวเกิดความระอา ไม่อยากใช้บริการอีกต่อไป

ปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน หลายฝ่ายมีการมองว่าการใช้ม้าเทียมรถ เป็นการใช้แรงงานม้ามากเกนไป บางครั้งม้าก็ไม่ยอมวิ่งก็จะถูกคนขับทุบตีเอาอย่างรุนแรง

ปัญหาด้านการจราจร ถนนหลายสายในจังหวัดลำปางแคบ รถม้าวิ่งช้าทำให้การจราจรเกิดการติดขัด และเส้นทางในเมืองจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งมีลักษณะเป็นวงรียาว ทำให้ม้าต้องใช้กำลังมากในการลากรถ

ปัญหาในการซ่อมแซมและบำรุงรักษา ปัจจุบันผู้ที่มีความรู้ความสามารถในการซ่อมแซมทำนุบำรุงรักษารถม้ามีจำนวนลดน้อยลงไปเรื่อยๆ ทำให้เป็นอุปสรรค์ในการซ่อมบำรุงในอนาคต

ปัญหาด้านความดูแลเอาใจใส่จากองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนในท้องถิ่นและประเทศชาติที่ยังไม่มีการลงมาช่วยเหลือและประสานงานกันอย่างเต็มที่

อย่างไรก็ตามมาถึงวันนี้ “รถม้า” ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของชาวลำปาง เมื่อมาเยือนลำปางเราจะพบว่าที่นี่เป็นจังหวัดเดียวที่ยอมให้ “ม้า” วิ่งบนท้องถนนเคียงคู่กับรถยนต์ เช่นนี้แล้วเมื่อไปเยือนเมืองลำปางจะไม่ไปสัมผัสวิถีชีวิตหนึ่งเดียวอันเป็นเอกลักษณ์ของชาวลำปางเชียวหรือ

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น