“ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้” จากโครงการพระราชดำริสู่พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงมีพระราชดำริจัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ขึ้นเพื่อให้เป็นศูนย์กลางในด้านการศึกษาทดลองและพัฒนาพื้นที่ต้นน้ำ ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริให้ราษฏรได้ใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรอย่างแท้จริง
 ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ จังหวัดเชียงใหม่ นอกจากจะเป็นศูนย์พัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริแล้วยังถือเป็นต้นแบบของความสำเร็จในด้านการพัฒนาเกษตรกรรมและการอาชีพของเกษตรกรเพื่อใช้ในการปรับปรุงดำเนินงานของตนเอง ภายในศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ยังมีกิจกรรม ด้านการพัฒนาที่เกี่ยวกับการศึกษา ค้นคว้า ทดลอง วิจัยทั้งในด้านวิทยาศาสตร์การเกษตร ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านธรณีวิทยา อุทกวิทยารวมถึงด้านการบริหารจัดการ
 ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ถือเป็น “ขุมทรัพย์ทางปัญญา” ที่รวบรวมสรรพวิชาการในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นรากฐานสำคัญของการดำรงชีพและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ประชาชนและชุมชนทั้งในเรื่องเทคนิควิชาการสมัยใหม่ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ฟื้นฟู นำภูมิปัญญาดั่งเดิมของชุมชนมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์
 จากลักษณะของภูมิประเทศที่เป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน มีป่าไม้หนาทึบฝนตกชุกตลอด ประกอบกับอากาศชุ่มชื้นเย็นสบายทำให้บริเวณแห่งนี้กลายเป็นแหล่งน้ำที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของภาคเหนือและของประเทศ กว่า 20 ปีที่ผ่านมาศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ได้ทำหน้าที่ของการเป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิตภายใต้ปรัชญา “ต้นทางคือป่าไม้ ปลายทางคือประมง”
 ต้นทางคือป่าไม้ทรัพยากร แหล่งต้นน้ำลำธารและวิถีชีวิตระบบพึ่งพาธรรมชาติ โดยได้ศึกษาพัฒนาป่าไม้ 3 วิธีเพื่อประโยชน์ 4 อย่าง ระหว่างทางจากต้นทางสู่ปลายทางคือความหลากหลายของกิจกรรมอันเกี่ยวเนื่องกับเกษตรกรรมและวิถีชีวิตแบบพึ่งพาตนเอง ส่วนปลายทางคือประมง ทรัพยากรแหล่งน้ำและวิถีชีวิตที่เกี่ยวเนื่องกับการพึ่งพาทรัพยากรแหล่งน้ำ
 ด้วยความหลากหลายทางชีวภาพและการดำรงอยู่ของธรรมชาตินี่เองทำให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้กลายเป็นห้องเรียนทางธรรมชาติที่มีชีวิต ตำราที่มีลมหายใจ ปัจจุบันแม้ว่าศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้จะกลายเป็นแหล่งความรู้ที่สำคัญทางด้านเกษตรกรรม แต่ก็มีการพัฒนาทางด้านแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศควบคู่กันไปด้วย สิ่งหนึ่งที่น่าสังเกตเมื่อเข้ามาที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ก็คือการสื่อความหมายในด้านการประชาสัมพันธ์ทั้งป้ายบอกเส้นทางและป้ายแสดงต่าง ๆ ยังไม่ชัดเจนนัก แม้ว่าจะมีความพยายามแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้นแล้วก็ตาม
 ดร.อรทัย มิ่งธิพล นักสื่อความหมาย ได้พูดถึงรูปแบบการใช้สื่อเพื่อประชาสัมพันธ์ในศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ว่า “ปัจจุบันรูปแบบการสื่อความหมายในธรรมชาติได้กลายเป็นสื่อที่มีความหยาบมากขึ้น ธรรมชาตินั้นมีความละเอียดอ่อน แต่สื่อกลับมีความหยาบมีแต่ตัวหนังสือ มีแต่ภาษาอังกฤษ ศัพท์ทางวิชาการที่ผู้อ่านไม่รู้เรื่อง ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ ช่างว่างระหว่างผู้สื่อกับผู้รับ การออกแบบสื่อที่ประณีตสวยงาม เข้าใจง่ายจะเกิดความประทับใจได้ง่าย แต่ทั้งนี้ก็ต้องมีการผสมผสานทั้งทางวิชาการและการออกแบบภูมิสถาปัตย์ที่ดีด้วย ซึ่งเราสามารถประยุกต์ให้เกิดความยืดหยุ่นได้”
 การทำงานด้านสื่อความหมายจึงเป็นเรื่องใหญ่ เป็นการรวมทีมจากสหวิทยาการโดยไม่ทำลายความสวยงามของธรรมชาติ
 ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ได้ทำหน้าที่เสมือนพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต และยังเป็นผลสรุปของการพัฒนาที่ประชาชนจะเข้าไปศึกษาเรียนรู้และสามารถนำไปปฏิบัติสมดั่งพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ท่านที่สนใจเข้าไปเยี่ยมชมศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งอยู่ที่ตำบลป่าเมืองและตำบลแม่โป่ง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ไปทางทิศตะวันออกประมาณ 27 กิโลเมตรตามทางหลวงสายเชียงใหม่ – เชียงรายมีทางแยกจากถนนใหญ่เข้าไปอีกประมาณ 2 กิโลเมตร.
 บทความโดย
 จักรพงษ์  คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น