น่านร่วมกับสมาคมพัฒนาไผ่ไทย จัดให้มีการเสวนาไผ่เส้นทางอุตสาหกรรมสู่ตลาดโลก

วันนี้เราจะขึ้นไปกันที่จังหวัดน่าน ซึ่งเป็นพื้นที่ ที่มีการปลูกข้าวโพดมากที่สุดในภาคเหนือ จนทำให้เกิดปัญหาภูเขาหัวโล้น น้ำป่า และ ดินโคลนถล่มทุกปี ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาแนวทางการแก้ปัญหา โดยทางจังหวัดน่านร่วมกับสมาคมพัฒนาไผ่ไทยจัดให้มีการเสวนาไผ่เส้นทางอุตสาหกรรมสู่ตลาดโลกขึ้น นอกจากนี้ยังได้มีการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกเพื่อสร้างรายได้ โดยเฉพาะที่ อำเภอสันติสุข มีเกษตรกร เข้าร่วมโครงการทำให้ปัจจุบันมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เด็กนักเรียนโรงเรียนชุมชนบ้านสบยาง ตำบล ป่าแลว อำเภอสันติสุข จังหวัดน่าน ต่างตั้งใจฟังและทดลองเพาะพันธ์ต้นไผ่ฟ้าหม่นและซางหม่น ตามวิธีการสอนของนายธนกร รัชตานนท์ นายกสมาคมพัฒนาไผ่ไทย ซึ่งลงพื้นที่ ให้ความรู้กับเกษตรกรและเด็กนักเรียน เพื่อเป็นการปลูกฝัง พร้อมกับสร้างจิตสำนึกให้เด็กได้ตระหนักถึงการรักษ์ป่า และนำความรู้ที่ได้ไปเผยแพร่ให้กับคนในครอบครัวที่คิดจะหันมาปลูกไผ่ แทนการปลูกข้าวโพด

หลังจากจังหวัดน่าน ถูกบุกรุกพื้นที่ป่าจนกลายเป็นภูเขาหัวโล้น เนื่องจากมีพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มากเป็นอันดับ 1 ของภาคเหนือ ทำให้เกิดปัญหาหมอกควัน ดินและน้ำ ปนเปื้อนไปด้วยสารเคมี ขณะเดียวกันยังก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากและดินโคลนถล่มทุกปี เนื่องจากไม่มีต้นไม้ค่อยดูดซับน้ำนาย ธูป นาคเสน เจ้าของศูนย์วิจัยพันธุ์ไผ่ และ เกษตรผู้ปลูกไผ่ใน จังหวัดน่าน บอกว่า ปัจจุบันการปลูกไผ่นั้นสามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร เป็นอย่างดีถ้าหากมีการศึกษาและดูแลต้นไผ่ให้เจริญเติบโตได้ดี เพราะไผ่นั้นสามารถขายได้ทุกส่วน ตั้งแต่ใบ/ หน่อ ไปจน ถึงลำ สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรถึงไร่ละ 70,000 บาทต่อปี และถ้าหากมีการส่งเสริมรวมถึงหาตลาดทั้งในและต่างประเทศ ให้กับเกษตรกรจะเป็นหนึ่งในต้นไม้เศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรเมืองน่าน นอกจากนี้แล้วไผ่ยังเป็นหนึ่งในไม้ 58 ชนิดที่นำไปค้ำประกันในการกู้สินเชื่อมาลงทุนได้อีกด้วย
นายธนกร รัชตานนท์ นายกสมาคมพัฒนาไผ่ไทย เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาจังหวัดน่าน ได้มีการจัดทำยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาเขาหัวโล้น ด้วยการส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจหลากหลายชนิด การส่งเสริมอาชีพ ด้านการเกษตร รวมไปถึงการเลี้ยงสัตว์/ การประมง การแปรรูป อุตสาหกรรมในครัวเรือน/ การท่องเที่ยว ตลอดจนการส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน ทั้งในรูปเกษตรผสมผสาน วนเกษตร เกษตรธรรมชาติ ล้วนแล้ว แต่เป็นโครงการกิจกรรมที่ส่งเสริมให้เกิดพื้นที่ป่า เกิดอาชีพเกษตรที่สร้างมูลค่าเพิ่มจากการใช้ทรัพยากรดินและน้ำให้เกิดความคุ้มค่ามากขึ้น ลดการทำการเกษตรที่เป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้น้อยลง สินค้าพืชในยุทธศาสตร์จังหวัดน่าน ที่เป็นพืชเศรษฐกิจที่ส่งเสริมให้เกิดพื้นที่ป่ามีมากมายหลายชนิด อาทิเช่นชา กาแฟ ยางพารา ไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชสมุนไพรและเครื่องเทศหลายชนิด และไม้ยืนต้นตัวหนึ่ง ที่มีการวิเคราะห์ศักยภาพว่าเป็นสินค้าที่มีศักยภาพทั้งทางด้านการตลาด มีความเป็นไปได้ในการปลูกให้อยู่รอดในสภาพเขาหัวโล้นเป็นพืชนำ เพื่อสร้างพื้นที่ป่าให้แก่ชุมชนเกษตรกร ได้แก่ ไม้ไผ่ นับตั้งแต่การปลูกไผ่รวกในอดีต จนถึงการส่งเสริมให้ปลูกไม้ไผ่หลายชนิดในพื้นที่ของเกษตรกรในจังหวัดน่าน ปัจจุบันคาดว่ามีพื้นที่ปลูกไผ่ในจังหวัดน่าน ไม่น้อยกว่า 5,000 ไร่ ประกอบด้วยไผ่หลายชนิด ได้แก่ ไผ่รวก ไผ่ซางนวล ไผ่ซางหม่น ไผ่ตง ไผ่ฟ้าหม่น และไผ่อื่นๆ

นายกสมาคมไผ่แห่งประเทศไทยได้กล่าวขอขอบคุณพี่น้องเกษตรกรทุกคนที่สนใจรับฟังการเสวนาในครั้งนี้ ซึ่งไม่ใช่แค่คนน่านแต่มาจากทุกภาคของประเทศ ซึ่งเป็นนิมิตรหมายที่ดี ที่เรากำลังรวมใจในการพลิกฟื้นผืนป่าหัวโล้นให้กลับเป็นผืนป่า โดยระบุถึงความตั้งใจว่า ถ้าบอกให้ปลูกไผ่ อาจมีคำถามว่าอนาคตอยู่ตรงไหน ฟังดูลอยๆ แต่การเสวนานี้จะทำให้เห็นภาพรวม และเข้ายุทธศาสตร์ชาติมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อ 2-3 ปีก่อน ประเทศไทยเป็นสมาชิกอินบา ทำให้เราต้องทำแผนแม่บทที่ล้อ กับยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งจะมีแผนการดำเนินงานทั้งระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว

อีกทั้งการเสวนาครั้งนี้ยังได้สะท้อนมุมมองและความเชื่อมั่นต่อไผ่ในสายตาต่างชาติ เพราะปัญหาเขาหัวโล้นไม่ได้มีเฉพาะประเทศ เราจึงควรเรียนรู้แนวทางการแก้ไขปัญหาจากต่างประเทศ สมาคมไผ่ฯจึงได้เชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลกับสมาคมไผ่จากทั่วโลก ที่น่าดีใจ คือ ทั่วโลกชื่นชมว่าไผ่ไทยเป็นไผ่คุณภาพ เพราะเรามีสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสม ที่ผ่านมาตัวแทนจากประเทศสเปน เคยมาเจรจาต้องการทำสัญญา 20 ปี เพื่อเป็นแหล่งวัตถุดิบในการผลิตพลังงานทดแทน เพื่อใช้แทนพลังงานจากถ่านหิน หลังจากก่อนหน้านี้เคยจะใช้ไผ่จากประเทศบราซิล แต่ปัญหาที่ต้องใช้เวลาปลูก 7-9 ปี ขณะที่ไผ่ของเอเชียใช้เวลาปลูกเพียง 3 ปีกว่าเท่านั้น จึงเป็นโอกาสทั้งทางเลือกและทางรอดของเรา ดังนั้นเพื่อให้เกิดความสมดุล จำเป็นต้องมีการจัดทำ ZONING และสร้างทางเลือกด้านอาชีพให้กับเกษตรกร โดยเฉพาะในเขาหัวโล้นที่ไม่สามารถทำน้ำได้ และต้องอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก ซึ่งจากตัวเลขของภาครัฐคาดว่ามีพื้นที่ส่วนนี้ที่ถูกนำมาจัดเป็นพื้นที่ คทช.ประมาณ 240,000 ไร่ ซึ่งถ้าสามารถสร้างสมดุลและทำ ZONING ระหว่างปลูกไผ่เพื่อพลิกฟื้นผืนป่า ควบคู่ไปกับปลูกเพื่ออุตสาหกรรมได้ จะทำให้เกิดความชัดเจน หลังจากนั้นก็สนับสนุนต่อยอดแปรรูป เพื่อสร้างมูลค่าที่เพิ่มขึ้น

ถ้าเราสามารถทำได้ จะทำให้จังหวัด น่านจะกลายเป็นต้นแบบในการแก้ไขปัญหาเขาหัวโล้น ที่สามารถนำไปขยายผลในการแก้ไขปัญหาเขาหัวโล้นในพื้นที่อื่นต่อไป สาเหตุที่ต้องเชิญผู้เชี่ยวชาญทั้งภาครัฐ และเอกชนเพื่อให้เรามองภาพรวมของโอกาสจากไผ่ได้ชัดเจนขึ้น จากนั้นในการจัดเสวนาในครั้งต่อไปจะต่อยอด ท้ายสุดเสวนาครั้งนี้อยากสะท้อนให้ถึงรัฐบาล เพื่อให้รัฐบาลเห็นชอบให้สามารถตัดไม้ไผ่ในพื้นที่ทำกินที่ยังไม่มีเอกสารสิทธิ์ แต่เป็นพื้นที่ทำกินของเขา ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวใน จังหวัดน่าน มีอยู่ถึงร้อยละ 85 ของพื้นที่ทั้งหมด และไผ่เป็นพืชหมุนเวียน ยิ่งตัดยิ่งแตก ปลูกครั้งเดียว อยู่ได้ 80 ปี สร้างความยั่งยืนให้เกษตรกร แต่ถ้าเราจะก้าวไปสู่เวทีระดับโลก ทุกอย่างต้องสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ จึงฝากสื่อมวลชนช่วยสะท้อนความต้องการของคนน่าน และคนที่ต้องการพลิกฟื้นผืนป่า เพื่อจะได้เกิดพลังในการแก้ไขปัญหาต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น