ก้าวอีกคืบรถรางไฟฟ้าเชียงใหม่ เปิดทางร่วมทุนนำร่องสายสีแดง

โครงการจัดระบบขนส่งสาธารณะ จ.เชียงใหม่ เพื่อรองรับการขยายตัวอย่างไร้ทิศทางของเมือง มีความพยายามของหลายภาคส่วนทั้งหน่วยงานราชการและภาคเอกชน ประสานแผนในการจัดวางผังเมือง ฉบับล่าสุดมาควบคุม แต่ก็ยังเปิดช่องในการลงทุนบางประเภทกับการขออนุญาตก่อนกฎกติกาใหม่จะมีผลแม้กระทั่ง”ระบบขนส่งมวลชนเชียงใหม่” ที่มีการวิจัย ศึกษา หาแนวทางที่เหมาะสม มาตั้งแต่ปี 2538 ซึ่งมีตัวแทนชาวเชียงใหม่เป็นระดับรัฐมนตรี มีการชูแผนรถไฟฟ้าใต้ดิน กับการระดมกองทุนเชียงใหม่ เพื่อดำเนินการในเรื่องนี้

ต่อเนื่องมาอีก 10 ปี ราวๆพศ.2550 มีแผนพัฒนาฯที่สถาบันการศึกษาชั้นนำของภาคเหนือดำเนินการ ภายใต้ความร่วมมือของ สำนักงานนโยบายและแผนการจราจร (สนข.) นับเป็นเล่มที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องกันว่า เหมาะสมที่สุด ด้วยมูลค่าการลงทุน ด้านศึกษา วิจัยเพื่อการนี้หลายร้อยล้านบาท จนกระทั่งนำมาสู่รูปแบบ ที่เปิดโอกาสการมีส่วนร่วมทั้งภาคเอกชน ,อปท.,หน่วยงานรัฐฯ จนก่อเกิดโครงการจัดซื้อมินิบัสมาวิ่งบริการ ในเส้นทางสายต่างๆทั่วนครเชียงใหม่, โครงการศึกษาและพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ ที่ชูแนวทางนำร่องรถไฟฟ้ารางเบา สายสีแดง เป็นเส้นแรกระยะทางประมาณ 12กม. เริ่มต้นจากโรงพยาบาลนครพิงค์ ผ่านศูนย์ราชการเชียงใหม่และสนามกีฬา 700 ปี ต่อไปยังศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติและเริ่มใช้ทางวิ่งใต้ดินที่บริเวณแยกข่วงสิงห์ มุ่งสู่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ และต่อไปยังสนามบินเชียงใหม่ เมื่อพ้นเขตท่าอากาศยานจะกลับขึ้นใช้ทางวิ่งบนดินก่อนจะไปสิ้นสุดที่แยกแม่เหียะสมานสามัคคี(แยกบิ๊กซีหางดง)

ทั้งนี้นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผอ.สนข. ซึ่งเตรียมขยับเป็นปลัด ก.คมนาคม คนที่ 2 หลังจาก ผอ.หญิงคนเก่งอย่าง” สร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์” เคยผ่านตำแหน่งนี้มาแล้ว ทั้งคู่ถือว่าลุยโครงการขนส่งมวลชนเชียงใหม่มายาวนานล่าสุด ผอ.ชัยวัฒน์ แถลงข่าวว่า จะเสนอที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) พิจารณาแผนแม่บทประเภทรถไฟฟ้ารางเบาระดับบนพื้นดิน (Tram) ทุกจังหวัด โดยรัฐบาลมีนโยบายชัดเจนว่า ควรเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมทุก สำหรับเมืองใหญ่ๆที่คจร.เห็นชอบก็จะมีเชียงใหม่ มีแผนลงทุนสายสีแดงก่อน หากลงทุนทั้งสายสีเขียว สีน้ำเงิน จะใช้งบค่อนข้างสูง ซึ่งสนข.จะดึงรถสี่ล้อแดง เข้ามามีส่วนในการเชื่อมโยงผู้โดยสารไปยังสถานีแต่ละจุด เป็นการเดินทางแบบไร้รอยต่ออีกทั้งเห็นด้วยกับแนวคิดที่จะเปิดโอกาสให้ ท้อถิ่นเข้ามาร่วมทุน เช่นที่ขอนแก่น กำลังดำเนินการ

จากนี้ไปสนข.จะสร้างการรับรู้เรื่องรถไฟฟ้ารางเบาหรือแทรม ให้ประชาชนทุกพื้นที่เป้าหมาย ในโครงการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในจังหวัดนั้นๆเข้าใจ ให้เป็นแผนงานที่มีความเป็นไปได้ จากการลงทุนร่วมกันตามศักยภาพจังหวัด ส่วนที่เชียงใหม่ เป็น 1 ใน 4 จังหวัดภูมิภาค ที่รัฐบาล จัดงบเพื่อโครงการขนส่งมวลชน วงเงิน 107,233ล้านบาทรองรับด้าน ผู้บริหาร อปท. หลายแห่ง ในเส้นทางรถไฟฟ้ารางเบา วิ่งผ่าน กล่าว่า เห็นด้วยกับแนวคิดของสนข.และ อบจ. เชียงใหม่ ที่เปิดให้มีการร่วมทุนในการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนฯ เพราะเส้นทางหลักที่นำร่องมีงบ ก็ต้องสำรองงบในส่วนเส้นทางที่เชื่อมโยงทั้งระบบ
ด้วย

ร่วมแสดงความคิดเห็น