ประเพณีตานสลากเมืองลำพูน

ประเพณีทานสลาก คือ การทำบุญสลากภัตในล้านนาไทย มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น บางแห่งว่า “กิ๋นก๋วยสลาก” บางแห่งเรียก “กิ๋นสลาก” “ตานก๋วยสลาก” ในความหมายเป็นอย่างเดียวกัน สำหรับวิธีการทำบุญมีแตกต่างกันไปตามความนิยมในท้องถิ่นของตน ประเพณีกินก๋วยสลาก หรือทานสลากนี้เป็นประเพณีเก่าแก่ที่เกิดขึ้นในพระพุทธศาสนา ตั้งแต่พุทธสมัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ ปรากฏในพระธรรมบทขุททกนิกายว่า “พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญพระสาวกอรหันต์ของพระองค์คือ พระโกณฑธานเถระ

ซึ่งเป็นผู้มีโชคดีในการจับสลากได้ที่หนึ่งทุกครั้ง แม้พระพุทธเจ้าก็สู้ท่านไม่ได้ พระสาวกทั้งหลายมีความสงสัยว่าทำไมท่านจึงมีโชคดีในการจับสลากได้ที่หนึ่งทุกครั้ง พระพุทธเจ้าตรัสรับบอกแก่ภิกษุสงฆ์ทั้งมวลว่า โกณฑธานปรารถนาว่าถ้าเลือกอะไร แข่งขันอะไร ขอให้ได้ที่หนึ่งเสมอ ดังนั้นในชาตินี้โกณฑธานจึงเป็นคนโชคดี ในสมัยพุทธกาล ขณะที่พระพุทธเจ้าประทับ ณ พระเชตวันมหาวิหารนั้น วันหนึ่งนางกุมารีผู้หนึ่งได้อุ้มลูกชายวิ่งหนีนางยักขินีผู้มีเวรต่อกันหลายชาติแล้ว ติดตามมาจะทำร้ายลูกของนาง นางเห็นจวนตัวจะวิ่งหนีไปที่อื่นไม่ได้ จึงพาลูกวิ่งเข้าไปในพระเชตวันเข้าไปพระวิหารขณะที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมอยู่ นางเอาลูกน้อยวางแทบเท้าพระบาทแล้วกราบทูลว่า “ข้าแด่พระองค์ผู้เจริญ ขอทรงโปรดเป็นที่พึ่งแก่ลูกชายของหม่อมฉันเถิดพระเจ้าข้า” พระพุทธเจ้าได้หยุดพฤติกรรมที่จองเวรของนางกุมาริกา และนางยักขินีด้วยการตรัสคำสอนว่า “เวรย่อมไม่ระงับด้วยเวร เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวรธรรมนี้เป็นของโบราณ” แล้วทรงให้นางทั้งสองเห็นผิดชอบชั่วดี นางยักขินีรับศีล 5 แล้วนางก็ร้องไห้สะอึกสะอื้น กราบทูลพระพุทธเจ้าว่านางไม่รู้จะไปทำมาหากิน

อย่างไรเพราะรักษาศีลเสียแล้ว นางกุมาริกาจึงรับอาสาจะพานางไปอยู่ด้วยนางได้รับอุปการะจากนางกุมาริกาหลายประการ นึกถึงอุปการะอยากจะตอบแทนบุญคุณ จึงเป็นผู้พยากรณ์บอกกล่าวเรื่องราว อุตุนิยมวิทยา คือ บอกให้นางกุมาริกาทำนาในที่ดอนในปีฝนมาก ทำนาในที่ลุ่มเวลาฝนแล้ง นางกุมาริกาได้ปฏิบัติตามทำให้ฐานะร่ำรวยขึ้นยิ่งกว่าคนอื่น ๆ ในระแวกนั้น คนทั้งหลายจึงมีความสงสัยจึงถามนางกุมาริกาว่าเป็นอย่างไร ได้รับคำตอบว่า นางยักขินีเป็นผู้บอกกล่าวให้ คนทั้งหลายจึงพากันไปหานางขอบอกให้อย่างเดียวกับนางกุมาริกา คนทั้งหลายได้รับอุปการะจากนางยักขินีจนมีฐานะร่ำรวยไปตามๆ กัน ด้วยความสำนึกในบุญคุณ จึงพากันนำเอาเครื่องอุปโภคบริโภคอาหารการกิน เครื่องใช้มาสังเวยอยู่เป็นอันมาก
ข้าวของที่สำนักนางยักขินีจึงมีมากเหลือกินเหลือใช้ นางจึงนำมาทำเป็นสลากภัตรโดยให้พระสงฆ์ได้ทำการจับตามเบอร์ด้วยหลักของอุปโลกนกรรม คือ ของที่ถวายมีทั้งของมีราคามาก ราคาน้อย พระสงฆ์องค์ใดได้ของมีค่าน้อยก็อย่าเสียใจ ให้ถือว่าเป็นโชคของตนเอง ดีหรือไม่ดี การถวายแบบจับสลากของนางยักขินีนี้นับเป็นครั้งแรกแห่งประเพณีทำบุญสลากภัต หรือทานสลากในพระพุทธศาสนา
การทำบุญทางสลากภัต นับเป็นประเพณีที่สำคัญของล้านนาไทยประการหนึ่ง เนื่องมาจากค่านิยมที่สืบทอดทำมาแต่โบราณจนกลายเป็นประเพณีสืบมาช้านานคือ

1.ประชาชนว่างจากภาระกิจการทำนา
2. ผลไม้ เช่น ส้มโอ, ส้มเขียวหวาน, ส้มเกลี้ยง กำลังสุก
3. ประชาชนหยุดพักไม่เดินทางไกลเพราะเป็นฤดูฝน
4. พระสงฆ์จำพรรษาอย่างพรักพร้อม
5. ได้โอกาสสงเคราะห์คนยากจนเป็นสังคหทาน
6. ถือว่าเป็นอานิสงส์แรง คนทำบุญสลากมักจะมีโชคลาภวาสนา
7. มีโอกาสหาเงินและวัสดุบำรุงวัด

ด้วยเหตุผล 7 ประการนี้ ประชาชนชาวไทยในล้านนาจึงนิยมทำบุญสลากภัตกันเกือบทุกวัน มีแต่ว่าหากวัดใดมีงานตั้งธรรมหลวง (ฟังมหาชาติ) วัดนั้นจะเว้นจากการทำบุญสลากภัต
ประเพณีถวายสลากภัตหรือประเพณีถวายข้าวสลาก หรือ กินก๋วยสลากนั้น ทำกันมาตั้งแต่เดือน 12 เหนือเพ็ญ เรื่อยมาจนถึงต้นเดือนยี่เหนือ คือช่วงเดือน 11-12 ของภาคกลาง ชาวบ้านจะนำพืชผลมาถวายเป็นก๋วยสลาก นิมนต์พระสงฆ์จากวัดใกล้เคียงมารับไทยทานสลาก ซึ่งศรัทธาประชาชนร่วมกันถวาย สลากภัตของทางเมืองเหนือ ประกอบด้วย
1.สลากหน้อย คือ สลากก๋วยเล็ก
2.สลากก๋วยใหญ่ หรือ สลากโชค
สลากก๋วยเล็ก ใช้ถวายอุทิศแด่ผู้ตาย หรือทำบุญเพื่อเป็นกุศลในภายหน้า ส่วนสลากก๋วยใหญ่ ใช้ถวายเป็นมหากุศลสำหรับบุคคลผู้มีกำลังศรัทธา และร่ำรวยเงินทอง ทำถวายเพื่อเป็นพละปัจจัย ให้มีกุศลมากขึ้น

พิธีถวายสลากภัต ที่นิยมมี 3 ประเภท คือ
1.สลากเอาเส้น ซึ่งประชาชนจับสลาก แล้วนำไทยทานไปถวาย
2.สลากที่พระสงฆ์จับสลาก
3.สลากย้อม ซึ่งนิยมทำกันในกลุ่มไทยยอง ซึ่งหญิงสาวภายในหมู่บ้านจัดถวายเป็นประเพณี
ประเพณีสลากภัตที่ทำกันในล้านนาในปัจจุบันนี้ นิยมให้พระสงฆ์จับสลากเองเป็นส่วนมาก เพราะง่ายและทุ่นเวลา เพื่อให้การศึกษาเกี่ยวกับสลากภัตของล้านนาไทยสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
ประเพณีการ “ทานข้าวสลาก” หรือการ “กิ๋นก๋วยสลาก” ตามสำเนียงพูดของเมืองเหนือนี้ หมายถึงประเพณีทานสลากภัต เป็นประเพณีที่ชาวเหนือถือสืบเนื่องมานานแล้ว การทานก๋วยสลากจะเริ่มในราวเดือน 12 เหนือ (คือเดือน 10 ใต้ เดือนกันยายน) และสิ้นสุดลงในเดือนเกี๋ยงดับ (เดือน 11 ใต้) การทานก๋วยสลาก (หรือบางแห่งเรียกว่า ตานข้าวสลาก)

ก่อนวันทำพิธี “ทานก๋วยสลาก” 1 วัน เรียกว่า “วันดา” คือเป็นวันจัดเตรียมสิ่งของเครื่องไทยทาน พวกผู้ชายก็จะจัดการจักตอกสาน “ก๋วย” (ตะกร้า) ไว้หลาย ๆ ใบ บางครอบครัวอาจจะทำหลายสิบลูก แล้วแต่ศรัทธาและกำลังทรัพย์จะอำนวยให้ ทางฝ่ายผู้หญิงก็จะจัดเตรียมห่อของกระจุกระจิก เช่น ข้าวสาร พริกหอม กระเทียม เกลือ กะปิ ปลาร้า ขนมข้าวต้ม และอาหาร เช่น ห่อหมก (ทางเหนือ เรียกห่อนึ่ง) ชิ้นปิ้ง (เนื้อทอด) เนื้อเค็ม หมาก เมี่ยง บุหรี่ ไม้ขีดไฟ เทียนไฟ สีย้อมผ้า ผลไม้ต่าง ๆ เครื่องใช้สอยต่าง ๆ ตามแต่ศรัทธาและฐานะ สิ่งของต่าง ๆ เหล่านี้จะบรรจุลงในก๋วยซึ่งกรุด้วยใบตอง หรือกระดาษสีต่าง ๆ เมื่อจัดการบรรจุสิ่งของต่างๆ ลงในก๋วยเรียบร้อยแล้ว ก็จะเอา “ยอด” คือสตางค์ หรือธนบัตร ผูกติดไม้เรียวเสียบไว้ “ยอด” ที่ใส่นั้น ไม่จำกัดว่าเท่าใด แล้วแต่กำลังทรัพย์และศรัทธา จะอำนวยให้เมื่อเตรียมสิ่งของดังกล่าวเสร็จเรียบร้อยแล้ว ตอนเช้าวันรุ่งขึ้นในวันทานสลาก เขาก็จะใช้เด็กลูกหลานเอาเสื่อไปปูที่ลานวัด หรือตามศาลาบาตร และเอา “ก๋วยสลาก” ไปวางเรียงไว้เป็นแถว ๆ ส่วนผู้เฒ่าผู้แก่ก็จะจัดเตรียมขัน (พาน) ข้าวตอกดอกไม้ธูปเทียน ถือขัน (พาน) ไปวัดกันเป็นหมู่ๆ บ้างก็จูงมือลูกหลานไปด้วย ส่วนพวกหนุ่มๆ สาว ๆ ก็ไปเหมือนกัน ส่วนมากไปกันเกือบหมดทั้งครอบครัว เพราะถือว่าการทานสลากภัตนี้มีอานิสงส์มาก และจะได้ช่วยกันเอา “ก๋วยสลาก” ไปถวายพระในเวลามีการเรียก “เส้นสลาก”
การทานก๋วยสลากในภาคเหนือ มีการผิดแผกแตกต่างกันไปบ้างเล็กน้อยตามความนิยมในท้องถิ่น แต่พิธีไม่ผิดกัน เพียงแต่การเรียกชื่อเท่านั้น เช่น ที่บ้านกู่แดง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ มีการทานสลากที่เรียกว่า “สลากพระอินทร์” ส่วนที่บ้านประตูป่า บ้านริมปิง

และบ้านอุโมงค์ในเขตอำเภอเมืองลำพูน ก็จะมีการทานสลากเรียกว่า “สลากย้อม” สลากย้อมนี้ผู้ถือถวายทานมักเป็นหญิงสาวโสดบริสุทธิ์ กล่าวคือ หญิงสาวจะต้องเก็บหอมรอมริบเงินทองไว้ ตั้งแต่เริ่มเข้าสู่วัยสาวนับเป็นเวลาแรมปี เมื่อได้เงินทองพอสมควรและเป็นสาวเต็มตัวแล้วก็จะถวายทานสลากย้อมให้ได้สักครั้งในชีวิต

สลากย้อมนี้จะทำเป็นต้นไม้ หรือกิ่งไม้สูงประมาณ 4 – 5 วา มีร่มกางที่ปลายยอด ลำต้นสลากจะมีฟางมัดเป็นกำ ๆ เพื่อจะได้ปักไม้และเครื่องใช้ไทยทาน ซึ่งมีผลไม้ต่าง ๆ เช่น กล้วย อ้อย ส้มโอ ขนมต่าง ๆ และมีเครื่องนอน เครื่องเงิน เครื่องทอง เช่นเดียวกับการทานสลากโชค ซึ่งสลากโชคบางทีก็ทำเป็นต้นไม้ หรือกิ่งไม้ก็มี การทานสลากย้อมนี้ ส่วนมากเป็นพวกไทยยอง ไทยยองกับไทยลื้อเป็นพวกเดียวกันที่เรียกว่าไทยยองนั้น เรียกตามชื่อบ้านเมืองเดิมของพวกไทยลื้อกลุ่มนี้ คือ เมืองยอง จึงไทยยอง ก็เพราะมีความนิยมมาแต่อดีตว่า หญิงสาวผู้ใดที่ยังไม่ได้ทานสลากย้อมก็ยังไม่ควรแต่งงานมีครอบครัว ต่อเมื่อทานสลากย้อมแล้วจึงจะมีครอบครัวได้ ชีวิตการครองเรือนก็จะมีความสุขความเจริญ ในจังหวัดลำพูน จะมีการทานสลากภัตหรือ “ทานก๋วยสลาก” ที่วัดพระธาตุหริภุญชัย เป็นประจำทุกปี ในเดือน 12 เหนือ
(เดือน 10 ใต้) ขึ้น 15 ค่ำ และจัดเป็นงานใหญ่ทุกปี

เมื่อวัดพระธาตุหริภุญชัยฯได้จัดงานประเพณีตานก๋วยสลาก หรือ งานทานสลากภัตแล้ว วัดอื่นๆในจังหวัดลำพูนจึงจะสามารถจัดงานตานก๋วยสลากภัตได้ ส่วนตามจังหวัดอื่น ๆ ในภาคเหนือ ก็มีการจัดเป็นประจำทุกปี ซึ่งพิธีการก็ไม่มีอะไรผิดแปลกแตกต่างกัน

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น