นมัสการ “พระนวล้านตื้อ” ศิลปะยุคเชียงแสน

พระพุทธรูป นอกจากจะเป็นภาพสื่อสะท้อนให้ระลึกถึงคุณพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์แล้ว ยังถือเป็นภูมปัญญาของสังคมแต่ละยุคสมัยไว้ด้วย เช่นสมัยสุโขทัย ซึ่งเป็นช่วงที่บ้านเมืองร่มเย็นเป็นสุข ปราศจากศึกสงคราม ภาพที่สะท้อนออกมาจากองค์พระพุทธรูปจึงดูมีความนุ่มนวลสง่างาม ในสมัยเชียงแสน ซึ่งเป็นยุคแห่งอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ บนสองฝั่งแม่น้ำโขงมีพระพุทธรูปล้านตื้อหรือพระเจ้าทองทิพย์ เป็นศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชน โดยมีความเชื่อว่าเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ทำให้บ้านเมืองอุดมสมบูรณ์ ดังนั้นเมืองเชียงแสน จึงเป็นดินแดนที่มีเรื่องเล่าขานเกี่ยวกับพระพุทธรูปขนาดใหญ่ที่มีนามว่า พระเจ้าล้านตื้อ ที่จมอยู่ในแม่น้ำโขง ทำให้คนร่วมอาณาจักรเดียวกันในอดีตต้องแยกย้ายกันไปอยู่คนละประเทศ สถานที่จมของพระเจ้าล้านตื้อ คือบริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอเชียงแสนในปัจจุบัน มีประวัติความเป็นมาบางตอนปรากฏชัดเจนในตำนานว่าได้มีการค้นพบเปลวรัศมีในลำน้ำโขง เชื่อว่าเป็นพระเจ้าล้านตื้อหล่อด้วยทองสำริด มีขนาดความสูง 70 เซนติเมตร เมื่อคำนวนเทียบสัดส่วนแล้วจะมีความกว้างของหน้าตักองค์พระประมาณ 9 เมตร ปัจจุบันเปลวรัศมีที่ค้นพบถูกนำมาจัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติเชียงแสนในโลกปัจจุบัน อาณาเขตการปกครองมิอาจแบ่งแยกความเชื่อ ความศรัทธาในพุทธศาสนาได้กอรปกับผู้คนในระแวกนี้มีวัฒนธรรม ค่านิยมที่ใกล้เคียงกันในอันที่จะต้องดำรงชีวิตอยู่ด้วยกันไปตลอด ศูนย์รวมจิตใจของผู้คนเหล่านี้ยังคงอยู่ที่พระพุทธศาสนาเหมือนอดีต จะเห็นได้ว่าในวันสำคัญทางพุทธศาสนาจะมีผู้คนหลั่งไหลไปปฏิบัติธรรมร่วมกันโดยไม่แบ่งเชื้อชาติ เมื่อไม่สามารถกอบกู้พระเจ้าล้านตื้อหรือพระเจ้าทองทิพย์ขึ้นมาจากแม่น้ำโขงได้ พุทธศาสนิกชนจึงได้นำกำลังศรัทธาและความเสียสละมาจัดสร้างพระพุทธนวล้านตื้อขึ้นใหม่ เพื่อเป็นศูนย์รวมใจของพุทธศาสนิกชน 4 แผ่นดิน
ซึ่งเกิดจากความตั้งใจร่วมกันของคณะสงฆ์โดยพระธรรมราชานุวัตร รองเจ้าคณะภาค 6 วัดพระแก้ว พระราชสิทธินายก เจ้าคณะจังหวัดเชียงราย วัดพระสิงห์และจังหวัดเชียงราย โดยนายนรินทร์ พานิชกิจ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วยข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน ได้พิจารณาว่าเป็นช่วงที่บ้านเมืองเจริญรุ่งเรือง ประชาชนมีความร่มเย็นเป็นสุข มีความสัมพันธ์อันดีกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งเมืองเชียงแสนเป็นดินแดนประวัติศาสตร์อารยธรรม พระเจ้าล้านตื้อก็ยังเป็นที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชนในอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขง หากมีการค้นพบพระเจ้าล้านตื้อและสามารถนำขึ้นมาจากแม่น้ำโขงได้ อาจกลายเป็นปัญหาการอ้างสิทธิ์การเป็นเจ้าของ จนอาจกลายเป็นปัญหาระหว่างประเทศได้ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงเห็นชอบร่วมกันจัดสร้างพระเชียงแสน 4 แผ่นดินแทนองค์พระเจ้าล้านตื้อ เพื่อถวายแด่องค์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ณ บริเวณสามเหลี่ยมทองคำ และร่วมใจถวายนามว่า “พระพุทธนวล้านตื้อ เชียงแสน 4 แผ่นดินเฉลิมพระเกียรติ”พระพุทธรูปดังกล่าว เป็นลักษณะของพระพุทธรูปสมัยเชียงแสน รุ่นสิงห์หนึ่ง มีความงดงามกว่าบรรดาพระพุทธรูปสกุลช่างเชียงแสนด้วยกัน และเป็นที่นิยมของชาวล้านนา อยู่ในปางมารวิชัย ทำด้วยทองบุษราคัมหนัก 69 ตัน หน้าตักกว้าง 9.99 เมตร สูง 15 เมตรปิดทองอร่ามงามตา ประดิษฐานอยู่บนเรือกุศลธรรมศิลปะแบบเชียงแสน ยาว 89 เมตร สูง 7.50 เมตร กว้าง 22 เมตร อันมีความหมายว่าเพื่อนำพามนุษย์ไปสู่โลกพระศรีอารยเมตไตรย พระพุทธรูปนวล้านตื้อได้รับการออกแบบโดย 2 ศิลปินแห่งชาติ คือ อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ และอาจารย์กนก วศิวะกุล ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ด้านศิลปวัฒนธรรม
นอกจากนั้นยังได้มีการจำลององค์พระพุทธนวล้านตื้อขึ้นมาอีก 3 องค์ ขนาดหน้าตักกว้าง 72 นิ้ว (1.80) เมตร เพื่อมอบถวายแด่วัดทองทิพย์พัฒนาราม เมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว 1 องค์ มอบถวายแด่วัดปาเชต์มหาราชฐาน แคว้นสิบสองปันนา สาธารณรัฐประชาชนจีน 1 องค์และมอบถวายแด่วัดพระธาตุชเวดากองจำลอง จังหวัดท่าขี้เหล็ก ประเทศพม่าอีก 1 องค์ และยังมีการจำลองตุงเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ โดยกาiออกแบบของอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ซึ่งกำหนดจะทำการประกอบพิธีทูลเกล้าฯถวายแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น