คนไทยเตรียมไปใช้สิทธิ์!! ราชกิจจานุเบกษาประกาศกฎหมายเลือกตั้งแล้ว

ราชกิจจานุเบกษาลงประกาศพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) 2 ฉบับ ที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ คือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561
โดย พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. จะมีผลบังคับใช้หลังจากวันประกาศลงราชกิจจานุเบกษา 90 วัน คือ เดือน ธ.ค.นี้ ซึ่งจะตรงกับช่วงที่ คสช.ระบุจะมีการปลดล็อกให้พรรคการเมืองหาเสียงเลือกตั้งได้  สำหรับวันเลือกตั้งจะต้องจัดขึ้นภายใน 150 วันหลัง พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้ คือ ไม่เกินเดือน พ.ค. 2562 แต่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดไว้ก่อนหน้านี้ว่าน่าจะจัดเลือกตั้งได้ 24 ก.พ. 2562
ร่างปฏิทินเลือกตั้ง ส.ส. (เบื้องต้น) ของ กกต. ที่เผยแพร่ในที่ประชุมของสำนักงาน กกต.
12 ก.ย. – พ.ร.ป. เลือกตั้ง ส.ส. ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
23 ก.ย. – ระเบียบ กกต. ว่าด้วยการแบ่งเขตเลือกตั้ง มีผลบังคับใช้
26 ก.ย. – กกต. ออกร่างประกาศเขตเลือกตั้งและจำนวน ส.ส. (จากนั้นจะให้พรรคเสนอความเห็น)
13 พ.ย. – กกต. ออกประกาศเขตเลือกตั้ง/จำนวนประชากร/พรรคเริ่มเข้าสู่กระบวนการไพร์มารี
12 ธ.ค. – พ.ร.ป. เลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้กฎหมาย
19 ธ.ค. – ระเบียบ กกต. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้
20 ธ.ค. – ครม. พิจารณาร่าง พ.ร.ฏ. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ
31 ธ.ค. ประกาศ พ.ร.ฎ. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.
24 ก.พ. 62 วันเลือกตั้ง
พ.ร.ป. เลือกตั้ง ส.ส. มีเนื้อหาทั้งสิ้น 178 มาตรา โดยถือเป็นครั้งแรกในไทยที่มีการนำระบบเลือกตั้งแบบ “จัดสรรปันส่วนผสม” มาใช้ โดยให้ประชาชนเลือก ส.ส. แบบแบ่งเขต 350 เขต และนำคะแนนผู้สมัคร ส.ส. ทั้งประเทศของพรรคนั้น ๆ ไปคำนวณสัดส่วนจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อรวม 150 คน นอกจากนี้ยังกำหนดให้พรรคการเมืองแจ้งรายชื่อบุคคลที่จะเสนอตัวเป็นนายกรัฐมนตรีพรรคละไม่เกิน 3 รายชื่อแล้วประกาศให้ประชาชนรับทราบเป็นการทั่วไป

ส่วน พ.ร.ป. ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. จะมีผลใช้บังคับวันถัดจากวันประกาศลงราชกิจจานุเบกษา หรือวันที่ 13 ก.ย. นั่นเอง มีเนื้อหารวม 99 มาตรา โดยกำหนดให้ ส.ว. มีทั้งสิ้น 200 คน แต่เฉพาะในวาระเริ่มแรก 5 ปี กำหนดให้มี ส.ว. 250 คนจะมีที่มาจาก 3 ช่องทางคือ 1. มาจากการสรรหาของ คสช. จำนวน 194 คน 2. ผู้บัญชาการเหล่าทัพเป็น ส.ว. โดยตำแหน่ง จำนวน 6 คน และ 3. การเลือกตั้งโดยกลุ่มวิชาชีพ ซึ่งจะมาจากการเลือกตั้ง 3 ระดับ ตั้งแต่ระดับอำเภอ จังหวัด และประเทศ ก่อนส่งรายชื่อให้ คสช. คัดเลือกขั้นสุดท้ายเหลือ 50 คน
ตามปฏิทินเบื้องต้นของ กกต. คาดการณ์ว่า ครม. จะพิจารณาร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฏ.) ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ในวันที่ 15 พ.ย. ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ โดยประเมินว่าจะจัดการเลือกตั้งผู้สมัคร ส.ว. ระดับอำเภอได้ในวันที่ 30 ธ.ค. ระดับจังหวัดในวันที่ 6 ม.ค. 62 และระดับประเทศในวันที่ 16 ม.ค. 62

ร่วมแสดงความคิดเห็น