อุโบสถล้านนาที่วัดพระนอนม่อนช้าง

วัดพระนอนม่อนช้าง อ.ป่าซาง จ.ลำพูน ถือเป็นวัดเก่าแก่ที่สำคัญอีกวัดหนึ่งที่มีอายุกว่า 300 ปี นอกจากศิลปกรรมล้านนาของพระอุโบสถที่หาชมได้ยากแล้ว วัดนี้ยังมีองค์พระนอนขนาดใหญ่ประดิษฐานอยู่ในวิหารหลวง ภายในวัดยังพบศิลาจารึกโบราณกล่าวถึงการบูรณะองค์พระนอนม่อนช้าง ตอนหนึ่งว่า
“สิริสฺภนมัสตุ จุลศักราชได้ 1156 ตัว ในปีกาบยี เดือนปุสสะ แรม 8 ค่ำ พร่ำได้วันจันทร์ ไทยเมืองเหม้า ติถี 8 ตัว นาทีฤกษ์ 14 ตัว นาที 15 ตัว ในตุลยวาโยราศี ยามทุดเช้า ลัคนาเถิงในมังกรอาโปราศีมีวรัทธมาน ฉายาแนอุดมดี เหตุนั้น เจ้าเคล้าปฐมมูลสัทธาทั้งหลายทั้งภายในและภายนอก ห้องภายในหมายมีพระมหาสวาธุเจ้านันทวิสุทธวังโส ตนเป็นเจ้าเหง้าอารามวัดสะปุ๋งทีนีเป็นเคล้า…”
จากจารึกทำให้ทราบว่าการสร้างองค์พระนอน ไม่ทราบว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยใด เพราะไม่มีหลักฐานปรากฏ แต่หลักฐานการบูรณะจากรึกไว้ว่า มีพระมหาสาธุเจ้าพระวิสุทธวังโส วัดสะปุ๋งและสาธุเจ้าปัญญา วัดเชียงรายกับสาธุเจ้าเทพิน วัดบ้านถอง เป็นประธานฝ่ายสงฆ์และประธานฝ่ายฆราวาส องค์สมเด็จพระเชษฐาเจ้าและพระยารัตนหัวเมืองแก้วเป็นประธาร ได้มาซ่อมแซมองค์พระนอนพุทธไสยาสน์ให้ดีขึ้นพร้อมกันนั้นได้สร้างพระอุโบสถไว้กับวัด

นอกจากนั้นยังมีตำนานการสร้างวัดพระนอนม่อนช้าง กล่าวว่าพระพุทธองค์ได้เคยเสด็จมาในดินแดนแถบนี้ หลังจากเสด็จมาที่วัดพระพุทธบาทตากผ้า ในเวลานั้นมีลัวะ 2 ผัวเมียได้มาถวายภัตตาหารแด่พระพุทธองค์ แล้วได้ทูลขอพระเกศาจากพระพุทธเจ้า ได้ทรงประทานแก่ลัวะ 2 ผัวเมียนั้น นำมาบรรจุในพระเจดีย์บนดอยม่อนช้างในปัจจุบัน
ศิลปกรรมล้านนาที่หลงเหลือมาจนถึงปัจจุบัน ก็คือ พระอุโบสถวัดพระนอนม่อนช้าง เป็นอาคารเครื่องไม้ครึ่งล่างก่ออิฐถือปูน ด้านหน้าอุโบสถตั้งแต่หน้าบันลงมาจนถึงฐานล่างมีลายปูนปั้นแบบล้านนาผสมจีน บริเวณหน้าบันแบ่งเป็น 3 ช่อง แต่ละช่องมีตัวเทวดายืนประจำ 2 องค์ ภายในช่องปรากฏลวดลายปูนปั้นเครือเถาไม้เลื้อยมุมทั้งสองข้างมีตัวกิเลน ซึ่งเป็นสัตว์นวนิยาย ตรงกลางด้านล่างสุดของหน้าบันเป็นลายปูนปั้นรูปเทวดารำ ซึ่งร่องรอยบางส่วนชำรุดไปตามกาลเวลา นับเป็นศิลปกรรมล้านนาที่ยังคงสมบูรณ์อยู่มาก

เสาด้านหน้าพระอุโบสถทั้ง 4 เสา มีลายปูนปั้นศิลปะแบบจีน ตั้งแต่หัวเสาจนถึงฐาน แต่ปัจจุบันบริเวณด้านล่างของเสาลวดลายได้หลุดหลายไปคงเหลือเฉพาะหัวเสา คันทวยของพระอุโบสถเป็นไม้แกะสลักรูปพญานาคประดับด้วยปูนปั้นลายไม้เลื้อย
ปี พ.ศ.2470 ครูบาขาวปีได้มาเป็นประธานในการบูรณะพระวิหารและธรณีพระธาตุโดยรอบแต่ไม่แล้วเสร็จ ต่อมาครูบาศรีวิชัยแห่งวัดบ้านปางได้มาบูรณะและสร้างต่อจนเสร็จเมื่อปี พ.ศ.2473 ต่อมาปี พ.ศ.2490 ครูบาเจ้าพรหมา พรหมจักโก (พระสุพรหมนเถระ) วัดพระบาทตากผ้าได้มาเป็นประธานในการสร้างกำแพงวัดและสร้างเสริมธรณีรอบองค์พระเจดีย์ กระทั่ง ปีพ.ศ.2506 ทางคณะสงฆ์อำเภอป่าซาง มีพระครูพิศาลพุทธิธร เจ้าคณะอำเภอป่าซาง วัดป่าซางงามได้มาเป็นประธานซ่อมแซมพระอุโบสถ

พ.ศ.2515 พระครูพิศาลพุทธิธร เจ้าคณะอำเภอป่าซางและพระสุพรหมยานเถระวัดพระพุทธบาทตากผ้าได้ร่วมกับคณะศรัทธาประชาชน ได้มาบูรณะสิ่งก่อสร้างภายในวัดและได้ทำการเฉลิมฉลองเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2516 วัดพระนอนม่อนช้อง ตั้งอยู่บนเนินเขาที่บ้านกิ่วมื่น ต.มะกอก อ.ป่าซาง จ.ลำพูน สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย วัดพระนอนม่อนช้าง สร้างเมื่อปี พ.ศ.2210 ปัจจุบันมีพระมหาอมร อมโร เป็นเจ้าอาวาส สำหรับผู้สนใจชมพระอุโบสถศิลปกรรมล้านนาที่หาชมยาก ใช้เส้นทางสายป่าซาง – ลี้ ก่อนถึงวัดพระบาทตากผ้าเลี้ยวซ้ายที่บ้านกิ่วมื่น เข้าไปประมาณ 2 กม.

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น