เตือนภัย “โรคฉี่หนู” ระบาดมากช่วงฤดูฝน

ช่วงสถานการณ์ฝนตกหนัก น้ำท่วมขังแบบนี้ ไม่ว่าจะเป็นเขตเมือง หรือชนบท ต่างก็อยู่ในพื้นที่เสี่ยงทั้งสิ้น การป้องกันรักษาสุขภาพ และรู้จักวิธีการสังเกตอาการจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะหากปล่อยทิ้งไว้อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
โรคฉี่หนูหรือโรคเลปโตสไปโรซิส (Leptospirosis) เป็นโรคที่ติดต่อจากสัตว์สู่คน ซึ่งมากับช่วงเวลาที่มีน้ำขัง หรือเกิดน้ำท่วมในประเทศไทย และพบมากในกลุ่มชาวไร่ ชาวนา ทำฟาร์มปศุสัตว์ ซึ่งเป็นอาชีพหลักของคนไทย นอกจากนี้ยังพบในกลุ่มพนักงานทำความสะอาดท่อประปา คนที่ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ รวมถึงสัตวแพทย์
สาเหตุของโรค มาจากการติดเชื้อแบคทีเรียรูปเกลียวขนาดเล็ก ชื่อเลปโตไปร่าอินเทอโรแกนส์ (Leptospira interrogans) ซึ่งเชื้อสามารถมีชีวิตได้นานหลายเดือนหลังจากถูกขับออกทางปัสสาวะจากสัตว์ที่มีเชื้อ และเป็นแหล่งรังโรค ได้แก่ สุกร โค กระบือ สุนัข โดยที่สัตว์อาจจะไม่มีอาการแต่สามารถปล่อยเชื้อได้เป็นเวลาหลายสัปดาห์หรืออาจจะตลอดชีวิตสัตว์
อาการของโรค จะแตกกันออกไป ระยะฟักตัวของโรคอาจจะเร็วภายใน 2 วัน หรือนานถึง 26 วัน หรือจะอยู่ในช่วงสัปดาห์ 5-14 วัน ผู้ที่ติดเชื้อหรือได้รับเชื้ออาจจะไม่มีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อยจนกระทั่งรุนแรง เริ่มด้วยมีไข้เฉียบพลัน หนาวสั่น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดศรีษะ ตาแดง คลื่นไส้ และปวดท้อง ถ้าปล่อยทิ้งไว้อาจมีอาการมีจุดเลือดออกตามเพดานปาก หรือผิวหนังได้ ส่วนการปวดศรีษะของผู้ที่เป็นโรคฉี่หนูนั้นจะมีอาการรุนแรงเฉียบพลัน ปวดเบ้าตาและกลัวแสงร่วมด้วย การปวดเมื่อยกล้ามเนื้อมักจะรุนแรงโดยเฉพาะที่หลัง ต้นขาและน่องได้ นอกจากนี้ยังพบภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมา
1. ตาและตัวเหลือง
2. ไตวาย
3. ภาวะเลือดออก เช่น เลือดออกใต้ผิวหนัง เยื่อบุตา ทางเดินอาหาร
4. ปอดอักเสบ
5. กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
6. ม่านตาอักเสบ
7. เยื่อหุ้มสมอง เส้นประสาทอักเสบ และอาการทางจิต
8. ในผู้ป่วยหญิงมีครรภ์ อาจทำให้แท้งบุตร หรือทารกในครรภ์เสียชีวิตได้
ดังนั้นหากรู้วิธีการสังเกตอาการแล้วสิ่งสำคัญที่สุด คือ การป้องตัวเองให้ห่างไกลจากโรคฉี่หนู ซึ่งการป้องกันมีดังนี้
1.กำจัดหนูพร้อมๆ กัน
2.หากจำเป็นต้องอยู่บริเวณน้ำขัง หรือพื้นที่สุ่มเสี่ยง ควรสวมรองเท้าบู๊ท ถุงมือ ถุงเท้า เสื้อผ้าปิดมิดชิด
3.หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์ที่เป็นพาหะของโรค
4.หลีกเลี่ยงการว่ายน้ำที่อาจจะมีเชื้อโรคปนเปื้อนอยู่
5.หลีกเลี่ยงไม่ไปสัมผัสปัสสาวะ โค กระบือ หนู สุกร และแหล่งน้ำที่สงสัยว่าจะปนเปื้อนเชื้อ หลีกเลี่ยงอาหารค้างคืนโดยไม่มีภาชนะปกปิด
6.หลีกเลี่ยงการทำงานในน้ำ หรือต้องลุยน้ำลุยโคลนเป็นเวลานานๆ
7.รีบอาบน้ำ ทำความสะอาดร่างกายโดยเร็ว เมื่อแช่หรือย่ำลงไปในแหล่งน้ำสงสัยอาจปนเปื้อน
8.กินอาหารสุกใหม่ อาหารที่เหลือใส่ภาชนะปิดมิดชิด ผักผลไม้ ควรล้างให้สะอาดก่อนนำมาทำอาหาร
เน้นย้ำว่า “ฉี่หนู” ระบาดมากในฤดูฝน ระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงตุลาคมของทุกปี มีโอกาสที่น้ำจะท่วมตามที่ต่างๆ ได้มากกว่าเดือนอื่น ดังนั้นการป้องกันโรคทุกชนิดต้องมีพื้นฐานสุขภาพที่แข็งแรง ซึ่ง สสส. ได้ผลักดันให้เกิดกิจกรรรมทางกาย ออกกำลังกาย กินอาหารที่มีประโยชน์ มาโดยตลอด เพื่อให้ประชาชนมีพื้นฐานสุขภาวะที่ดีในการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขห่างไกลจากโรคต่างๆ

ร่วมแสดงความคิดเห็น