การแต่งกายของคนเมืองล้านนา

ถ้าลองย้อนไปในอดีตเมื่อมนุษย์เริ่มมีการคิดค้นเสื้อผ้าขึ้นมาจะพบว่า จากหลักฐานทางเอกสารและโบราณคดีในประเทศไทยแสดงให้เห็นว่า ในยุคก่อนประวัติศาสตร์เมื่อประมาณ 5,000 ปีมาแล้ว มนุษย์ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยรู้จักวิธีการทอผ้าขึ้นใช้เอง นอกจากนั้นยังมีการค้นพบอุปกรณ์เครื่องมือสำหรับการทอผ้าอีกหลายอย่าง เช่น แวดินเผาสำหรับปั่นปุยฝ้ายให้เป็นเส้นด้าย,เข็มเย็บผ้าที่ทำจากกระดูกสัตว์ เป็นต้นส่วนการแต่งกายของคนเมืองล้านนาในอดีตที่ผ่านมาสันนิษฐานกันว่า จะนิยมทอผ้าฝ้ายและผ้าไหมขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องนุ่มห่มสำหรับถวายพระภิกษุสงฆ์ หรือให้เป็นทานแก่ผู้ยากจน ตลอดจนเป็นสินค้าสำหรับส่งไปขายยังอาณาจักรอื่น ๆ ผ้าที่เชื่อกันว่าทอขึ้นใช้ในสมัยนั้นได้แก่ ผ้าสีจันทน์ขาว ,ผ้าสีจันทน์แดง ,ผ้าสีดอกจำปา ,ผ้าธรรมดาและผ้ากัมพล เป็นต้น

เมื่อชาวล้านนานิยมการสักตามตัวในสมัยรัตนโกสินทร์นั้น ชาวล้านนามักจะไม่สวมเสื้อ นอกจากในการแต่งตัวเต็มยศ โดยทั่วไปผู้ชายจะสักยันต์ตามตัวนุ่งผ้าต้อย ซึ่งเป็นผ้านุ่งขนาดต่าง ๆ กัน โดยจะม้วนชายผ้าเป็นเกรียวสอดระหว่างขาซึ่งเป็นการนุ่งแบบเดียวกับการถกเขมรและโจงกระเบน นิยมใช้ผ้าคล้องไหล่และโพกหัว ส่วนผู้หญิงจะนุ่งซิ่นลายขวางเกือบคล่อมเท้า ท่อนบนมีผ้าผืนหนึ่งไว้คล้องคอ พันหน้าอก หรือ พาดบ่า เกล้าผมมวยกลางศรีษะปักปิ่นไว้ที่ผม หญิงชาวล้านนาจะนิยมห่มผ้าเฉียงแบบสไบเรียกว่า “ห่มผ้าสะหว้ายแล่ง” นุ่งผ้าซิ่น ส่วนผู้ชายจะนุ่งผ้าต้อยขนาดยาวแบบโจงกระเบน สวมเสื้อคอจีนติดกระดุม ถ้าเป็นเจ้านายจะสวมเสื้อไหมคล้ายเสื้อครุยทับอีกชั้นหนึ่ง มีผ้าพันเอว 2 ผืน คือ รัดทับผ้าต้อยและเสื้ออาณาจักรล้านนามีพัฒนาการด้านการเมืองมาหลายยุคหลายสมัยนับตั้งแต่การสร้างเมืองเชียงใหม่เป็นเมืองหลวงของอาณาจักรล้านนาเมื่อปี พ.ศ.1839 จนกระทั่งปีพ.ศ.2101 เป็นยุคแห่งราชวงศ์มังราย ช่วงระหว่างปี พ.ศ.2101 – 2317 อาณาจักรล้านนากลายเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรพุกามแห่งพม่าและเป็นประเทศราชของอาณาจักรไทย ต่อมาเมื่อมีการปฏิรูปการปกครองในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อปี พ.ศ.2435 อาณาจักรล้านนาได้เปลี่ยนมาเป็นมณฑลพายัพ จากพัฒนาการด้านการเมืองนี่เองสามารถสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมการแต่งกายของชาวล้านนาที่จะนิยมสวมเสื้อผ้าฝ้ายสีขาวตุ่น หรือสีครามคอกลมแขนสั้น แขนสามส่วนติดกระดุมหรือผูกเชือก ผู้ชายนุ่งกางเกงจีนผ้าฝ้ายสีดำเรียกว่า “เตี่ยวสะดอ” ผู้หญิงนุ่งผ้าซิ่นแบบโบราณ เวลาไปงานพิธีจะห่มผ้าสไบ
ทับลงบนเสื้ออีกชั้นหนึ่งในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ในพระบาทสมเด็จพระจุลเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รับพระบรมราชานุญาติให้เสด็จกลับมาประทับที่เมืองเชียงใหม่ พระองค์ได้ทรงนำรูปแบบการแต่งกายของสตรีในกรุงเทพฯเข้ามาใช้ในคุ้ม แล้วแพร่หลายอยู่ในกลุ่มชนชั้นสูง คือจะสวมเสื้อแขนหมูแฮมแบบยุโรปใส่กับผ้าซิ่นไหมลายพม่าต่อตีนจกแบบเชียงตุงหรือเชียงใหม่ เกล้าผมทรงญี่ปุ่นปักด้วยดอกไม้ไหวทองคำ ส่วนผู้ชายจะนิยมสวมเสื้อราชประแตนสวมกางเกงแพรหรือนุ่งโจงกระเบนผ้าไหมทรงหางกระรอก ขณะที่สามัญชนทั้งชายหญิงยังแต่งกายแบบเดิม

จนกระทั่งถึงสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่ส่งเสริมให้ชาวไทยแต่งตัวตามแบบสากล นับตั้งแต่นับมาผู้คนชาวล้านนาก็หันมานิยมการแต่งกายตามความนิยมของชาวตะวันตกเรื่อยมาจนปัจจุบัน

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น