ตามรอยพระยุคลบาท สู่เมืองเพชรบุรี โครงการพระราชประสงค์ “หุบกะพง – ห้วยทราย”

โครงการพระราชประสงค์หุบกะพง เริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2509 – 18 สิงหาคม 2514 ระยะเวลา 5 ปี คณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ ร่วมกับกระทรวงเกษตร ร่วมมือกันปฏิบัติงานพร้อมกับผู้เชี่ยวชาญจากประเทศอิสราเอล ซึ่งต่อมาได้เลือกที่ดิน จำนวน 30,000 ไร่บริเวณหุบกะพง อ.ชะอำ จ.เพชรบุรีเป็นพื้นที่จัดทำโครงการ โดยในระยะแรกได้มีการสำรวจวิเคราะห์ดิน จัดทำระบบชลประทาน จัดสรรที่ดินให้แก่เกษตรกรจำนวน 83 ครอบครัวๆ ละ 25 ไร่ จากนั้นจัดทำศูนย์สาธิตทดลองการเกษตร สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกถนนหนทาง สร้างวัด โรงเรียน ร้านค้า สหกรณ์ สถานีอนามัยและศูนย์โภชนาการเด็กปีพ.ศ. 2514 เมื่อเกษตรกรของโครงการมีความรู้ความเข้าใจเรื่องหลักการ วิธีการและอุดมการณ์ของสหกรณ์ดีแล้ว จึงได้จดทะเบียนเป็นสหกรณ์ เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2514 ใช้ชื่อว่า สหกรณ์การเกษตรหุบกะพง จำกัด มีสมาชิก 128 ครอบครัว โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานหนังสือจดทะเบียนสหกรณ์ให้แก่คณะกรรมการสหกรณ์หุบกะพง มีทุนดำเนินงานครั้งแรก 253,677 บาท เงินสำรอง 60,661 บาท ภายหลังสิ้นปีแรก ปรากฏว่าสหกรณ์ได้กำไรสุทธิเป็นเงิน 3,376 บาท ปัจจุบันสหกรณ์การเกษตรหุบกะพงมีทุนดำเนินการทั้งสิ้น 12,594,330 บาท มีจำนวนสมาชิกเพิ่มมากขึ้นถึง 421 ครอบครัว นับเป็นตัวอย่างของการจัดตั้งสหกรณ์การเกษตรในเวลาต่อมา สหกรณ์การเกษตรหุบกะพง ถือเป็นสหกรณ์ที่สมบูรณ์แบบ พื้นที่กว่า 7,563 ไร่ ได้จัดแบ่งให้เกษตรกรเข้าทำประโยชน์ โดยแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นพื้นที่หมู่บ้าน ขณะเดียวกันพื้นที่ส่วนที่เหลือ 1,000 ไร่ ซึ่งมีเขตติดกับภูเขาได้กันไว้ให้กรมป่าไม้ปลูกป่าทดแทนตามโครงการ
พัฒนาต้นน้ำตามพระราชประสงค์หุบกะพง รวมทั้งมีการสร้างอ่างเก็บน้ำขึ้น 3 แห่ง เพื่อใช้ในการเกษตรและบริโภค นอกจากนั้นยังเป็นสถานที่เพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดต่างๆอีกด้วย

ใกล้กับโครงการพระราชประสงค์หุบกะพง เป็นที่ตั้งของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทั้งนี้เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2526 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานพระราชดำริแก่ หม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธ์ องคมนตรี และ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษ เพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เนื่องจากว่าที่ดินในบริเวณนี้เป็นที่อยู่อาศัยของเนื้อทราย สัตว์ป่าหายากที่ใกล้สูญพันธุ์ ต่อมาราษฏรได้เข้ามาบุกรุกแถ้วถางป่า ในช่วงเวลาไม่ถึง 40 ปี ป่าไม้ได้ถูกทำลายลง ทำให้เกิดฝนแล้ง ดินขาดการบำรุงรักษาเกิดการพังทลายของหน้าดิน ประกอบราษฏรส่วนใหญ่มีอาชีพปลูกสับปะรด ซึ่งใช้สารเคมีในปริมาณสูง ทำให้คุณภาพของดินเสื่อมโทรมพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระกระแสรับสั่ง เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรพื้นที่ห้วยทรายว่า “หากปล่อยทิ้งไว้จะกลายเป็นทะเลทรายในที่สุด” จึงให้พัฒนาพื้นที่ดังกล่าวเป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนาด้านป่าไม้อเนกประสงค์ จัดให้ราษฏรได้เข้าไปใช้พื้นที่ทำกินอยู่เดิมโดยให้มีส่วนร่วมในการดูแลรักษาป่า โดยศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ มุ่งหมายที่จะเป็นศูนย์ศึกษารูปแบบการพัฒนาเกษตรกรรมควบคู่ไปกับการปลูกป่า จัดหาแหล่งน้ำ รวมถึงศึกษาวิธีทำระบบป้องกันไฟไหม้ป่า ให้ราษฏรสามารถสร้างรายได้จากผลิตผลป่าไม้ เพาะปลูกพืชชนิดต่างๆควบคู่ไปด้วย

ปัจจุบันศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่ของพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ต.สามพระยา อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี มีพื้นที่ดำเนินโครงการกว่า 15,882 ไร่ ดูแลงานด้านอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศน์ การอนุรักษ์ดินและน้ำ นอกจากนั้นยังดูแลงานด้านการศึกษาและพัฒนาสิ่งแวดล้อม งานศึกษาและพัฒนาความเป็นอยู่พื้นฐานและการประกอบอาชีพของราษฏร โดยจัดทำโครงการศึกษาทดลองการเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์สัตว์ได้แก่ เนื้อทราย นกยูง ซึ่งเป็นสัตว์ป่าเฉพาะถิ่นที่หายาก โครงการศึกษาทดลองรูปแบบการเกษตรแบบยั่งยืน และโครงการศึกษาทดลองด้านพืชเพื่อส่งเสริมอาชีพจากพระราชปณิธาน ที่พระองค์ทรงมุ่งหวังว่า จะพลิกฟื้นพื้นที่ๆเคยแห้งแล้งให้กลายสภาพเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์เพื่อให้ราษฏรได้ใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์ทั้งในด้านการประกอบอาชีพและเป็นที่อยู่อาศัยนั้น ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ คงจะเป็นบทพิสูจน์หนึ่งที่หลายฝ่ายได้เข้ามาช่วยกัน พลิกผืนดินให้เป็นผืนป่า สมดั่งพระราชดำริของพระองค์ท่านที่เคยรับสั่งไว้เมื่อ 20 ปีก่อนในอนาคตศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จะกลายเป็นแหล่งธรรมชาติกลางใจเมือง ในฐานะปอดของเมือง ระหว่างหัวหินกับชะอำ สามารถให้ประชาชนทั้งในเมืองและชนบทได้ใช้ประโยชน์จากศูนย์ฯแห่งนี้ ทั้งในด้านการดำรงชีพและสิ่งแวดล้อมที่ดีตามพระราชประสงค์ที่จะให้ประชาชนอยู่รอด และธรรมชาติอยู่รอดด้วย

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น