“เปี๊ยะ” ดนตรีพื้นบ้านล้านนาสุดคลาสสิก

พิณเพลี๊ยะ หรือ พินเปี๊ยะ หรือ เปี๊ยะ เครื่องดนตรีโบราณล้านนาที่มีความเก่าแก่มากที่สุดชิ้นหนึ่งมีวัฒนาการมาจากพิณธนู มีสายตั้งแต่ 2-7 สาย กล่องเสียงทำด้วยกะลามะพร้าว ด้ามทำด้วยไม้เนื้อแข็งเหลาเป็นทรงกระบอกปลายด้านหนึ่งเรียวแหลมสวมไว้กับหัวเปี๊ยะ ในภาษาล้านนาคำว่า “เปี๊ยะ” หมายถึง อวด หรือ แสดง จึงมีผู้รู้บางท่านสันนิษฐานว่าชื่อนี้น่าจะมาจากลักษณะการเล่นเปี๊ยะที่ต้องเปิดอกเสื้อออกอวด แต่ข้อสันนิษฐานนี้ได้มองข้ามเหตุผลที่ว่าในสังคมของคนล้านนานั้น ผู้คนทั้งหญิงชายต่างก็เปลือยอกกันอย่างเปิดเผย เป็นเรื่องปกติธรรมดา ดังนั้นจึงไม่น่าจะมีการเปลือยอก “เปี๊ยะ” กันอีก
เปี๊ยะเป็นเครื่องดนตรีที่ชาวไทยวนรู้จักและทำเล่นกันมาตั้งแต่อดีต จากหลักฐานในพงศาวดารล้านช้างระบุว่า กษัตริย์แห่งอาณาจักรไทยในประเทศจีนตอนใต้ได้ส่งครูมาสอนคนไมยในแหลมอินโดจีน ให้รู้จักนาฏศิลป์และเครื่องดนตรี ซึ่งก็รวมถึงเปี๊ยะด้วย อย่างไรก็ตามแม้ว่าในพงศาวดารล้านช้างจะกว่าวว่า กษัตริย์ไทยแห่งอาณาจักรไทยยูนานเป็นคนนำเอาเปี๊ยะมาเผยแพร่ แต่ก็อยู่ในรูปแบบของตำนานซึ่งยังไม่สามารถใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงที่แน่นอนได้ นอกจากจะสรุปว่าสมัยที่แต่งตำนานหรือพงศาวดารนี้ขึ้น ผู้แต่งตำนานนี้ได้รู้จักเปี๊ยะกันแพร่หลายพอสมควรในสมัยหนึ่ง

เครื่องดนตรีเปี๊ยะเคยนิยมอย่างแพร่หลายกันแต่ในราชสำนักฝ่ายเหนือสมัยโบราณ ต่อมาได้แพร่ออกมาสู่กลุ่มชาวบ้านที่พอมีฐานะและมีฝีมือทางดนตรี เพราะหัวเปี๊ยะซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญนั้นหายากและมีราคาแพง ประกอบกับเปี๊ยะเป็นเครื่องดนตรีที่เล่นยากและมีเสียงไพเราะมาก ดังนั้นใครที่เล่นเปี๊ยะได้ก็จะเป็นที่ยกย่องชื่มชมเป็นพิเศษ ทำให้หนุ่ม ๆ ล้านนาสมัยก่อนนิยมที่จะเสาะแสวงหาเปี๊ยะมาเล่นกัน เพราะจะได้เปรียบเครื่องดนตรีชนิดอื่นในเวลาที่ไปเที่ยวสาวยามค่ำคืน

การเล่นเปี๊ยะ ผู้เล่นต้องครอบกล่องเสียงไว้ที่หน้าอกและดีดด้วยเทคนิคเฉพาะที่เรียกว่า “ป๊อก” โดยใช้นิ้วก้อยหรือนิ้วนางดีดสาย และใช้โค่นนิ้วชี้ของมือนั้นแตะสายที่จุดเสียงจึงจะได้เสียงดังสดใส กังวาน คล้ายเสียงระฆัง ว่ากันว่าเปี๊ยะที่ดีจะต้องมีเสียงดังเหมือน “เต็งพันเมา” คือ กระดิ่งที่มีเสียงชวนให้หลงใหลโดยเร็วพลัน
เปี๊ยะ เป็นเครื่องดนตรีที่ชาวบ้านในล้านนานิยมเล่นกันอยู่ในสมัยหนึ่ง ปัจจุบันได้สูญหายไปเกือบหมดแล้ว เปี๊ยะยังเป็นเครื่องดนตรีที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นอัจฉริยะของผู้ประดิษฐ์ และผู้เล่าเป็นอย่างมาก นอกจากนั้นยังเป็นเครื่องดนตรีระดับชาวบ้านที่ทำยากและมาราคาแพงที่สุด เสียงของเปี๊ยะมีลักษณะไพเราะและโอ่อ่าอลังการกว่าเครื่องดนตรีชนิดใด แม้ว่าเสียงของเปี๊ยะที่ได้รับการบันทึกเอาไว้และนำมาเปิดสู่กันฟังก็ไม่ได้มาจากยอดฝีมือในการเล่นเปี๊ยะ ทว่าก็ได้สะกดให้คนฟังเกดความใหลหลงติดอกติดใจในเสียงของมันได้ไม้น้อย นอกจากนี้เปี๊ยะยังเป็นเครื่องดนตรีที่ผู้เสียงสามารถพลิกแพลงได้อย่างอิสระและกว้างขวางกว่าเครื่องดนตรีชนิดอื่น ดังนั้น “เปี๊ยะ” จึงสะท้อนภาพเอกลักษณ์ของสังคมล้านนาได้ค่อนข้างจะพิเศษและชัดเจนกว่าเครื่องดนตรีที่ชาวบ้านนิยมเล่นกัน

จากบทความเรื่อง “จากเสียงซึงสู่พิณเปี๊ยะ” ซึ่งเขียนโดยคุณจรัล มโนเพ็ชร กล่าวไว้ว่า “พิณเปี๊ยะ” เกือบสูญหายไปจากโลกนี้แล้ว ถ้าไม่มีอุ้ยแปง โนจา ศิลปินผู้มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรมสาขาศิลปการแสดง (ดนตรีพื้นบ้าน-พิณเปี๊ยะ) อุ้ยวัน ถาเกิด และอุ้ยบุญมา ไชยมะโน ผู้มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรมสาขาเพลงพื้นบ้าน (2540) ช่วยกันฟื้นฟูรักษาขึ้นมา เหตุที่เปี๊ยะไม่เป็นที่แพร่หลายก็เพราะเป็นเครื่องดนตรีที่มีเสียงเบามาก เล่นรวมกับเครื่องดนตรีอื่นไม่ได้ ท่วงทำนองและลีลาการเล่นก็เป็นเอกลักษณะเฉพาะตัว ผู้เล่นและคนฟังจะต้องมีสมาธิ กล่าวคือเสียงเปี๊ยะที่แผ่วเบาและกังวานอยู่นั้น เปรียบประดุจกระแสเสียงดนตรีที่เล่นให้เทวดาฟังประมาณนั้นเชียวอุ้ยแปง โนจาเคยเล่นพิณเปี๊ยะและทิ้งไปแล้วเกือบ 50 ปีจนกระทั่งคุณจรัล มโนเพ็ชร ได้ไปพบอุ้ยแปง จึงขอให้รื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ อุ้ยแปงสร้างพิณเปี๊ยะด้วยตนเองและเริ่มระลึกถึงความหลัง จากเปี๊ยะ 2 สาย เพิ่มเป็น 4 สายและ 7 สายและในที่สุดอุ้ยแปงก็มีโอกาสเล่นพิณเปี๊ยะต่อหน้าพระพักตร์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี สมเด็จะพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา และได้นำพิณเปี๊ยะที่ตนเองเล่นถวายแด่ทั้งสองพระองค์อุ้ยแปง แม้จะมีชีวิตที่แสนลำบาก ต้องสานเข่งขายหารายได้ประทังชีวิต ต้องกินข้าวกับขนมไข่ แต่อุ้ยแปงก็มีความสุขและมีความรักในการเล่นเปี๊ยะ ยินดีที่จะถ่ายทอดวิชาความรู้การเล่นเปี๊ยะแก่นักศึกษาหรือผู้สนใจโดยไม่เรียกร้องสิ่งตอบแทน อุ้ยแปงเคยบอกไว้ว่า
การสอนศิษย์อย่าหวงวิชา และการถ่ายทอดให้คนอื่นต่อไปนั่นก็คือการได้ตอบแทนพระคุณของครูบาอาจารย์

ปัจจุบันเปี๊ยะ ได้รับการรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้งในช่วงเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมาโดยศิลปินกลุ่มลายเมือง ซึ่งเป็นศิลปินกลุ่มที่รวมตัวกันของคนที่รักงานด้านศิลปวัฒนธรรมล้านนา ได้มีการนำเอา เปี๊ยะดนตรีพื้นบ้านล้านนาโบราณมาแสดงให้ผู้สนใจได้รับชมกัน หลังจากนั้นดนตรีเปี๊ยะก็ได้รับความนิยมแพร่หลายออกไป แต่ยังไม่มานัก เนื่องจากมีข้อจำกัดหลายประการ

นายพิพัฒน์พงษ์ หน่อขัด และนายปรัชญา วงศ์ฝั้น จากชมรมสืบสานตำนานพิณเปี๊ยะ ในมูลนิธิพระบรมธาตุดอยสุเทพ กล่าวถึงความนิยมในดนตรีเปี๊ยะว่า ในอดีตที่ผ่านมา พิณเปี๊ยะไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควรเนื่องจากปัญหา 4 ประการคือ พิณเปี๊ยะไม่มีบทบาทในเชิงพาณิชย์ พูดง่าย ๆ คือ เล่นแล้วไม่ได้ตังค์ ส่วนใหญ่คนสมัยก่อนที่เล่นเปี๊ยะเป็นนิยมเล่นไว้อวดสาว นอกจากนั้นดนตรีเปี๊ยะยังถือเป็นเครื่องดนตรีที่เล่นยาก จนมีคำกล่าวถึงการเล่นเปี๊ยะว่า 3 เดือนหัดปี่ 3 ปีหัดเปี๊ยะ ขณะเดียวกันประเพณีการแอ่วสาวของคนรุ่นเก่าได้สูญหายไปจึงทำให้คนเล่นเปี๊ยะไม่ได้สานต่อ สุดท้ายคือเครื่องดนตรีเปี๊ยะนั้นเป็นเครื่องดนตรีที่ทำยากมีอุปกรณ์หลายอย่างจึงทำให้ไม่ได้รับความนิยม นอกจากนั้นแล้ว กิจกรรมต่าง ๆ ของกลุ่มลายเมืองก็จะเน้นไปที่การส่งเสริม อนุรักษ์ สืบสานงานศิลปวัฒนธรรมของล้านนา เช่น ศิลปะการแสดง การฟ้อนดาบ ฟ้อนเชิง ฟ้อนสาวไหม การเล่นดนตรีพื้นบ้านสะล้อ ซอ ซึง เปี๊ยะ รวมถึงการประดิษฐ์งานหัตถศิลป์ของล้านนาด้วย ปัจจุบันพิณเปี๊ยะ ยังได้ถูกจัดแสดงไว้ให้ชมในพิพิธภัณฑ์ชุมชนเมืองลำพูน

อย่างไรก็ตาม ชมรมสืบสานตำนานพิณเปี๊ยะ ในมูลนิธิพระบรมธาตุดอยสุเทพ ยังถือเป็นตัวแทนคนรุ่นใหม่ในการอนุรักษ์สืบทอดดนตรีเปี๊ยะ อันเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมของคนล้านนาไว้ไม่ให้สูญหายไปพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมที่นับวันผู้คนไม่ค่อยสนใจความเป็นตัวของเราเอง ซึ่งถ้าหากขาดกลุ่มคนกลุ่มนี้แล้ว ไม่แน่ว่าศิลปวัฒนธรรมต่าง ๆ เหล่านี้ จะหลงเหลือไว้เป็นมรดกให้ลูกหลานไปอีกนานแค่ไหน.

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น