13 ทุ่งพื้นที่ลุ่มต่ำเจ้าพระยา เก็บเกี่ยวเกือบหมดแล้ว พร้อมรับน้ำเข้าทุ่งลดน้ำหลาก

พื้นที่ลุ่มต่ำ 13 ทุ่ง ลุ่มน้ำเจ้าพระยา เก็บเกี่ยวข้าวเกือบหมดแล้ว คาดว่าจะเริ่มรับน้ำเข้าทุ่งได้ตั้งแต่ปลายเดือน ก.ย. 61 เป็นต้นไป หวังช่วยลดปริมาณน้ำไหลหลาก ลงสู่พื้นที่เจ้าพระยาตอนล่าง
ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากการติดตามสภาวะอากาศของกรมอุตุนิยม วิทยา เมื่อเวลา 04.00 น. ของวันนี้ (18 ก.ย. 61) พายุดีเปรสชัน “มังคุด” (MANGKHUT) บริเวณประ เทศจีนตอนใต้ มีศูนย์กลางบริเวณเมืองคุนหมิง ประเทศจีน หรือที่ละติจูด 25.0 องศาเหนือ ลองจิจูด 104.0 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลาง ประมาณ 45 กม./ชม. กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกค่อนไปทางเหนือเล็กน้อย ด้วยความเร็วประมาณ 30 กม./ชม. คาดว่าจะอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณมณฑลยูนนาน ประเทศจีน ในวันนี้ (18 ก.ย. 61)
โดยในช่วงวันที่ 18-19 ก.ย.61 ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตก หนักเกิดขึ้นได้ ประกอบกับในช่วงวันที่ 19-20 ก.ย.61 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย มีกำลังแรง ทำให้บริเวณพื้นที่รับลมมรสุมด้านตะวันตกของภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางพื้นที่ นั้น
กรมชลประทาน ได้วางแผนการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพื่อลดยอดปริมาณน้ำหลากที่จะไหลลงสู่พื้นที่ตอนล่าง และเตรียมพื้นที่สำหรับรองรับปริมาณฝนที่จะตกในพื้นที่ ด้วยการใช้ระบบชลประทานรับน้ำเข้าทุ่งพื้นที่ลุ่มต่ำเจ้าพระยา ทั้ง 13 ทุ่ง โดยจะเริ่มที่แก้มลิงทุ่งบางระกำ จ.พิษณุโลก ก่อนเป็นทุ่งแรก ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ย.เป็นต้นไป มีพื้นที่รับน้ำรวม 0.382 ล้านไร่ ปัจจุบันเกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตหมดทั้งทุ่งแล้ว สามารถเก็บหน่วงน้ำได้ทั้งสิ้น ประมาณ 550 ลบ.ม.
สำหรับพื้นที่ลุ่มต่ำอีก 12 ทุ่ง คือพื้นที่ลุ่มต่ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง พื้นที่รวม 1.15 ล้านไร่ ปัจจุบันเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวไปแล้วประมาณ 1.06 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 95 ของพื้นที่เป้าหมาย คาดว่าจะเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จทั้งหมดภายในเดือน ก.ย.นี้ ก่อนจะปรับให้เป็นพื้นที่รองรับน้ำหลากต่อไป กรมชลประทาน ได้กำหนดให้วันที่ 20 ก.ย.61 เป็นวันเริ่มต้นตัดยอดน้ำผ่านระบบชลประทานเข้าทุ่งต่างๆ ก่อน 9 ทุ่ง
ประกอบด้วย ทุ่งเชียงราก ทุ่งฝั่งซ้ายคลองชัยนาท-ป่าสัก ทุ่งท่าวุ้ง ทุ่งบางกุ่ม ทุ่งบางกุ้ง ทุ่งบางบาล-บ้านแพน ทุ่งป่าโมก ทุ่งผักไห่ และทุ่งเจ้าเจ็ด ส่วนพื้นที่ลุ่มต่ำ ทุ่งโพธิ์พระยา ให้รับน้ำเข้าทุ่งตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย. เป็นต้นไป สำหรับพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งรังสิตใต้(โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิตใต้) และทุ่งพระยาบรรลือ(โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระยาบรรลือ) จะเป็นการระบายน้ำผ่านทุ่ง ทั้งนี้พื้นที่ลุ่มต่ำทั้ง 12 ทุ่ง สามารถเก็บกักน้ำได้รวมกันทั้งสิ้นประมาณ 1,500 ลบ.ม.โดยกรมชลประทาน จะระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่มต่ำทั้ง 13 ทุ่ง เพื่อให้เกษตรกรทำการเกษตรในรอบต่อไปได้ทันตามฤดูกาล
การดำเนินการเอาน้ำเข้าทุ่งต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น เป็นไปตามความต้องการของราษฎรในพื้นที่ ที่ได้มีการทำประชาคมและมีมติร่วมกัน ให้นำน้ำเข้าไปเก็บไว้ในทุ่งแก้มลิงได้ เพื่อใช้ประโยชน์ในการหมักตอซังเป็นปุ๋ยอินทรีย์ การเกษตร และการประมง นอกจากนี้ ยังจะส่งผลให้ปริมาณน้ำที่จะไหลผ่านด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ลดลงอย่างต่อเนื่องด้วย ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนประชาชนในพื้นที่ลุ่มต่ำ บริเวณแม่น้ำน้อย คลองโผงเผง และคลองบางบาล ที่มักประสบกับปัญหาน้ำเอ่อล้นตลิ่ง เข้าท่วมที่อยู่อาศัยเป็นประจำ ซึ่งการนำน้ำเข้าไปในแต่ละทุ่ง จะต้องควบคุมระดับน้ำในทุ่งให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม เนื่องจากยังคงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ฝน ที่จะตกลงมาในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาอย่างใกล้ชิด ในระยะต่อไปด้วย

ร่วมแสดงความคิดเห็น