ยกของผิดท่า ที่มาของอาการปวดหลัง

“อย่าคิดว่าตนเองแข็งแรง แล้วจะยกของที่หนักกว่าได้เสมอไป เพราะหากพลาดท่า หรือยกของผิดท่าขึ้นมา ระวังให้ดี !!! หลังจะเดี้ยงเอาได้ง่ายๆ ซึ่งนั่นไม่ดีเลย หากเป็นรุนแรง อาจได้รักษาถึงขั้นต้องผ่าตัดได้เลยทีเดียว” วันนี้ นพ.เดชวัศวร์ ศิวัชพันธุ์ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านกระดูกและข้อ ศูนย์โรคปวดหลัง รพ.ลานนา จะมาให้ความรู้เรื่องนี้กันครับ
การยกของหนักและผิดวิธี ส่งผลให้เกิดอาการปวดหลัง โดยเฉพาะบริเวณหลังส่วนล่าง คนส่วนใหญ่เมื่อต้องยกของหรือก้มเก็บของ จะใช้วิธีการก้มหรือโน้มตัวลงและยกวัตถุขึ้นมา ซึ่งเป็นวิธีที่ผิดและส่งผลเสียต่อกระดูกสันหลังโดยตรง ยิ่งเป็นการยกของที่มีน้ำหนักมากๆ และมีการเคลื่อนไหวร่วมด้วย แรงกดจากน้ำหนักของวัตถุ จะยิ่งส่งผลต่อหมอนรองกระดูกสันหลังอีกด้วย ซึ่งอาจจะทำให้กลายเป็นโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทได้ในที่สุด
อาการของโรคหมอนรองกระดูก เคลื่อนทับเส้นประสาท
เมื่อผู้ป่วยเริ่มมีภาวะของหมอนรองกระดูก เคลื่อนทับเส้นประสาท มักจะมีอาการนำ เช่น ปวดหลังในส่วนเอวตอนล่าง อาจปวดทั้งสองข้างหรือข้างเดียวก็ได้ อาการปวดนี้ จะปวดเวลานั่ง เนื่องจากท่านั้นหมอนรองกระดูก จะถูกกระทบกระเทือนมากที่สุด และมีอาการปวดที่ขา โดยอาจมีอาการขาชา หรือบางครั้งกล้ามเนื้อขาอ่อนแรงได้ รวมทั้งมีอาการชาตามแนวกระดูกสันหลัง ซึ่งอาจจะปวดได้ตั้งแต่ นิ้วเท้า เท้า น่อง ต้นขา ไปถึงเอว ร่วมกับอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ เมื่อมีอาการเช่นนี้ อย่างนิ่งนอนใจนะครับ แนะ นำให้มาพบแพทย์เพื่อวินิจฉัย และรักษาต่อไป
ขั้นตอนการยกของที่ถูกวิธี เพื่อเลี่ยงอาการปวดหลัง การก้มเก็บของหรือยกของหนักให้ถูกวิธี เพื่อหลีกเลี่ยงอาการปวดหลังทำได้ดังนี้
– ให้เดินเข้าไปชิดกับวัตถุที่จะยกให้ใกล้ตัว ค่อยๆ ย่อเข่าลงโดยแผ่นหลังเป็นเส้นตรง เพื่อให้กระดูกสันหลังอยู่ในลักษณะตามธรรมชาติ และลดแรงกดที่หมอนรองกระดูกสันหลัง
– จับวัตถุให้แน่นและมั่นคงก่อนยก พยายามทิ้งน้ำหนักไปที่ขาทั้งสองข้าง เพื่อลดการใช้แรงจากกล้ามเนื้อหลังและเส้นเอ็น และเป็นการสร้างสมดุลให้ร่างกาย
– ตั้งศีรษะให้อยู่ในแนวเดียวกับแผ่นหลัง เป็นการจัดสรีระที่ถูกต้อง แถมยังช่วยให้มองเห็นทางข้างหน้าอีกด้วย แขนสองข้างไม่กางออกหรือเกร็ง แนบวัตถุให้ชิดลำตัว ใช้แรงจากขาค่อยๆดันตัวขึ้นแทนการใช้แรงจากหลัง
– หากของหนักเกินไป ให้หารถเข็น รถยก หรือคนมาช่วย เพื่อลดน้ำหนักวัตถุที่จะยก รวมทั้งอาจจะป้องกันตนเอง ด้วยการใส่เข็มขัดพยุงหลัง
แม้ว่าบางคนอาจจะหลีกเลี่ยงการยกของไม่ได้ แต่เราสามารถลดความเสี่ยง และป้องกันตนเองได้ เพียงแค่เราทำความเข้าใจสาเหตุของการเกิดโรค และปรับตัวเพื่อให้ร่างกายตัวเองเหมาะสมกับกิจกรรมหนักๆ เหล่านี้ รวมถึงรู้วิธีป้องกัน และมีท่าทางการยกของที่ถูกต้อง แค่นี้อาการปวดหลังก็จะไม่มารบกวนชีวิตของเราอีก

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : นพ.เดชวัศวร์ ศิวัชพันธุ์ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านกระดูกและข้อ ศูนย์โรคปวดหลัง โรงพยาบาลลานนา

ร่วมแสดงความคิดเห็น