ใครจะเข้าวงการเล่นแชร์ ต้องรู้!! ไม่ว่าจะเป็นท้าวแชร์ ลูกแชร์

การเล่นแชร์เป็นที่รู้จักกันดีในวงกว้างของสังคมไทย โดยมักเล่นกันในหมู่คนที่ใกล้ชิด หรือรู้จักคุ้นเคยกันดี เพราะจำเป็นต้องอาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจต่อกัน ซึ่งการเล่นแชร์ทำให้คนกลุ่มหนึ่ง สามารถเข้าถึงเงินทุนได้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ และคนอีกกลุ่มหนึ่งก็สามารถได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนมากกว่า ที่จะได้รับจากระบบสถาบันการเงินอีกด้วย
การเล่นแชร์ (ไม่เหมือนกับแชร์ลูกโซ่) ไม่ผิดกฎหมาย โดยมี พ.ร.บ.การเล่นแชร์ พ.ศ.2534 มารองรับ ซึ่งได้ให้ความหมายของการเล่นแชร์ไว้ว่า “การที่บุคคลตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป ตกลงกันเป็นสมาชิกวงแชร์ โดยแต่ละคนมีภาระที่จะส่งเงินหรือทรัพย์สินอื่นใด รวมเข้าเป็นทุนกองกลางเป็นงวดๆ เพื่อให้สมาชิกวงแชร์หมุนเวียนกันรับทุนกองกลางแต่ละงวดนั้นไป โดยการประมูลหรือโดยวิธีอื่นใด และให้หมายรวมถึงการรวมทุนในลักษณะอื่น ตามที่กฎหมายกำหนดในกฎกระทรวงด้วย
การเข้าสู่วงการเล่นแชร์ หรือคิดจะเป็นท้าวแชร์ จึงต้องศึกษาและเตรียมตัวก่อน 8 ข้อ ดังนี้
  1. ห้ามนิติบุคคลจัดหรือเป็นท้าวแชร์โดยเด็ดขาด
2. ประชาชนเป็นท้าวแชร์ได้ แต่ห้าม ดังนี้
– ห้ามตั้งวงแชร์รวมกันเกิน 3 วง
– ห้ามมีสมาชิกทุกวงรวมกันเกินกว่า 30 คน
– ห้ามมีเงินกองทุนหรือเงินกองกลางต่อหนึ่งงวดรวมกันเกินกว่า 3 แสนบาท
– ห้ามท้าวแชร์ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่น เว้นแต่เงินกองกลางจากการเล่นแชร์เท่านั้น
3. ห้ามไม่ให้มีการโฆษณา หรือป่าวประกาศให้คนเข้ามาร่วมเล่นแชร์
4. ก่อนเล่นแชร์ต้องตรวจสอบให้รู้ก่อน เพื่อลดความเสี่ยงต่อการสูญเงิน โดยข้อมูลที่ต้องตรวจก่อน คือ
– ข้อมูลของเท้าแชร์ เช่น ชื่อ-สกุลที่แท้จริง อาชีพ ฐานะทงการเงิน ที่อยู่ บัญชีธนาคารของท้าวแชร์
– ข้อมูลของสมาชิกที่ร่วมเล่นแชร์ เช่น ฐานะทางการเงิน ทำงานอะไร
5. ท้าวแชร์หนีหรือโกง มี 2 กรณี
– มีเจตนาทำวงแชร์จริง แต่บริหารผิดพลาด สมาชิกวงแชร์ฟ้องร้องบังคับทางแพ่งได้
– มีเจตนาจะไม่ทำวงแชร์มาตั้งแต่ต้น ได้เงินแล้วเชิดเงินหลบหนีไป สมาชิกวงแชร์แจ้งความดำเนินคดีอาญาข้อหา “ฉ้อโกง” กับท้าวแชร์ได้
6. ลูกแชร์เปียแชร์แล้วหนี วงแชร์ต้องดำเนินการต่อไป โดยท้าวแชร์ต้องรับผิดชอบ สำรองจ่ายแทนไปก่อน ท้าวแชร์สามารถฟ้องทางแพ่งต่อลูกแชร์ที่หลบหนี
7. เอกสารหลักฐานที่ต้องเตรียม เมื่อถูกท้าวแชร์โกง
– หน้า FB , Page , Line ของท้าวแชร์ และคำเชิญชวนที่โพสต์ในออนไลน์
– ข้อมูลของท้าวแชร์ เช่น บัตรประชาชน เลขบัญชีธนาคาร เบอร์โทรติดต่อ ที่อยู่
– สเตทเมนต์พร้อมไฮไลท์ยอดที่โอนให้ท้าวแชร์ ให้ตรงกับสลิปที่โอนเงินให้
– แยกยอดเงินระหว่างเงินส่งแชร์ และเงินที่ได้ดอกให้ชัดเจน
8. เดือดร้อนโดนโกงแชร์แจ้งที่ไหน?
– แจ้งความร้องทุกข์ต่อ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจท้องที่ที่เกิดเหตุ
– ตำรวจปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ 02-234-1068
– ยอดเสียหายเกินกว่า 5 ล้าน แจ้งความร้องทุกข์ที่กองปราบปราม
ที่มา : กองปราบปราม

ร่วมแสดงความคิดเห็น