“รับตายาย” ประเพณีสารทเดือนสิบ สืบสานงานบุญของคนใต้

ทุกปีเมื่อถึงช่วงระหว่างเดือนสิบ ชุมชนต่างๆก็จะจัดพิธีงานบุญสำหรับเพื่ออุทิศส่วนกุศล ไปหาญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว ในช่วงเวลานี้คนไทยเชื้อสายจีนส่วนใหญ่ ก็จะถือศีลกินเจ ในภาคเหนือก็จะมีการจัดงานบุญสลากภัต ส่วนในภาคใต้ก็จะจัดงานรับตายายประเพณีสารทเดือนสิบ
ประเพณีงานบุญสารทเดือนของคนใต้นั้น ถือได้ว่าเป็นงานบุญสำคัญ ที่จะได้แสดงความกตัญญูกตเวทิ ตาต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับ ด้วยการถวายอาหารและอุทิศส่วนกุศลไปให้ งานประเพณีเทศกาลเดือนสิบที่มีชื่อเสียงเห็นจะได้แก่ที่ จ.นครศรีธรรมราช และ จ.สุราษฎร์ธานี มีการจัดงานขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ ให้เป็นประจำทุกปี นอกจากนี้ยังมีพิธีกรรมโบราณ ที่จัดขึ้นตามความเชื่อดั่งเดิม และยังมีการแสดงพื้นบ้านมหรสพอย่างยิ่งใหญ่ แต่สำหรับคนภาคใต้ทุกจังหวัดด้วยแล้ว พวกเขาถือว่าช่วงเวลานี้เป็นงานประเพณีที่สำคัญที่สุด ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ที่ใดจะต้องเดินทางกลับบ้าน เพื่อร่วมงานบุญประเพณีและอุทิศส่วนกุศลไปหาญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว
ตามความเชื่อทางพุทธศาสนา เชื่อว่าในปลายเดือนสิบของทุกปี บรรพบุรุษ ปู่ ย่า ตา ยาย หรือญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว รวมทั้งคนที่มีบาปทั้งหลายที่เรียกว่า เปรต จะถูกพยายมปล่อยตัวจากนรก เพื่อให้ขึ้นมายังโลกมนุษย์พบปะญาติพี่น้อง บุตรหลานในวันแรม 1 ค่ำเดือนสิบ และจะเรียกตัวเปรตทั้งหมดกลับนรกภูมิในวันแรม 15 ค่ำเดือนสิบ ช่วงดังกล่าวผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ จะพยายามหาอาหารไปทำบุญเซ่นไหว้ให้กับวิญญาณที่ขึ้นมาจากนรก การทำบุญต้อนรับเปรต ในวันแรม 1 ค่ำ ซึ่งเป็นวันแรกที่เปรตขึ้นมาจากนรก เรียกว่า หฺมฺรับเล็ก จนถึงวันแรม 15 ค่ำ ที่เปรตทั้งหมดจะลากลับนรกเรียกว่า หฺมฺรับใหญ่
ประเพณีสารทเดือนสิบของชาวใต้นั้น เป็นพิธีกรรมที่แปลกและน่าสนใจอยู่มาก พิธีจะเริ่มขึ้นในตอนเช้าชาวบ้านจะนำอาหารคาวหวานไปถวายพระสงฆ์ จากนั้นก็จะลงมาเตรียมอาหารไว้สำหรับเซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษ โดยจะนำอาหารต่างๆใส่ลงในกรวยในตอง ประกอบด้วย ข้าวและกับข้าวอีก 2-3 อย่าง ขนมลา ขนมพอง ดอกไม้ธูปเทียนและน้ำ โดยเฉพาะขนมพองซึ่งถือว่าเบา เปรตสามารถนำกลับไปกินในนรกได้ ส่วนขนมลา เป็นเส้นใย เปรตที่ปากเล็กเท่ารูเข็มก็สามารถใส่เข้าปากได้
หลังจากที่เตรียมเครื่องเซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษแล้ว ก็จะนำไปวางไว้ในบริเวณที่เรียกว่า “ร้านเปรต” หรือ “หลาเปรต” เมื่อนำอาหารมาไว้แล้ว ก็จะจุดธูปเทียนและอธิษฐานบอกกล่าว ถึงญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว ให้มารับเอาเครื่องเซ่นไหว้นี้ โดยบริเวณร้านเปรตจะมีด้ายสายสิญจน์ที่พระสงฆ์จับ เพื่อบังสกุลนำปลายไปผูกติดกับร้านเปรต เมื่อพระสงฆ์สวดบังสกุลเสร็จ ก็จะถึงช่วงที่เรียกว่า “ชิงเปรต” คือมีทั้งคนเฒ่า คนหนุ่มคนสาวรวมไปถึงลูกเล็กเด็กแดง จะตรงเข้าไปแย่งขนมและสิ่งของที่ตั้งเปรตกันอย่างตั้งใจ เพราะพวกเขาต่างก็เชื่อว่า หากใครได้กินของที่เหลือจากการเซ่นไหว้บรรพบุรุษแล้ว จะเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต อีกทั้งยังได้กุศลแรง ส่งผลให้การดำรงชีวิตเจริญรุ่งเรืองตลอดไปงานเทศกาลสารทเดือนสิบและพิธีชิงเปรต นับว่าเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น ในการสอนศีลธรรมแก่เยาวชนที่มีคุณค่ายิ่ง นอกจากนั้นการไปทำบุญวันสารทเดือนสิบ ยังถือว่าเป็นการพบปะรวมญาติพี่น้องของวงศ์ตระ กูลที่แยกย้ายกันไปทำงานตามที่ต่างๆ จะได้พบปะกันพร้อมหน้าพร้อมตาอีกด้วย
บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น