ปลื้ม! สหรัฐฯ จัดอันดับไทย แก้ไขปัญหาแรงงานเด็กสำเร็จ ระดับสูงสุด

“ไทยเป็นประเทศ ที่บริหารจัดการ การใช้แรงงานเด็กประสบความสำเร็จ ในระดับดีมาก (Significant Advancement) ซึ่งถือเป็นระดับสูงสุด โดยเป็น 1 ใน 17 ประเทศ ที่ถูกจัดให้อยู่ระดับนี้”
กระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริกา เปิดเผยรายงานสถานการณ์และการจัดการการ ใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายที่สุด (Findings on the Worst Forms of Child Labor) ประจำปี 2017 จากการประเมินความพยายามและผลการดำเนินการของประเทศต่าง ๆ จำนวน 132 ประเทศทั่วโลก โดยประเทศไทยเป็น 1 ใน 5 ของอาเซียน ที่ได้รับการจัดอันดับความสำเร็จในระดับนี้ และนับเป็นปีที่ 2 ต่อเนื่องจากปี 2016

รายงานดังกล่าวระบุว่า ในปี 2017 ประเทศไทยมีความก้าวหน้าอย่างมีนัยสำคัญ โดยพยายามขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายที่สุด เช่น รัฐบาลได้จัดหาล่าม 102 คน ไว้ที่สำนักงานต่าง ๆ ของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และศูนย์ตรวจสอบที่ท่าเรือ เพื่อให้บริการแก่ผู้อพยพและชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์ ที่พูดภาษาไทยไม่ได้ เพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางอินเทอร์เน็ตต่อเด็ก และยังได้ลงนามในข้อตกลงแบ่งปันข้อมูลกับศูนย์ติดตามเด็กหายและช่วยเหลือเด็ก ที่ถูกแสวงประโยชน์แห่งชาติของสหรัฐอเมริกา เพื่อปราบปรามการแสวงประโยชน์ทางเพศจากเด็กทางออนไลน์

นอกจากนี้ รัฐบาลยังออกกฎกระทรวง ห้ามลูกจ้างที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี ทำงานบางประเภท ซึ่งเป็นการคุ้มครองอย่างเป็นทางการ ในเรื่องการจ้างงานเด็ก สำหรับเรื่องนี้ คนไทยทั้งประเทศควรภาคภูมิใจว่า เราสามารถควบคุมดูแลการใช้แรงงานเด็กได้เป็นอย่างดี สอดคล้องตามหลักมาตรฐานสากล จนเป็นที่ยอม รับของนานาชาติ
ส่วนการทำงานในปีหน้านั้น รัฐบาลได้ประกาศนโยบายด้านแรงงาน โดยเน้น 13 นโยบายเร่งด่วน (Agenda Based) 4 นโยบายระดับพื้นที่ (Area Based) และ 7 นโยบายบริหารการพัฒนา (Administration Based) โดยจะเพิ่มความเข้มข้นในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็ก ในรูปแบบที่เลวร้ายที่สุด เป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนด้านแรงงานของรัฐบาล เพื่อรักษาระดับมาตรฐานสูงสุดให้ได้ต่อไป
รายงานสถานการณ์ การจัดการการใช้แรงงานเด็ก ในรูปแบบที่เลวร้ายที่สุด คืออะไร?
รายงานนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็กทั่วโลก จัดทำเป็นประจำทุกปี โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริกา แบ่งเกณฑ์การประเมินออกเป็น 5 ระดับ คือ
1. ระดับความสำเร็จมาก (Significant Advancement) หมายถึง มีความก้าวหน้าของการดำเนินการในเรื่องกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมาย การประสานงาน นโยบาย และแผนงานทางสังคมต่าง ๆ
2. ระดับความสำเร็จปานกลาง (Moderate Advancement) หมายถึง มีความก้าวหน้าของการดำเนินการบางประเด็น
3. ระดับความสำเร็จน้อย (Minimal Advancement) คือ มีความก้าวหน้าของการดำเนินการเพียงเล็กน้อย
4. ไม่มีความก้าวหน้าในการดำเนินการ (No Advancement)
5. ไม่ได้รับการประเมิน (No Assessment) เนื่องจากไม่มีปัญหา หรือประชากรน้อยจนแรงงานเด็กไม่ใช่ปัญหาของประเทศ
นี่คือ อีกหนึ่งความสำเร็จของรัฐบาล และคนไทยทั้งชาติ ที่หลายคนอาจมองข้าม

ที่มา : ไทยคู่ฟ้า

ร่วมแสดงความคิดเห็น