สธ.กำชับผู้ปกครอง ดูแลบุตรช่วงปิดเทอม หวังลดการสูญเสียชีวิต เด็กจมน้ำ ปีละเกือบ 1 พันคน

วันที่ 4 ตุลาคม 2561 นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า การจมน้ำยังคงเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของเด็กไทย อายุต่ำกว่า 15 ปี ในรอบ 10 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2551 – 2560 มีรายงานเสียชีวิตรวม 9,574 คน เฉลี่ยปีละ 957 คน โดยเฉพาะเดือนตุลาคมเป็นช่วงปิดเทอม พบว่ามีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เสียชีวิตการจมน้ำเฉลี่ยวันละ 3 คน สูงรองจากช่วงปิดเทอมใหญ่ภาคฤดูร้อน (เดือนมีนาคม – พฤษ ภาคม) โดยเดือนตุลาคมปี 2560 มีเด็กเสียชีวิต 75 คน กลุ่มอายุ 5 – 9 ปี เสียชีวิตมากที่สุด ได้ให้สสจ. เร่งให้ความรู้ประชาชน ผู้ปกครอง ผ่านสื่อต่าง ๆ ในท้องถิ่น เพื่อป้องกันเด็กจมน้ำเสียชีวิตปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การจมน้ำส่วนใหญ่เกิดจากการไปเล่นน้ำตามแหล่งน้ำสาธารณะมากที่สุด ได้แก่ คลองส่งน้ำ คลองชลประทาน อ่างเก็บน้ำ โดยเกือบทั้งหมดไม่มีอุปกรณ์ช่วยลอยตัวขณะเกิดเหตุ ที่น่าสังเกตคือ เด็กที่เสียชีวิตร้อยละ 12.5 ว่ายน้ำเป็น และคุ้นเคยกับแหล่งน้ำที่ไปเล่น แต่ไม่ทราบสภาพใต้น้ำที่เปลี่ยนแปลงไป จากฝนตกหนักในช่วงนี้ ที่ทำให้น้ำมีความเชี่ยว กระแสน้ำแรง และมีความลึกมาก รวมทั้งเด็กบางคนไม่ได้ตั้งใจไปเล่นน้ำ แต่พลัดตกน้ำจากการเดินหรือยืนใกล้ขอบบ่อ หรือไปกับผู้ใหญ่ที่ออกหาปลา แล้วปล่อยเด็กเล่นน้ำกันเองตามลำพัง
ผู้ปกครอง ต้องสอนเด็กให้รู้จักแหล่งน้ำเสี่ยงและอันตรายที่อาจเกิดขึ้น ที่สำคัญคือจะต้องสอนให้เด็กมีทักษะการเอาชีวิตรอด และวิธีการช่วยเหลือคนตกน้ำ/จมน้ำที่ถูกต้อง ไม่ลงไปช่วยคนจมน้ำด้วยตนเอง ให้ “ตะโกน” เรียกผู้ใหญ่มาช่วย “โยน” อุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัว เพื่อช่วยคนตกน้ำเกาะจับพยุงตัว เช่น เชือก ถังแกลลอนพลาสติกเปล่า หรือวัสดุที่ลอยน้ำได้ โดยโยนครั้งละหลายๆ ชิ้น “ยื่น” อุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวให้คนตกน้ำจับ เช่น ไม้ เสื้อ ผ้าขาวม้า ให้คนตกน้ำจับและดึงขึ้นมาจากน้ำ และโทรแจ้งทีมแพทย์กู้ชีพ 1669 ส่วนชุมชนควรสำรวจแหล่งน้ำเสี่ยง และติดป้ายเตือน พร้อมติดตั้งอุปกรณ์การช่วยคนตกน้ำที่หาได้ง่ายในชุมชน

ร่วมแสดงความคิดเห็น