นกกะรางแก้มแดง (Red-faced Liocichla)

สายลมหนาวที่พัดมาปกคลุมในภาคเหนือเมื่อใด ถือว่าโชคดีของคนรักดูนก เพราะเป็นช่วงของ การอพยพย้ายถิ่น(Migration)นกอพยพย้ายถิ่นในบ้านเรา ส่วนใหญ่จะเป็นนกอพยพย้ายถิ่นในฤดูหนาว นกเหล่านี้ จะบินหนีหนาวจากแหล่งมาไกล มาทำรังวางไข่ หากินในบ้านเรา ชักชวนเพื่อนๆออกไปดูนกถ่ายภาพกันที่ “ดอยลาง” อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ที่จะได้ชมสาวน้อยแก้มแดง “นกกะรางแก้มแดง”
03.00 น. เป็นเวลานัดหมายรวมพล ที่จะมุ่งหน้าเดินทางออกจากตัวเมืองเชียงใหม่ไปยัง อ.ฝาง จะสว่างที่ ดอยลาง กันพอดีเป็นแหล่งดูนกอีกแห่ง ที่ติดอันดับท็อปเท็นของนักดูนก นกน้อยกำลังกระโดดโลดเต้นกันไปมา ส่งเสียงร้องเริงร่านั้นคือ สาวน้อยแก้มแดงนี่เอง
นกกะรางแก้มแดง Liocichla phoenicea (Red-faced Liocichla) มีความยาวจากปลายปาก จรดปลายหางประมาณ 20.5-23.5 ซม. มีจุดเด่นที่ขนคลุมหน้า ที่แก้ม และคอสีแดงสด ดูคล้ายว่าปัดแก้มแต่งแต้มสีไว้ ขนคลุมตามลำตัวด้านบนสีน้ำตาลแกมเทา ขนคลุมตามลำตัวด้านล่างสีออกเขียว ขนปีกบินสีดำแกมแดงและเหลือง หางดำปลายหางสีน้ำตาลแกมเหลือง นกตัวผู้ และตัวเมียมีลักษณะคล้ายคลึงกัน
นกกะรางกลุ่ม Liocichlaนี้ มีอยู่ทั้งหมด 4 ชนิด คือ Grey-faced Liocichla (เฉพาะถิ่นมณฑลเสฉวนตอนใต้), Steere’s Liocichla(เฉพาะถิ่นไต้หวัน) , Red-faced Liocichla และ Bugun Liocichla(พบในประเทศอินเดีย) ในทั้ง 4 ชนิด นี้มี 2 ชนิด ที่ปัจจุบันอยู่ในข่ายถูกคุกคามเสี่ยง ต่อการสูญพันธุ์ (Vunerable) คือ ชนิดแรก และ ชนิดสุดท้าย อาหารของกินที่โปรดปรานของนกกะรางชนิดนี้ และนกกะรางอื่นๆ ก็คือ แมลง ผลไม้ และลูกไม้ในป่า
นกกะรางแก้มแดง มีถิ่นการกระจายพันธุ์ในประเทศบังคลาเทศ ภูฏาน อินเดีย จีน พม่า ไทย ลาว และเวียดนาม โดยพบตามป่าเขตร้อน และใกล้เขตร้อนบนเขา สำหรับประเทศไทยเป็นนกประจำถิ่นที่พบไม่บ่อยตามป่าดิบ ชายป่าที่ความสูง 1,800 เมตร จากระดับน้ำทะเลขึ้นไป สามารถพบเห็นได้ที่ ดอยอินท นนท์ ดอยฟ้าห่มปก และ ดอยลาง
ข้อมูลจาก : หนังสือคู่มือนกหมอบุญส่ง เลขะกุล นกเมืองไทย โดยคณะบุคคล นพ.บุญส่ง เลขะกุล พ.ศ.2550/หนังสือ สนุกกับการดูนก โดย ดร.ประภากร ธาราฉาย

ร่วมแสดงความคิดเห็น