โพลล์ชี้ เยาวชนไทยรุ่นใหม่ กว่าร้อยละ 60 ไม่สนใจอาชีพเกษตรกร เหตุคิดว่าเหนื่อยและไม่คุ้มค่า

การเกษตร ถือเป็นรากฐานที่สำคัญของประเทศไทย เนื่องจากผลผลิตทางการเกษตร ถือเป็นสินค้าที่ทำรายได้หลักให้กับประเทศ นอกจากนี้การเกษตรยังเป็นรากฐานทำให้เกิดอาชีพอื่นๆ ได้แก่ อาชีพค้าขาย โรงงานอุตสาหกรรม การคมนาคมและการขนส่ง งานช่างฝีมือและหัตถกรรม เป็นต้น แต่จากสถานการณ์ในปัจจุบัน กลับพบว่า อาชีพเกษตรกรรม ถือเป็นอาชีพที่ไม่มีความมั่นคงแน่นอน เนื่องจากราคาผลผลิตทางการเกษตร มีความผันผวน ไม่แน่นอน ทำให้เกษตรกรจำนวนมากมีภาระหนี้สินจากการทำการเกษตร ประกอบกับปัจจุบันอาชีพทางการเกษตรเริ่มมีค่าเฉลี่ยของอายุที่สูงขึ้น เนื่องจากอาชีพทางการเกษตรไม่ได้รับความสนใจจากคนรุ่นใหม่เท่าที่ควร รัฐบาลปัจจุบันได้เห็นถึงปัญหา และความสำคัญของเกษตรกร จึงได้เดินหน้าพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Smart Farmer) ที่เน้นบริหารจัดการการเกษตรด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถต่อยอดไปสู่การเป็นผู้ประกอบการ พึ่งพาตนเอง และเป็นผู้นำทางการเกษตรในท้องถิ่นได้ โดยมีแนวทางคือ การพัฒนาที่เน้นเกษตรกรเป็นศูนย์กลาง และออกแบบการเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยมีเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรเป็นผู้จัดการเรียนรู้ โดยมุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเกษตรกรรุ่นใหม่แต่ละรุ่น การพัฒนาการเกษตรด้วยนวัตกรรม และการบริหารจัดการด้วยระบบอินเทอร์เน็ต (Internet of Things) รวมถึงการพัฒนาเป็น Startup และพัฒนาระบบธุรกิจด้วยนวัตกรรม ฟาร์มอัจฉริยะ และตลาดดิจิทัล เป้าหมาย ก็เพื่อให้เกิดการยกระดับคุณภาพชีวิตและรายได้ของเกษตรกร เพื่อให้เกิดการพัฒนาในภาคการเกษตรอย่างยั่งยืน แต่อย่างไรก็ตาม การที่จะทำให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จ จำเป็นอย่างยิ่งที่ภาครัฐจะต้องเชื่อมต่อไปยังภาคการศึกษา ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้น และเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญของเกษตรกรรุ่นใหม่ ที่จะทำการตัดสินใจว่าจะเรียนรู้ด้านการเกษตรหรือไม่ และจะประกอบอาชีพทางการเกษตรหรือไม่ ดังนั้นศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยาการณ์ทางการเกษตร (แม่โจ้โพลล์) จึงได้สำรวจความคิดเห็นของเยาวชนทั่วประเทศ จำนวน 1,105 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 20 – 30 กันยายน 2561 ในหัวข้อ “อาชีพเกษตรกรรม ในมุมมองเยาวชนไทยในปัจจุบัน” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสอบถามความคิดเห็นของเยาวชนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และระดับมหาวิทยาลัย เพื่อหาคำตอบว่า ในปัจจุบันเยาวชนยังต้องการประกอบอาชีพทางการเกษตรอยู่หรือไม่ และอะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้ไม่ต้องการประกอบอาชีพทางการเกษตรผลสำรวจดังต่อไปนี้
จากการสอบถามเยาวชนไทยถึงการประกอบอาชีพทางการเกษตรของครอบครัวในปัจจุบัน ร้อยละ 56.14 ครอบครัวไม่ได้ประกอบอาชีพทางการเกษตร ในขณะที่ อีกร้อยละ 43.86 ครอบครัวประกอบอาชีพทางการเกษตร เมื่อสอบถามถึง ความสนใจต่อการเรียนด้านการเกษตร เยาวชนไทยร้อยละ 62.95 ยังคงสนใจที่จะเรียนทางด้านการเกษตร แต่พบว่าผู้ที่สนใจจะเรียนทางด้านการเกษตรมีเพียงร้อยละ 17.40 เท่านั้นที่ตั้งใจจะประกอบอาชีพทางการเกษตร ในขณะที่ ร้อยละ 54.51 จะเลือกประกอบอาชีพที่เกี่ยวเนื่องกับการเกษตร และมีถึงร้อยละ 28.09 ที่ตั้งใจจะไม่ประกอบอาชีพที่เกี่ยวเนื่องกับการเกษตรเลย ในขณะที่ ร้อยละ 37.05 ที่ไม่สนใจที่จะเรียนทางด้านการเกษตรได้ให้เหตุผลที่ไม่ต้องการเรียนทางด้านการเกษตร เนื่องจาก ไม่ใช่แนวทางที่ชอบ และสนใจประกอบอาชีพอื่นมากกว่า (ร้อยละ 66.89) ไม่ถนัด และไม่มีประสบการณ์ (ร้อยละ 15.54) เป็นงานที่เหนื่อย ตรากตรำ ทำงานหนัก อีกทั้งยังมีรายได้ที่ไม่แน่นอน (ร้อยละ 8.79) ครอบครัวเลือกให้ประกอบอาชีพอื่น (ร้อยละ 5.41) และ ไม่มีทุน และพื้นที่ทางการเกษตร (ร้อยละ 3.38)และเมื่อสอบถามถึงการที่ภาครัฐมีการส่งเสริมเยาวชนให้เป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ หรือ Young Smart Farmer เพื่อปลูกฝังให้คนรุ่นใหม่หันประกอบอาชีพทางการเกษตรให้มากขึ้นนั้น ส่งผลหรือจูงใจให้เยาวชนสนใจประกอบอาชีพทางการเกษตรหลังจากจบการศึกษามากน้อยเพียงใด พบว่า กว่าร้อยละ 54.06 เห็นว่ามีผล หรือจูงใจน้อย มีเพียงร้อยละ 31.08 เท่านั้นที่เห็นว่าจูงใจมาก ในขณะที่อีกร้อยละ 14.86 เห็นว่าไม่จูงใจเลย โดยผู้ที่เห็นว่ามีผลหรือจูงใจน้อยนั้น (ร้อยละ 30.25) ให้เหตุผลว่า ไม่ใช่แนวทางหรืออาชีพที่ชอบ เนื่องจากเป็นงานที่ทำงานหนัก (ร้อยละ 28.99) ให้เหตุผลว่ามีอาชีพอื่นที่น่าสนใจกว่าอาชีพทางการเกษตร (ร้อยละ 13.87) ให้เหตุผลว่าอาชีพทางการเกษตรมีรายได้น้อย ไม่มีความมั่นคง (ร้อยละ 12.18) ให้เหตุผลว่า การส่งเสริมยังไม่มีความเป็นรูปธรรม ยังเข้าถึงได้ยาก (ร้อยละ 10.92) ให้เหตุผลว่าไม่มีทุน และขาดความรู้ และ (ร้อยละ 3.78) ให้เหตุผลว่า ครอบครัวไม่สนับสนุน ในขณะที่ ผู้ที่เห็นนโยบายดังกล่าวจูงใจให้เยาวชนหันมาสนใจการเกษตร (ร้อยละ 48.80) ให้เหตุผลว่า อาชีพทางการเกษตรยังคงมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจขอบประเทศ และเป็นอาชีพที่สามารถสร้างรายได้ (ร้อยละ 26.40) ให้เหตุผลว่า ทำให้มีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการทำการเกษตร และ(ร้อยละ 2.81) ให้เหตุผลว่า เพราะเป็นอาชีพของครอบครัว ต้องการสานต่ออยู่แล้ว เมื่อสอบถามถึงเหตุผลที่เยาวชนจะไม่เลือกประกอบอาชีพทางการเกษตร อันดับที่ 1 พบว่าเพราะเป็นอาชีพที่เหนื่อย ตรากตรำ ทำงานหนัก (ร้อยละ 38.07) อันดับที่ 2 เพราะรายได้น้อย ไม่คุ้มค่า อาชีพอื่นสามารถทำรายได้ได้มากกว่าอาชีพเกษตรกรรม (ร้อยละ 20.06) อันดับที่ 3 เพราะไม่มีความรู้และประสบการณ์ (ร้อยละ 13.46) และเมื่อสอบถามถึงแนวทางที่จะสามารถทำให้เยาวชนไทยสนใจประกอบอาชีพทางการเกษตรให้มากขึ้นในอนาคต เยาวชนให้ข้อเสนอแนะเป็นข้อ ๆ ดังต่อไปนี้ 1) สร้างแรงจูงใจ สนับสนุนและส่งเสริม ให้ความสำคัญต่อผู้ที่ประกอบอาชีพทางการเกษตร 2) ปลูกฝังเยาวชน คนรุ่นใหม่ ให้รักและมีมุมมองที่ดีต่ออาชีพทางการเกษตร 3) ให้ความรู้ทางการเกษตรแก่ผู้สนใจ โดยเน้นการปฏิบัติจริง 4) ทำให้อาชีพทางการเกษตรเป็นอาชีพที่มีความมั่นคง มีรายได้ โดยการเพิ่มราคาผลผลิตทางการเกษตร 5) นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการ ทำการเกษตรให้มากขึ้น
จากผลการสำรวจ สะท้อนให้เห็นว่า เยาวชนมองว่าเป็นอาชีพที่เหน็ดเหนื่อย ต้องทำงานตรากตรำ และรายได้และผลอตอบแทนไม่คุ้มค่า ทำให้เยาวชนสนใจน้อยลง ไม่สอดคล้องกับการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นครัวของโลกในอนาคต เพราะคนรุ่นใหม่จะประกอบอาชีพทางการเกษตรลงลง แต่ถ้าหากภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการสร้างภาพลักษณ์ของการทำการเกษตรโดยการใช้เทคโนโลยีด้านการเกษตรที่ทันสมัย เช่น ระบบสมาร์ทฟาร์ม เทคโนโลยีเกษตรแปลงใหญ่ ระบบตลาดออนไลน์ เป็นต้น ก็จะสามารถช่วยทำให้เกษตรกรลดภาระด้านแรงงาน อีกทั้งยังสามารถทำให้ผลผลิตออกไปสู่ตลาดได้อย่างกว้างขวาง ด้วยการใช้เทคโนโลยี ที่จะสามารถเปลี่ยนความคิดของคนรุ่นใหม่ ให้หันมาสนใจการเกษตรมากขึ้น ในอนาคต อาชีพทางการเกษตรก็อาจเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่สามารถสร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ และดึงดูดความสนใจของเยาชนคนรุ่นใหม่ ให้หันมาสนใจอาชีพทางการเกษตรอีกครั้งหนึ่ง ก็เป็นได้
ที่มา : ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยาการณ์ทางการเกษตร (แม่โจ้โพลล์)

ร่วมแสดงความคิดเห็น