เหยี่ยวดำ : Black kite

การอพยพหนีหนาวมาประเทศไทยของเหยี่ยวดำ เนื่องด้วยภูมิอากาศทางตอนเหนือของโลก แถบประ เทศรัสเซีย มองโกเลีย จีน เกาหลี ญี่ปุ่น มีอากาศหนาวเย็นและมีหิมะ นกล่าเหยื่อที่อาศัยอยู่แถบซีกโลกตอนเหนือ เริ่มขาดแคลนอาหาร จึงต้องเดินทางลงมาทางซีกโลกใต้ ซึ่งมีอากาศอบอุ่น แหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์กว่าในแถบบ้านเรา
เหยี่ยวดำ : Black kite, Pariah kite ชื่อวิทยาศาสตร์: Milvus migrans เป็นเหยี่ยวชนิดหนึ่งจัดเป็นนกขนาดกลาง ขนาดของลำตัวมีความยาว ประมาณ 60-66 ซม. ตัวผู้ และตัวเมีย มีลักษณะเหมือนกันคือ ลำตัวสีน้ำตาลเข้มอมเหลือง ทั้งด้านบนและด้านล่าง ปีกสีน้ำตาลเข้ม หางเป็นแฉกตื้น ๆ มองดูคล้ายง่าม ปากสั้นสีดำแหลมคม ปลายปากเป็นขอ หัวค่อนข้างใหญ่ คอสั้น ปีกยาว ส่วนนกที่ยังไม่โตเต็มที่ ลำตัวจะเป็นสีน้ำตาลอ่อน พร้อมกับมีขีดสีเหลืองอ่อนทั่วทั้งตัว
การกระจายพันธุ์เหยี่ยวดำ อยู่ในหลายพื้นที่ ตั้งแต่ยูเรเชีย, ออสตราเลเชีย และโอเชียเนีย จึงทำให้มีชนิดย่อยหลากหลายถึง 5 ชนิด และเป็นนกอพยพในหลายพื้นที่ในช่วงฤดูหนาว ในประเทศไทยพบได้ในป่าทางภาคเหนือ, ภาคกลาง และภาคใต้
การหากินจะหากินในเวลากลางวัน ชอบบินอยู่ตามที่โล่งชายป่า ตามริมฝั่งทะเล หรือตามแม่น้ำลำคลองต่าง ๆ เพื่อหาอาหาร เมื่อจับเหยื่อได้ก็มักกินบนพื้นดิน หรืออาจนำไปกินบนต้นไม้ พบอยู่โดดเดี่ยว เป็นคู่หรือเป็นฝูง เหยี่ยวดำจะบินอพยพกลับเพื่อไปทำรังวางไข่อีกครั้ง ในราวเดือน ก.พ.-พ.ค.ของปีถัดไป
เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ เหยี่ยวดำจะทำรังรวมกันเป็นกลุ่มบนต้นไม้สูง ทั้งตัวผู้และตัวเมียจะช่วยกันสร้างรังด้วยกิ่งไม้เล็ก ๆ นำมาขัดสานกัน จากนั้นทั้งคู่จะช่วยกันกกไข่และเลี้ยงลูกอ่อน นกจะใช้เวลากกไข่นานประมาณ 29-32 วัน ออกไข่ครั้งละ 2-4 ฟอง ปกติ 3 ฟอง

เหยี่ยวดำยังเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 การอพยพของนกนักล่า “เหยี่ยวดำ” ได้ให้เราได้ศึกษาเรียนรู้พฤติกรรมของนก ที่ตระหนักร่วมรักษาสิ่งแวดล้อมนี้ไว้

ร่วมแสดงความคิดเห็น