เที่ยวเมืองรองถิ่นยอง หนองเงือกนครลำพูน

ราชอาณาจักรที่เคยรุ่งเรืองเมื่อพันกว่าปี “หริภุญไชยนคร” กลายเป็นเมืองร้างลาผู้คนในยุคต่อๆมาตามบริบท สังคม การเมือง เศรษฐกิจ แต่ละช่วงเวลา ต่อมาราวๆปลายรัชกาลที่ 1 ประมาณพศ.2348 พระเจ้ากาวิละ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่สมัยนั้น มีบัญชาให้พระมหาอุปราชบุณฑวงศ์ (บุญมา)พระอนุชา กรีฑาทัพไปกวาดต้อนผู้คนจากเมืองยอง เมืองหนึ่งในรัฐฉาน พม่า , เชียงรุ่ง,เชียงตุง,สิบสองปันนา และอีกหลายๆเมือง
เป็นยุคที่เรียกว่า”เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าเข้าเมือง ” บรรดาผู้คนที่ถูกกวาดต้อนมา กระจัดกระจายกันไป โดยเฉพาะชาวยอง ซึ่งเจ้าผู้ครองเมืองยอง ยอมสวามิภักดิ์ แต่โดยดี ทำให้พลเมือง ที่เป็นชาวยอง ได้เลือกทำเลถิ่นฐานตามความพอใจ บางแหล่งสร้างเป็นเวียงยอง ขยายพื้นที่ชุมชนออกไปตามบริเวณใกล้เคียง ในเมืองลำพูนปัจจุบัน บางส่วนมาช่วยทัพหลวง ทัพหน้า รักษาเชียงใหม่ แถวๆป่าซาง เมื่อสิ้นสุดเหตุการณ์ แยกย้ายครอบครัวไปตั้งบ้าน เรือนหลายที่ ซึ่ง หนองเงือก ต.แม่แรงก็เป็นหนึ่งในนั้น
ถิ่นยอง หนองเงือก มีความโดดเด่นด้านงานหัตถกรรม ผ้าทอพื้นเมือง ซึ่งมีลวดลาย เอกลักษณ์เฉพาะถิ่นและภูมิปัญญาที่สืบสานงานศิลป์ต่อเนื่องมาหลายรุ่น ทำให้ช่วงเมื่อ 20-30 ปี ถิ่นฐานชาวยองเป็นแหล่งรังสรรค์ แพรพรรณผ้าชั้นดี มีลูกๆหลานๆช่วยกันผลิตกลายเป็น หัตถกรรมครัวเรือน สร้างมูลค่ามหาศาล คำสั่งซื้อผ้าเพื่อนำไปตกแต่ง ผลิตชิ้นงานจากญี่ปุ่นและอีกหลายประเทศ สร้างกระบวนการ แห่ผลิต จนมูลค่าที่เคยสร้างกำไร ความไว้วางใจระหว่างผู้ผลิต ผู้ซื้อ ยึดมั่นสัญญาใจ ท้ายที่สุดเมื่อกิจการได้ผลตอบแทนไม่คุ้มค่า ปัญหาเช๊คเด้งการไม่ชำระค่าสินค้า เกิดเป็นแผลใจในชุมชนจนถึงวันนี้
ระยะต่อๆมา บรรดาคนหนุ่ม สาว จากบ้านไปหางานทำในเมืองใหญ่ และเขตนิคมอุตสาหกรรม ฯปล่อยให้คนแก่ คนเฒ่า ง่วนอยู่กับอาชีพทอผ้าแบบเดิมๆ ที่ไม่มีหลักประกันความมั่นคงทางรายได้ เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาหลายภาคส่วน เล็งเห็นศักยภาพชุมชน ได้พยายามพัฒนา เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวนำร่องบ้านดอนหลวง และบ้านหนองเงือก มีการจัดกิจกรรม งานเทศกาล ผ้าฝ้ายงามหนองเงือก, ผ้าดอนหลวง จนติดกระแสแหล่งทัวร์ในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวต่างจังหวัดทั้งปีใหม่เมือง ปีใหม่ไทย
ส่วนความฝันที่จะเนรมิตหมู่บ้านชาวยอง ให้คล้ายคลึงในแบบหมู่บ้านกันหลั่นป้า ซึ่งเป็นหมู่บ้านไทลื้อ ไทยอง สิบสองปันนา มีอุปสรรคด้วยงบประมาณที่ค่อนข้างสูง และการผูกติดกับเงื่อนไข บางกลุ่มเสนอร่วมลงทุนที่ ประชาคมหมู่บ้านส่วนมากไม่ยินยอมพร้อมใจเป็น”ทาสธุรกิจ”ประกอบกับ แผนพัฒนาชุมชนในแต่ละปี มีส่วนพลิกโฉมท้องถิ่นจากชนบท เป็นเมืองกึ่งชนบท รูปแบบ วิถีชีวิตดั้งเดิม ค่อยๆถูกลบเลือนหายไปตามกระแส วัฒนธรรมใหม่ๆ
“หนองเงือก” ถิ่นชาวยองก็เช่นกัน แม้จะเป็นหมุดหมายปลายทางที่ 3 ผู้นำประเทศ เคยเยือนถึงถิ่น พร้อมประกาศเจตนารมณ์ เพื่อดำรง รักษา ของดีที่มีอยู่ในชุมชน ให้เป็น ทางเลือกหนึ่งในเมืองรอง ที่ต้องเลือกมาท่องเที่ยวในลำดับต้นๆของคนเดินทางห้วงเวลา 10-20-30 ปีที่ผ่านมา วิถีผู้คนกลุ่มคนหนุ่มสาวยังคงละทิ้งถิ่นฐาน ไปหางานทำในเมืองใหญ่ ในขณะที่คนรุ่นเก่าๆพยายาม ปลุกปั้นรูปรอยอดีตที่ยิ่งใหญ่ ให้เป็นจุดสนใจ เพื่อสร้างมูลค่าทางการตลาดทั้งงานหัตถศิลป์ ผ้าทอ ของดีที่มีอยู่และกระแส เมืองรอง ที่ไม่เป็นรองใคร ไปหนองเงือก นครลำพูน เมืองบุญหลวงแห่งล้านนา หนาวนี้มาเที่ยวที่นี่บ้าง ไม่เช่นนั้นชาวบ้านหนาวแน่เพราะลงทุนผุดที่พัก โฮมสเตย์ รีสอร์ท ตุนสินค้าโอท๊อป ของดีชุมชนรอต้อนรับ แขกแก้วมาเยือนกันเพียบ!!

ร่วมแสดงความคิดเห็น