เจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ที่วัดสวนตาลเมืองน่าน

วัดสวนตาล มีประวัติความเป็นมาที่เก่าแก่สืบสานความสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่มีความเจริญของศิลปวัฒนธรรมตั้งแต่ครั้งอดีต สืบทอดต่อกันมาหลายยุคหลายสมัยควบคู่กับอาณาจักรสุโขทัย และยังมีความเกี่ยวพันกับอาณาจักรล้านนาที่มีศูนย์กลางอยู่ที่เชียงใหม่ จนถึงยุคสมัยการแผ่ขยายอำนาจของพม่าที่มีต่อหัวเมืองล้านนา ซึ่งปรากฏหลักฐานทางโบราณสถานหลายแห่งในเมืองน่าน เช่นที่วัดสวนตาล สะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ทางการปกครองของล้านนาในอดีตนอกจากเจ้าผู้ครองนครน่านจะมีความสัมพันธ์และอำนาจในการกครองแล้ว ยังมีความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมกับเมืองศรีสัชนาลัย (เชลียง) ของอาณาจักรสุโขทัยอีกทางหนึ่งด้วย ดังนั้นรูปแบบของศิลปะเมืองน่านรุ่นเก่า จึงได้รับอิทธิพลด้านศิลปกรรมร่วมสมัยมาจากกรุงสุโขทัย ดังปรากฏหลักฐานทางสถาปัตยกรรมหลายแห่งที่สำคัญในเมืองน่าน เช่น ภาพถ่ายเก่ารูปเจดีย์วัดสวนตาล ก่อนการบูรณะ มีลักษณะเป็นเจดีย์ฐานสี่เหลี่ยม ยอดดอกบัวตูมหรือทรงพุ่มข้าวบิณฑ์อันเป็นศิลปกรรมสมัยสุโขทัยย่างแท้จริง นอกจากนั้นยังพบว่าที่วัดพญาวัด ก็มีสถูปเจดีย์รูปสี่เหลี่ยมซ้อนเป็นชั้น ๆ แบบเดียวกับสถูปเจดีย์เหลี่ยมวัดมหาธาตุสุโขทัยอีกด้วยในปี พ.ศ.1993 สมัยอาณาจักรล้านนา พระเจ้าติโลกราชเจ้าเมืองเชียงใหม่ ได้ยกกองทัพเพื่อรวบรวมหัวเมืองล้านนา รวมทั้งเมืองน่านให้เป็นปึกแผ่น โดยได้โปรดเกล้าฯให้หล่อพระพุทธรูปพระเจ้าทองทิพย์ ประดิษฐานไว้ในวิหารวัดสวนตาลเพื่อแสดงถึงชัยชนะที่พระองค์ทรงยึดเมืองน่านได้ พระเจ้าทองทิพย์เป็นพระพุทธรูปสำริดศิลปะแบบล้านนาที่ว่ากันว่าสวยงามที่สุดองค์หนึ่งในยุคของการแผ่ขยายอำนาจของพม่า เมื่อปี พ.ศ.2101 พระเจ้าบุเรงนอง กษัตริย์พม่าได้ยกกองทัพมาตีหัวเมืองล้านนา ทำให้เมืองเชียงใหม่และเมืองน่านตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า ทางการพม่าที่ปกครองอยู่ในเชียงใหม่ได้แต่งตั้งเจ้าเมืองมาปกครองเมืองน่าน เป็นเวลากว่า 200 ปี ในช่วงเวลานั้นมีการนำช่างฝีมือชาวพม่าเข้ามาสร้างวัดหลายแห่งในเมืองน่าน รวมทั้งวัดสวนตาล (พม่า) หรือ วัดม่าน เป็นศิลปกรรมแบบพม่า ซึ่งปัจจุบันหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ได้เลือนหายไปตามกาลเวลา
นักท่องเที่ยวที่มีโอกาสเดินทางเยือนเมืองน่าน ควรหาเวลาแวะมาเที่ยววัดสวนตาล วัดเก่าแก่ลำดับที่ 4 ของเมืองน่านและแวะนมัสการพระจ้าทองทิพย์ พระพุทธรูปสำคัญประจำเมืองน่าน และยังเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองที่มีอายุเก่าแก่กว่า 500 ปีและในช่วงเทศกาลสงกรานต์จะมีงานประเพณีสรงน้ำพระเจ้าทองทิพย์ มีการแห่บอกไฟไปจุดเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาเป็นประจำทุกปี

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น