“วัดเวียงไชย” วัดโบราณ 500 ปี

นักท่องเที่ยวหลายคนที่เคยเดินทางไปเยือนเมืองฝาง คงชื่นชอบกับแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติมีอยู่หลากหลาย โดยเฉพาะดอยผ้าห่มปกซึ่งมีความสูงเป็นอันดับสองของประเทศ นอกจากนั้นเมืองฝางยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญอีกมากมาย ได้แก่ บ่อน้ำร้อนฝาง สถานีเกษตรหลวงดอยอ่างขาง ถ้ำห้วยบอน และที่ขึ้นชื่อที่สุดก็คือกว่าครึ่งหนึ่งของพื้นที่อำเภอฝาง เป็นแหล่งเพาะปลูกส้ม ซึ่งในช่วงฤดูหนาวระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคมจะมีนีกท่องเที่ยวนิยมเดินทางมาเยือนเมืองฝางมากที่สุดทว่าเมืองฝางแห่งนี้ยังมีแหล่งท่องเที่ยวทางโบราณคดีที่สำคัญอีกหลายแห่ง เช่นที่วัดท่าตอน เป็นพระอารามหลวงซึ่งตั้งอยู่บนเนินเขา อยู่ชิดติดกับแม่น้ำกก วัดถ้ำตับเต่า มีหอพระไตรปิฏกสร้างอยู่กลางน้ำ นอกจากนั้นยังมีวัดเวียงไชยปราการ วัดโบราณที่มีอายุกว่า 500 ปี มีต้นโพธิ์โอบล้อมองค์พระธาตุ
ในอดีตเมืองฝาง ได้ชื่อว่าเป็นเมืองหน้าด่านของล้านนา ที่เป็นเสมือนกำแพงเผชิญกับศัตรูโดยเฉพาะการรุกรานของพม่าที่เข้ามายึดครองอาณาจักรล้านนา ในตำนานโยนกกล่าวถึงการสร้างเมืองฝางว่า สร้างขึ้นครั้งแรกเมื่อราวปี พ.ศ.1184 โดยเจ้าลาวจังกราช ซึ่งได้เห็นภูมิประเทศเหมาะสมมีแม่น้ำที่สามารถหล่อเลี้ยงเมืองได้อันได้แก่ แม่น้ำฝาง จึงดำริที่จะสร้างเมืองขึ้น มีสัณฐานคล้ายกับฝักไม้ฝาง จึงได้ให้ชื่อว่า “เมืองฝาง”

เมืองฝางดำรงสถานะเป็นเมืองหน้าด่านของล้านนา ต่อมาจนถึงปี พ.ศ.2434 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงโปรดฯให้มีการปรับปรุงการบริหารการปกครองส่วนภูมิภาคขึ้นใหม่ จึงได้ยกเมืองฝางขึ้นเป็นอำเภอ ขึ้นตรงต่อจังหวัดเชียงใหม่ จากนั้นได้ทรงแต่งตั้งให้เจ้าหลวงมหาวงศ์ เป็น พระยามหิวงศาราชบดี เป็นเจ้าเมืองปกครองเมืองฝาง องค์ที่ 1 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระราชทานสัญญาบัตรด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เอง นับได้ว่าเป็นเกียรติประวัติแก่ชาวเมืองฝาง
พระยามหิวงศาราชบดี จึงดำรงตำแหน่งเป็นนายอำเภอเมืองฝางคนแรก โดยมีพระราชวงศ์ (คำตั๋น) เป็นปลัดขวา พระยาราชบุตรแก้ว (มาเมือง) เป็นปลัดซ้าย แล้วขึ้นต่อเมืองเชียงใหม่ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
เมื่อมาเยือนเมืองฝาง ต้องแวะไปชมวัดเวียงไชย ซึ่งเป็นวัดโบราณที่สร้างมาเมื่อราว 500 ปีก่อน แต่ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้นเป็นวัดอีกครั้งเมื่อปี พ.ศ.2483 นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าวัดเวียงไชย เป็นวัดเก่าแก่สร้างขึ้นในสมัยหลังเชียงแสน วัดนี้ตั้งอยู่ในเขต ต.แม่ข่า อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ จากการสอบถามผู้เฒ่าผู้แก่ในท้องถิ่น ทราบว่าวัดนี้สร้างโดยพระเจ้าพรหมมหาราช ซึ่งหลังจากที่พระเจ้าพรหมฯได้ทรงกอบกู้อิสรภาพจากขอมและได้ยึดเมืองเชียงแสนคืนมาได้ แล้วจึงทรงมอบให้พระราชบิดาปกครองเมืองเชียงแสน ส่วนพระองค์ก็ยกไพร่พลเสนาส่วนหนึ่งไปสร้างเมืองใหม่ ทางทิศใต้ลุ่มน้ำกก อยู่ทางทิศตะวันออกของลุ่มน้ำฝาง ตั้งชื่อเมืองแห่งใหม่นี้ว่า “เมืองไชยปราการราชธานี”

หลังจากนั้นพระองค์จึงทรงสร้างวัดขึ้นชื่อวัดเวียงไชยปราการ แต่ชาวบ้านนิยมเรียกว่า “วัดเวียงไชย” ต่อมาชาวบ้านจากที่ต่าง ๆ จึงอพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในบริเวณนี้เพิ่มมากขึ้น จนถึงปี พ.ศ.2516 ศรัทธาบ้านป่ารวก ต.ปงตำ อ.ไชยปราการ จ.เชียงใหม่ ได้เข้ามาตั้งหลักปักฐานอาศัย และได้ช่วยกันบูรณะวัดเวียงไชยขึ้นมา โดยการนำของพ่อตุ่น ศรีสุรินทร์ และนายแก้ว คำวงค์ษา หลังจากจึงมีพระสงฆ์เข้ามาจำพรรษาตามลำดับความเก่าแก่ของวัดเวียงไชย อยู่ที่มีต้นโพธิ์ อายุกว่า 500 ปี โอบล้อมองค์พระธาตุ เหลือแต่เพียงเฉพาะซากกองอิฐ ขณะที่ใกล้ ๆ กับองค์พระเจดีย์ มีหอไตรอายุหลายร้อยปี ถูกรากต้นลำไยชอนไช จนไม่เหลือเค้าเดิม
วัดเวียงไชย จึงเป็นวัดสำคัญเก่าแก่อีกวัดหนึ่งของอำเภอฝาง ที่นักท่องเที่ยวมาเยือนแล้วจะไม่ผิดหวัง
การเดินทางไปอำเภอฝาง ใช้เส้นทางสาย 107 เริ่มต้นจากอำเภอแม่ริม ไปอำเภอแม่แตงระยะทาง 25 กม. จากอำเภอแม่แตงถึงอำเภอเชียงดาว ระยะทาง 20 กว่า กม.จากเชียงดาวไปถึงฝางระยะทางประมาณ 70 กิโลเมตรถนนในช่วงนี้เป็นภูเขาสูง ทางจะวกวนอยู่ในเทือกเขา เส้นทางจากเชียง
ดาวไปอำเภอฝางบางช่วงจะลัดเลาะไปตามลำน้ำปิง วัดเวียงไชย ตั้งอยู่ในตำบลแม่ข่า ห่างจากที่ว่าการอำเภอไชยปราการ ประมาณ 4 กม. และห่างจากที่ว่าการอำเภอฝาง ประมาณ 25 กม.

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น