“เที่ยวเมืองเชียงรุ่ง” สิบสองปันนา

“สิบสองปันนา” หรือ “เชียงรุ่ง” เป็นเขตปกครองตนเองของชนชาติไต แห่งมณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน แบ่งการปกครองออกเป็น 3 เมืองใหญ่ อันได้แก่ เมืองเชียงรุ้ง หรือ จิ่งหงในภาษาจีน เมืองฮายและเมืองหล้า และด้วยเป็นเมืองในโอบล้อมของเขา ที่มีอุณหภูมิเฉลี่ยตลอดทั้งปีประมาณ 20 อาศาเซลเซียส จึงทำให้สิบสองปันนามีอากาศที่เย็นสบาย
ความสำคัญของสิบสองปันนา ไม่ได้อยู่ที่เป็นเมืองขึ้นชื่อในเรื่องการท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว ทว่าในอดีตจนถึงปัจจุบันเมืองแห่งนี้ยังเป็นถิ่นที่อยู่ดั้งเดิมของชาว “ไต” และหากและกล่าวว่าชาวไตในสิบสองปันนาเป็นบรรพบุรุษแห่งรากเหง้าเผ่าพันธุ์ของ “คนไทย” ในปัจจุบันก็คงไม่ผิดนัก ขณะเดียวกันในสิบสองปันนายังมีพื้นที่ราบอันกว้างใหญ่ที่มีการทำเกษตรกรรมมานับพันปี
จากประวัติศาสตร์ของจีนที่เกี่ยวข้องกับเมืองสิบสองปันนา หรือที่สมัยนั้นเรียกว่า “เซอหลี่” ได้บันทึกไว้ตอนหนึ่งว่า สิบสองปันนาเป็นดินแดนที่มีความเจริญทางด้านเกษตรกรรมมากที่สุด พวกเขารู้จักใช้แรงงงานช้างในการไถและพรวนดิน มีระบบการชลประทานที่พร้อมบริบูรณ์เพื่อเพิ่มพูนผลผลิตข้าว จึงไม่แปลกใจที่ไปสิบสองปันนาแล้วมองลงมาจากเครื่องบินจะเห็นที่ราบทุ่งนาเขียวขจี พื้นที่เกษตรกรรมที่ว่ากันว่าข้าวจากที่นี่ใช้เลี้ยงผู้คนกว่าครึ่งในมณฑลยูนนาน
สิบสองปันนาในวันนี้มีฐานะเป็นจังหวัดหนึ่งทางตอนใต้ของมณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีนมีความสำคัญในด้านภูมิศาสตร์ เศรษฐกิจและการท่องเที่ยว อีกทั้งยังอยู่ใกล้กับเชียงใหม่มีความพร้อมในด้านการท่องเที่ยวและการลงทุนสูงมาก และจากนโยบายของรัฐที่สนับสนุนให้จังหวัดเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางการขนส่งทางอากาศภาคเหนือ และเพื่อเป็นการเชื่อมโยงเศรษฐกิจ ในกลุ่มประเทศอนุภาคลุ่มน้ำโขง จึงทำให้สิบสองปันนามีความสำคัญทั้งทางเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวและคมนาคมของประเทศในพื้นที่สี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ
เชียงรุ่ง หรือ เชียงรุ้ง หรือ จิ่งหง ในภาษาจีน คนไทลื้อจะเรียก “เจงฮุ่ง” เป็นเมืองเอกของสิบสองปันนา มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่ยาวนาน คำว่า “เชียงรุ่ง” หมายถึงนครแห่งรุ่งอรุณ ซึ่งตั้งขึ้นตามความหมายขณะที่บรรพบุรุษของชาวไตในสิบสองปันนาชื่อ “พญาอาลาโว” ซึ่งเป็นหัวหน้าได้นำลูกบ้าน 15 คน ไล่ตามกวางทองจนมาถึงดินแดนแห่งนี้แล้วพบเห็นทำเลที่สวยงามจึงตัดสินใจตั้งหลักแหล่งขึ้น โดยได้แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 15 หมู่บ้าน เรียกว่า “อาลาวี” ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “เชียงรุ่ง” ซึ่งพญาอาลาโวได้ไล่ตามกวางทองมาถึงดินแดนแห่งนี้เป็นเวลารุ่งเช้าพอดี บ้างก็ว่าเมื่อครั้งอดีตพระเจ้ากะสะปะเสด็จมาเมืองเชียงรุ้งนั้นเป็นเวลารุ่งนั้นเป็นเวลาท้องฟ้ารุ่งสว่าง จึงตั้งชื่อเมืองเชียงรุ่ง หรือ เจงฮุ่ง ตามสำเนียงของภาษาชาวไตในสิบสองปันนา
หลังจากมีการจัดการปกครอง “เมืองลื้อ” ขึ้นเป็นรูปเป็นร่างแล้ว ชาวไตลื้อที่อาศัยอยู่ในเมืองนี้ได้ทำการติดต่อกับราชวงศ์ถังของจีน แต่เนื่องจากการติดต่อกับชนชาวฮั่นมีความไม่สะดวกเพราะอยู่ห่างไกลกันมาก ประกอบพูดภาษากันไม่รู้เรื่อง ชาวไตในเมืองลื้อจึงหันมาติดต่อกับทางหนานเจา (เมืองน่านเจ้า) และ ต้าหลี่ (เมืองตาลีฟู) เพราะอยู่ใกล้และพูดคุยกันรู้เรื่อง
เมื่อถึงสมัยพญาเจิง หรือ ขุนเจือง ชาวไตแห่งเมืองลื้อ ประกาศไม่ขึ้นต่ออาณาจักรต้าหลี่และราชวงศ์ซ่งไต้ของจีน ตลอดจนพม่าซึ่งก่อนหน้านั้นเข้ามามีอิทธิพลทางการค้าเหนือเมืองลื้อ พญาเจิงได้ยกทัพไปตีเมืองต่าง ๆ ในเขตใกล้เคียงมาไว้ในอำนาจ รวมถึงล้านนา ลาว เชียงตุง สมัยนี้เองที่ได้มีการจัดตั้งเป็นอาณาจักรสิบสองปันนาขึ้น พญาเจิงได้สถาปนาตนเองขึ้นเป็นเจ้าเมืองหอคำเชียงรุ้งองค์แรก (พ.ศ.1703 – 1724) มีกษัตริย์ปกครองถึง 44 พระองค์ จนถึงกษัตริย์สมัยของเจ้าหม่อมคำลือ กษัตริย์องค์สุดท้ายที่ปกครองสิบสองปันนา โดยพระองค์สร้างพระราชวังเวียงผาครางขึ้นบนเนินเขาบริเวณริมฝั่งแม่น้ำลานช้าง ปัจจุบันพระราชวังถูกทุบทำลายทิ้งกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวภูเขาลิง รวมระยะเวลาที่สิบสองปันนาปกครองในระบอบกษัตริย์ยาวนานถึงกว่า 800 ปี
แต่ภายหลังที่กองทัพปลดแอกประชาชนจีน ได้เคลื่อนเข้าไปในสิบสองปันนาเมื่อปี พ.ศ.2496 แล้วยกฐานะเป็นเขตปกครองตนเองชนชาติไตสิบสองปันนา แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเชียงรุ้ง อำเภอเมืองฮายและอำเภอเมืองล้า มีที่ว่าการเขตปกครองอยู่ที่เมืองเชียงรุ้ง สังกัดมณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน มีชื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า “Xishaungbanna Dai Autonomous Prefecture” ยุติระบอบกษัตริย์แห่งอาณาจักรสิบสองปันนา เจ้าหม่อมคำลือ เชื้อพระวงศ์องค์สุดท้ายถูกลดฐานะเป็นแค่ประธานกรรมการประสานงานเขตปกครองตนเอง มีชื่อในภาษาจีนว่า “ตาวซื่อซิน”
ในสิบสองปันนามีประชากรทั้งหมดกว่า 7 แสนคน มีชนชาติ “ไต” หรือ “ไท” อาศัยอยู่ประมาณ 2 แสนคน ที่เหลือเป็นคนจีน ส่วนใหญ่ร้อยละ 90 นับถือศาสนาพุทธ ความโดดเด่นของชาวไตลื้อในสิบสองปันนาคือ การสร้างบ้านเรือนด้วยไม้ไผ่ยกเสาสูง ภายในบ้านจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือส่วนที่ใช้เป็นห้องนอนและส่วนที่ใช้รับแขก รอบ ๆ บ้านนิยมปลูกต้นผลหมากรากไม้เอาไว้
จะว่าไปเมืองเชียงรุ้ง นับว่ามีความเจริญเป็นอย่างมาก อาคารพานิชน้อยใหญ่ผุดขึ้นหลายแห่ง บริเวณในเมืองเป็นที่อยู่ของชาวจีนที่เข้ามาค้าขายสินค้า ถนนในเมืองมีเพียงรถยนต์ไม่กี่คันส่วนใหญ่ชาวจีนนิยมใช้รถจักรยานและมอเตอร์ไซด์ ริมทางเท้าจะเห็นหญิงสาวในชุดไตลื้อ นุ่งผ้าถุงยาวสวมเสื้อแขนกระบอก เดินสวนกับสาวชาวจีนในชุดกระโปร่งสั้น สวมถุงน่องและรองเท้าส้นสูง การผสมผสานระหว่าง “ความใหม่” กับ “ความเก่า” นับเป็นเสน่ห์ของเมืองเชียงรุ้งที่ดำรงอยู่ได้อย่างกลมกลืน
ขณะที่หมู่บ้านต่าง ๆ รอบเมืองจะเป็นหมู่บ้านของชาวไตลื้อ ซึ่งมีวิถีชีวิตและบรรยากาศคล้ายคลึงกับชนบทในบ้านเรา การแต่งกายของชาวไตลื้อ ผู้ชายส่วนใหญ่จะใส่เสื้อผ่าอก แขนสั้นเอวลอย นุ่งกางเกงขายาวใช้ผ้าสีขาวหรือสีน้ำเงินพันรอบศรีษะ ส่วนหญิงชาวไตลื้อจะนิยมใส่เสื้อผ้าสีฉูดฉาด เช่น ขาว แดง น้ำเงิน เหลือง แบบรัดตัวแขนทรงกระบอก นุ่งซิ่นครอมส้น คาดเข็มขัดเงิน
การแวะเวียนไปเยี่ยมพี่น้องที่บ้านเมืองฮัม หรือ กาลัมป้า หมู่บ้านชาวไทลื้อที่อยู่ชานเมืองเชียงรุ้งออกไปประมาณ 30 ก.ม. ทำให้เราได้พบพี่ชายพี่สาวชาวไทลื้อหลายคน ที่ออกปากเชื้อเชิญให้ไปเที่ยวบ้าน เมื่อรู้ว่าเราเป็นคนไทยมาจากประเทศไทย น้ำใจไมตรีเช่นนี้แม้จะหาแทบไม่ได้ในสังคมเมืองกรุง แต่ยังพบได้ในสังคม “ไท” แท้ที่สงบงามอย่างสิบสองปันนา
เหนือสิ่งอื่นใด คือน้ำใจใสบริสุทธิ์และวิถีชีวิตอันเรียบง่ายของพี่น้องไทลื้อแห่งสิบสองปันนา ที่ยากจะหาแหล่งท่องเที่ยวอันเลิศหรูใด ๆ มาเทียบเคียงเมื่อนักท่องเที่ยวมาเยือนเชียงรุ้งจะนิยมเดินทางมาเที่ยวที่หมู่บ้านแห่งนี้เป็นจำนวนมากเพื่อชมวิถีชีวิตของชาวไทลื้อ ขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวไทลื้อในสิบสองปันนามีหลายอย่างที่คล้ายกับไทย ประเพณีที่สำคัญคือเทศกาลขึ้นปีใหม่ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 13 – 15 เมษายน และมีการเล่นสาดน้ำและพิธีรดน้ำดำหัวเหมือนกับเชียงใหม่ไม่มีผิดเพี้ยน ทว่าชาวไตลื้อสิบสองปันนาจะนิยมเล่นสาดน้ำกันเพียงแค่วันเดียวเท่านั้นคือเฉพาะวันที่ 15 เมษายน ส่วนในวันที่ 13 – 14 ชาวไตลื้อจะออกไปทำบุญตักบาตรและทำความสะอาดบ้านเรือน
การดำรงอยู่ของกลุ่มชนชาว “ไท” ในท่ามกลางกระแสวัฒนธรรมของชนชาวจีนในเมืองสิบสองปันนาที่ผสมผสานปนเปกับวัฒนธรรมแบบดั้งเดิม จะคงเหลืออยู่ต่อไปอีกนานแค่ไหน ในเมื่อสิบสองปันนาเคยเป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ของชาวไตลื้อ แต่วันนี้พวกเขาเป็นเพียงชนชาติส่วนน้อยในจีนและบ้างก็เป็นผู้พลัดถิ่นในดินแดนไทยและพม่า การเดินทางสัญจรไปยังดินแดนสิบสองปันนา จึงเป็นการเดินทางย้อนทวนกาลเวลาเข้าไปค้นหาต้นรากของเผ่าพันธุ์ “ไท” ที่เหลืออยู่
บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น